วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

การพูดต่อหน้าที่ชุมชน

การพูดต่อหน้าที่ชุมชน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
ถ้าท่านไม่สามารถลุกขึ้นพูดต่อหน้าที่ชุมชนได้ท่านไม่ควรปรารถนาเป็นผู้นำ เป็นคำพูดของหลวงวิจิตรวาทการ
                เคยมีคนถามผมว่า ความหมายของการพูดในที่ชุมชนจริงๆ ตามหลักวิชาการคืออะไร การพูดในที่ชุมชน คือ การพูดในที่สาธารณะชน โดยมีคนฟังหรือฝูงชนจำนวนมาก ผู้พูดต้องมีการสังเกตปฏิกิริยาของผู้ฟัง อีกทั้งการพูดในที่ชุมชน ผู้พูดจะต้องแสดงวัจนภาษาและอวัจนภาษา เช่น ภาษาพูด ภาษาร่างกาย การแสดงท่าทางประกอบ การเคลื่อนไหวต่างๆ  ต่อหน้าผู้ฟังเป็นจำนวนมาก
                ดังนั้นการพูดในที่สาธารณะชนเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พูดได้แสดงความสามารถเฉพาะตัวบุคคล เพราะโดยปกติคนทุกคนที่ไม่เป็นใบ้ย่อมพูดได้ แต่บางคนเท่านั้นที่พูดเป็น ซึ่งการพูดเป็นนั้นต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ ไม่จำเป็นต้องอาศัยพรสวรรค์เสมอไปแต่เราสามารถมีพรแสวงได้ด้วยการฝึกฝนการพูดสม่ำเสมอเมื่อมีโอกาส  เราต้องหาเวทีในการพูดต่อหน้าที่ชุมชนเมื่อมีโอกาส
                การพูดต่อหน้าที่ชุมชนก็เหมือนกับการว่ายน้ำ หรือ กิจกรรมอื่นๆ อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขับรถ  การเล่นกีฬาต่างๆ คือ ยิ่งเราทำมันมากเท่าไรเราก็ยิ่งชำนาญมากขึ้นเท่านั้น  และเราก็ยิ่งสนุกที่ได้ทำมันด้วย 
               เช่น ถ้าเราอยากว่ายน้ำเป็นเราต้องลงไปว่ายน้ำ เราจะมามัวอ่านหนังสือ ตำรา ว่ายน้ำเป็นร้อยเล่ม พันเล่ม หมื่นเล่ม เราก็ไม่สามารถว่ายน้ำเป็น ดังนั้น จงโยนหนังสือ ตำรา ว่ายน้ำทิ้ง แล้ว ลงไปว่ายน้ำจริงๆแล้วเราจะว่ายน้ำเป็นในที่สุด เช่นกัน การพูดก็เหมือนกัน ถึงแม้เราจะอ่านหนังสือ ตำรา การพูดต่อหน้าที่ชุมชนเป็น ร้อยเล่ม พันเล่ม หมื่นเล่ม เราก็ไม่สามารถพูดต่อหน้าที่ชุมชนเป็น ดังนั้น จงโยน หนังสือ ตำรา การพูดต่อหน้าที่ชุมชน ทิ้ง แล้ว ขึ้นเวที หาเวทีการพูดให้มากที่สุด แล้วในที่สุดท่านจะเป็นสุดยอดนักพูด ที่สำคัญ ต้องอดทน ถึงแม้การพูดบางครั้งอาจล้มเหลว แต่ถ้าเรามีฝันว่าอยากเป็นนักพูด เราต้องอดทนรอได้ และไม่ควรดูถูกเวทีเล็ก บางคนอยากพูดเวทีใหญ่เลย ผมว่าคงยาก เพราะนักพูดที่สามารถพูดเวทีใหญ่ๆได้ นักพูดผู้นั้นต้องผ่านเวทีเล็กๆ มาก่อนทั้งนั้น
                เช่น กัน นักพูดที่มีค่าตอบแทนสูง ย่อมเคยผ่านการบรรยายในลักษณะ ค่าตอบแทนต่ำมาก่อน บางคนถึงขนาดบรรยายให้ฟรีๆ โดยไม่มีค่าตอบแทนเลยก็มี
                และ สิ่งที่สำคัญ คือ นักพูดที่ดีต้อง มีการเตรียมการพูด เช่น มีการร่างเรื่องที่จะพูดเป็นโครงเรื่อง ว่าจะขึ้นต้นอย่างไร(โดยปกติจะมี 5-10 %) โดยข้อที่ควรหลีกเลี่ยงในการขึ้นต้น ไม่ควรออกตัว,ไม่ควรถ่อมตนและไม่ควรอ้อมค้อม แต่ควรขึ้นต้นให้มีความตื่นเต้น เช่น การพาดหัวข่าว (Headline) ,  ขึ้นต้นด้วยคำถาม (Asking Question), ขึ้นต้นด้วยการอ้างบทกวี หรือวาทะของผู้มีชื่อเสียง (Quousing) ฯลฯ
               
เนื้อเรื่องควรมีอะไรบ้าง(80-90 %)  ควรจะต้องสอดคล้องกับคำนำหรือคำขึ้นต้น และสอดคล้องกับการสรุปจบ
                ส่วนสรุปควรจะสรุปจบอย่างไร(5-10 %) หลักในการสรุปจบมีอยู่ว่า มีความหมายชัดเจน มี ความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง และหัวข้อเรื่อง กะทัดรัด โดยอาจสรุปจบแบบสรุปความ,แบบฝากให้ไปคิด,แบบเปิดเผยตอนสำคัญ และอาจจบด้วยคำคม คำพังเพย สุภาษิต
          คนจะงามงามน้ำใจใช่ใบหน้า                    คำโบราณกล่าวมาน่าเชื่อถือ
ความรู้ดีทำงานดีมีฝีมือ                             แต่ซื่อบื้อเรื่องพูดจาหมดท่าเลย
รูปไม่สวยวาจาเด่นเห็นประจักษ์             ความมีเสน์ห์น่ารักก็เปิดเผย
มีคนรักคนนิยมคนชมเชย                         อย่าละเลยจงพูดจาให้น่าฟัง
                                                                                (อ.โอษฐ  วารีรักษ์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น