วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

คำคม คำพูด ข้อคิดนักพูด


คำคม คำพูด ข้อคิดนักพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
                คำคม คำพูด ข้อคิดของบรรดานักพูด มีความสำคัญมากต่อบรรดาผู้ที่ต้องการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการพูดต่อหน้าที่ชุมชน เพราะ คำคม คำพูด ข้อคิด มักเป็นคำสั้นๆ เข้าใจง่าย แต่กินใจความสำคัญ กระผมจึงขออนุญาตนำ คำคม คำพูด ข้อคิดของบรรดานักพูด มาเขียนและขยายความให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น
                “ถ้าท่านลุกขึ้นยืนพูดต่อหน้าที่ฝูงชนไม่ได้ อย่าปรารถนาเป็นผู้นำ” เป็นคำพูดของ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งมีความเป็นจริงอยู่มากทีเดียว เนื่องจาก ผู้นำในระดับประเทศหรือระดับโลก มักจะต้องเป็นนักพูด อีกทั้งยังต้องทำงานโดยใช้คำพูดมากกว่าการใช้แรงกาย คนที่ต้องการเป็นผู้นำจึงต้องมีการฝึกฝนการพูด เพราะถ้าหากท่านมีความคิดที่ดีๆ อีกทั้งยังต้องมีการนำเสนอความคิดนั้น แต่ท่านไม่สามารถลุกขึ้นพูดแสดงความคิดเห็นให้ผู้คนเข้าใจต่อหน้าที่ฝูงชนได้ ผู้คนก็คงไม่เคารพนับถือท่าน และคงไม่เลือกท่านให้เป็นผู้นำของเขา
                “ทุกคนพูดได้ แต่มีบางคนเท่านั้นที่พูดเป็น” เป็นคำพูดของ อาจารย์ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ คนเราเกิดมาทุกคน หากไม่เป็นใบ้ ก็สามารถพูดจาภาษาต่างๆได้ แต่คนทุกคนไม่สามารถ พูดแล้วทำให้คนอื่นชื่นชอบ พูดแล้วคนเชื่อ พูดแล้วคนเข้าใจ พูดแล้วได้รับประโยชน์จากการพูดของตนเองได้ทุกคน แต่มีบางคนเท่านั้นที่สามารถทำได้ ดังนั้น หากท่านต้องการพูดเป็นท่านจึงต้องมีเรียนรู้ พัฒนาทักษะการพูดของท่านอยู่เสมอ
                “ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา” เป็นข้อคิดในบทกลอนของสุนทรภู่ในเรื่อง นิราศภูเขาทอง จากบทกลอนดังกล่าวทำให้เราทราบว่า คำพูดของคนเราสามารถพูดไปแล้วทำให้คนรักคนชอบก็ได้ ทำให้คนเกลียดกันก็ได้ บางคนถึงขั้นต้องเสียชีวิตด้วยก็เพราะเหตุคำพูดของตนเอง นี่คืออนุภาพของการพูดของคนเรา
                “คนพูดดี คือ คนที่รู้จัก 1.พูดความจริง 2.พูดมีสาระ3.พูดถูกกาลเทศะ”เป็นคนสอนของพระพุทธเจ้า เราจะเห็นได้ว่าคนที่พูดแล้วคนชอบ คนรัก คนศรัทธา มักเป็นคนที่มีลักษณะของการพูดความจริง พูดในสิ่งที่มีประโยชน์ และพูดได้ถูกสถานการณ์  หากท่านสามารถพูดเช่นนี้ได้ ท่านก็จะได้รับการยอมรับว่าเป็นคนพูดดี
                “ก่อนพูดเราเป็นนายของคำพูด แต่หลังพูดคำพูดเป็นนายเรา” เป็นคำพูดของอดีตนายกรัฐมนตรีของท่าน พลเอกชายชาติ ชุณหะวัณ คำพูดของคนเราก่อนจะพูดออกไปเราสามารถบังคับควบคุมมันได้ว่าจะพูดหรือไม่พูด แต่พอพูดออกไปแล้ว  คำพูดนั้นจะผูกมัดเรา โดยเฉพาะคำพูดของผู้นำประเทศ ถ้าหากว่าได้สัญญากับประชาชนในเรื่องอะไร ก็ย่อมต้องทำตามสิ่งที่ตนเองได้พูดไว้ มิเช่นนั้น ประชาชนก็จะไม่มีความเชื่อถือ ความเคารพ ศรัทธา ตัวผู้นำคนนั้นได้
                “ลิ้นเพียง 2 นิ้ว ขงเบ้งสามารถยกเมืองให้แก่เล่าปี่ได้” เป็นแง่คิด คำพูดในหนังสือ สามก๊ก ของชาวจีน ในเนื้อเรื่องเราจะเห็นความสามารถของขงเบ้งในเชิงการพูด เนื่องจากขงเบ้งสามารถพูดยั่วยุ พูดให้กำลังใจคน พูดโดยใช้ชั้นเชิงทางการทูต เพื่อเจรจาต่อรองหรือใช้ความสามารถทางการพูดยกเมืองให้กับเจ้านายคือเล่าปี่ได้ โดยไม่ต้องออกรบให้เสียกำลังพล นี่คืออนุภาพของการพูด
                ทั้งหมดข้างต้นนี้ เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของคำพูด คำคม ข้อคิดของบรรดานักพูด ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนว่า คำพูดของคนเรามีความสำคัญ คำพูดสามารถนำพาให้เราเป็นผู้นำได้ คำพูดสามารถทำให้คนชื่นชอบได้และคำพูดสามารถสร้างความศรัทธาได้ แต่ในทางกลับกัน คำพูดสามารถทำให้คนเกลียดได้ คำพูดสามารถทำให้คนเสียชีวิตได้และคำพูดสามารถทำลายเราให้เกิดความล่มจมและเกิดความเสื่อมได้เช่นกัน

วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Actions Speak Lound Than Words (ท่าทางนั้นดังกว่าคำพูด)

Actions Speak Lound Than Words
(ท่าทางนั้นดังกว่าคำพูด)
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
                ท่าทางหรือบุคลิกภาพ มีความสำคัญในการพูด บุคลิกภาพ หมายถึง สภาพนิสัยจำเพาะคน ซึ่งอาจรวมถึง รูปร่าง หน้าตา การแสดงออก ท่าทาง การนั่ง การยืน การเดิน เสื้อผ้า ทรงผม กริยาอาการ ตลอดจนเครื่องประทับต่างๆ ฯลฯ
                นักพูด วิทยากร นักบรรยาย จึงควรเอาใจใส่ในเรื่องบุคลิกภาพ โดยต้องมีการปรับปรุง พัฒนาบุคลิกภาพดังนี้
                1.อาจารย์ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ เคยกล่าวไว้ว่า วิธีการสร้างบุคลิกภาพที่ดีในการพูด ควรงดแสดงอาการ 1.ล้วง 2.แคะ 3.แกะ 4.เกา 5.หาว 6.ยัก 7.โยก 8.ถอน 9.ค้อนและ 10.กะพริบ
                2.ควรเดินขึ้นเวทีการพูดและพูด อย่างกระตือรือร้น เบิกบานแจ่มใสและกระฉับกระเฉง การที่ผู้พูดพูดด้วยความกระตือรือร้น กระฉับกระเฉง ผู้ฟังก็จะมีความรู้สึกตามที่ผู้พูดพูด แต่เมื่อการพูดครั้งใดที่ผู้พูด เดินขึ้นเวทีพูดและพูดด้วยความเฉื่อยชา เศร้าสร้อย ผู้ฟังก็จะรับรู้ถึงอารมณ์ดังกล่าวของผู้พูด อีกทั้งทำให้บุคลิกภาพของผู้พูดไม่เป็นที่ประทับใจอีกด้วย
                3.ควรพัฒนาการใช้สายตา เมื่อต้องพูดต่อหน้าที่ชุมชน การใช้สายตาต้องมองไปให้ทั่วถึง วิธีการใช้สายตาที่ดี ต้องค่อยๆ กวาดสายตาไปยังผู้พูด ไม่ควรมองเพดาน ไม่ควรมองพื้น หรือมองไปยังที่ผู้ฟังคนใดคนหนึ่งมากเป็นพิเศษ ควรสบตาผู้ฟังและแสดงออกซึ่งความจริงใจในการพูด
                4.การแสดงออกทางใบหน้า ควรยิ้มแย้มแจ่มใสเวลาพูด การยิ้มจะทำให้บรรยากาศในการพูดไม่ตึงเครียดจนเกินไป การใช้สีหน้าในการพูดก็ควรให้เหมาะสมกับเรื่องที่พูด เช่นพูดเรื่องเศร้า ก็ไม่ควรยิ้มหรือหัวเราะ แต่ควรทำหน้าเศร้า ทำน้ำเสียงเศร้า ไปตามเนื้อเรื่องที่พูด
                5.การแต่งกายต้องให้เหมาะสมกับตัวเอง ต้องแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ ยึดหลักสะอาด เหมาะสมกับวัย เหมาะสมกับสถานที่ที่จะไปพูด การแต่งกายที่ดีควรแต่งกายเสมอผู้ฟังหรือสูงกว่าพูดฟังสักเล็กน้อย แต่ไม่ควรแต่งกายต่ำกว่าผู้ฟัง เช่น ผู้ฟังใส่สูทแต่เราเป็นผู้พูดดันใส่เสื้อยืด รองเท้าแตะ อย่างนี้ก็ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง
                6.การใช้ไมโครโฟน  ควรให้ปากห่างไมโครโฟนประมาณ 1 ฝ่ามือ เพราะถ้าปากใกล้ไมโครโฟนมากเกินไปก็จะทำให้เกิดเสียงดัง แต่ถ้าปากห่างไมโครโฟนมากไปก็จะทำให้เสียงที่พูดเบา ก็จะทำให้ผู้ฟังไม่ค่อยจะได้ยิน แต่ทั้งนี้ก็คงต้องขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลอีกเช่นกันเพราะบางคนอาจเป็นคนพูดเสียงดัง บางคนอาจจะเป็นคนพูดเสียงเบา ผู้พูดจึงต้องรู้จักประมาณระยะห่างระหว่างปากกับไมโครโฟนด้วย
                7.ฝึกการใช้ภาษากาย  ภาษากายเป็นการสื่อสารของมนุษย์โดยผ่านความเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น การพยักหน้าทันทีที่มีความเห็นด้วย หรือ ส่ายหน้าทันทีที่เห็นขัดแย้ง ฯลฯ อีกทั้งต้องระวังการใช้ภาษากายที่เป็นไปในลักษณะลบ เช่น การไม่กล้าสบตาผู้ฟัง การแสดงออกซึ่งความกระวนกระวายใจ การดูนาฬิกาบ่อย ฯลฯ
                ดังนั้น Actions Speak Lound Than Words หรือ ท่าทางนั้นดังกว่าคำพูด มีความเป็นจริงมากที่เดียว ดังจะเห็นได้จากนักพูดบางท่าน ที่พูดเก่ง แต่ใช้ภาษาท่าทางที่แสดงออกด้วยความไม่จริงใจ จึงทำให้ผู้ฟังเกิดความไม่เชื่อถือ ไม่ศรัทธา เช่น ไม่กล้าสบตาผู้ฟัง ชี้นิ้วใส่หน้าผู้ฟัง กัดฟัน ใช้เท้าเตะสิ่งของต่อหน้าผู้ฟัง เป็นต้น
                สรุปก็คือ ท่าทางเป็นภาษาหนึ่งในหมวดของอวัจนภาษา(Non-Verbal Communication) ซึ่งภาษาท่าทางสามารถสื่อไปยังผู้ฟังได้ นักพูด วิทยากร นักบรรยาย ที่ดีจึงควรมีการปรับปรุง พัฒนาภาษาท่าทาง เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความรักความศรัทธาและเข้าไปนั่งในหัวใจของผู้ฟังได้ง่ายขึ้น

   


วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การสร้างวาทะสำหรับนักพูด


การสร้างวาทะสำหรับนักพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
                “การปกครองแบบประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน” เป็นคำพูดของ อับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ
                “ถ้าท่านมีเงินหนึ่งรูปี และฉันมีเงินหนึ่งรูปี แล้วนำเงินนั้นมาแลกกัน ก็จะไม่มีความหมายอะไร แต่ถ้าคุณมีความเห็นหนึ่งความคิดเห็น ฉันมีหนึ่งความคิดเห็นและนำมาแลกกัน เราจะได้ความคิดเห็นเพิ่มเป็นสองความคิดเห็น”
เป็นคำพูดของนางอินทิรา คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของอินเดีย
                “ขออย่าได้ถามว่าประเทศของท่านจะทำอะไรให้ท่านได้บ้าง แต่ขอให้ถามกันเถอะว่า ท่านจะทำอะไรได้บ้างสำหรับประเทศของท่าน” เป็นคำพูดของจอห์ เอฟ เคเนดี้ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ
                คำพูดข้างต้น เป็นคำพูดที่มีความหมายที่กินใจผู้ฟัง เป็นคำพูดที่เป็น “วรรคทอง” ถือว่าเป็นวาทะสำคัญของโลกเลยทีเดียว ถามว่าบุคคลสำคัญเหล่านี้ สามารถสร้างคำพูด “ วรรคทอง ” ได้อย่างไร เขามีวิธีไหนในการสร้างคำพูดเหล่านี้ และถ้าหากเราต้องการสร้างเราจะสร้างได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ท่านสามารถสร้างคำพูด “ วรรคทอง” เหล่านี้ได้โดยการปฏิบัติดังนี้
                1.จดบันทึกหรือจดจำคำพูดดีๆ อับราฮัม ลินคอล์น เคยกล่าวถึงการได้มาซึ่ง “วรรคทอง” ว่าเขาได้วาทะ เหล่านี้จากการที่เขาจดบันทึกในเศษกระดาษ หากมีโอกาสเมื่อใด เขาจะหยิบข้อความต่างๆ ขึ้นมาอ่าน ฉะนั้นท่านควรมีสมุดบันทึกเพื่อจดคำพูดดีๆ คำคม สุภาษิต ต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันท่านสามารถหาข้อมูล คำพูดดีๆ สุภาษิตดีๆ ได้จากหลายแหล่ง เช่น ในหนังสือ ในงานอบรม ในงานสัมมนา ในการดูโทรทัศน์ ในอินเตอร์เน็ต ฯลฯ เมื่อได้ข้อมูลแล้วท่านต้องจดบันทึก เมื่อมีเวลาท่านควรนำบันทึกเหล่านั้นมาอ่านทบทวนเป็นประจำ เพราะการทำความเข้าใจ คำคม วาทะ สุภาษิต ต่างๆจะทำให้ท่านเกิดความคิดวินิจฉัยและความคิดที่เฉียบแหลมขึ้น
                2.ดัดแปลงแก้ไขจากวาทะหรือวรรคทองของผู้อื่น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะคนไทยเป็นชนชาติหนึ่งที่ชอบดัดแปลงแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ภาษาไทย บางครั้งก็ดัดแปลงแก้ไขออกมาแล้วดูดี แต่บางครั้งก็ดัดแปลงแก้ไขออกมาแล้วดูจะไม่ค่อยเข้าท่า เช่น สุภาษิตต่างๆ “น้ำลดตอผุด” มีคนไปดัดแปลงใหม่ว่า “ น้ำลดตอแหล”  หรือ คำสอนที่ดีๆ ในอดีต “ นักเรียนดีเพราะถูกครูด่า มีคนไปดัดแปลงใหม่ว่า “ ครูตายห่าเพราะด่านักเรียน”  หรือ “ คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ” มีคนดัดแปลงใหม่ว่า “ คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ ถ้าคบคนแก้ผ้า จะได้ดูทั้งหน้าและเนื้อ”  หรือ ช่วงหนึ่งของ ลิลิตพระลอ เดิมเขียนเอาไว้ว่า “ ร้อยชู้หรือจะสู้เนื้อเมียตน เมียร้อยคนหรือจะสู้เนื้อเมียได้” มีคนไปดัดแปลงใหม่ว่า “ ร้อยชู้หรือจะสู้เนื้อเมียตน เมียร้อยคนหรือจะสู้ น้องเมียได้ ”
                3.คิดขึ้นมาเอง ข้อนี้จะยากกว่าการจดจำ การบันทึกหรือการดัดแปลงวาทะของผู้อื่น แต่อย่างไรก็ตามก็คงไม่ยากเกินกว่าความสามารถของมนุษย์ สำหรับหลักการสร้างวาทะหรือวรรคทองต่างๆ ควรมีลักษณะดังนี้
                1.เป็นคำพูดสั้นๆ กระชับ แต่มีความลึกซึ้งกินใจ
                2.เป็นคำพูดที่เฉียบแหลมคมคาย สามารถชวนให้คนคิดต่อไป ยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นจริง
                3.เป็นคำพูดที่ผู้ฟังฟังแล้วเกิดความหวั่นไหว คล้อยตาม
                4.เป็นคำพูดที่สร้างความเชื่อถือศรัทธาให้แก่ผู้พูด
                5.เป็นคำพูดที่มีความไพเราะ แต่มีความแจ่มแจ้งชัดเจน ผู้ฟังฟังแล้วเข้าใจได้ง่าย
                                โดยสรุป การสร้างวาทะท่านสามารถสร้างขึ้นเองได้โดยวิธีการจดจำ การจดบันทึกแล้วนำเอาไปใช้ , การดัดแปลงแก้ไขวาทะหรือวรรคทองของผู้อื่น และการคิดขึ้นมาเอง
               

วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การปรับปรุงการพูด

การปรับปรุงทักษะในการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
                ในการฝึกการพูด ผู้ที่ฝึกฝนการพูดควรมีการสำรวจตนเองว่าการพูดของท่านได้พัฒนาไปมากน้อยเพียงใด โดยมีวิธีการสำรวจทั้งก่อนและหลังการพูด ท่านลองประเมินตนเองตามความเป็นจริง แล้วจึงลองแก้ไข ปรับปรุง พัฒนา เปลี่ยนแปลงตนเอง ท่านจะพบว่าการพัฒนาการพูดของท่านได้ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ลองสำรวจและประเมินตนเองดังนี้
                ก่อนการพูด
                1.ท่านทราบหัวข้อเรื่องหรือประเด็นที่จะพูดแล้วหรือไม่
                2.ท่านมีการเตรียมการพูดมาเป็นอย่างดีแล้วหรือไม่
                3.ท่านมีการวิเคราะห์ผู้ฟังหรือทราบว่าผู้ฟังเป็นใครแล้วหรือไม่
                4.ท่านทราบหรือยัง ว่าเขาให้เวลาในการพูดของท่านนานเท่าไร
                5.ท่านทราบสถานที่ที่จะไปพูดว่าอยู่ที่ใดแล้วหรือไม่
                6.ท่านจะแต่งกายอย่างไรให้มีความเหมาะสมกับกาลเทศะในการพูดในครั้งนั้นๆ
                7.ท่านมีสุขภาพแข็งแรงและพักผ่อนมาอย่างเพียงพอแล้วหรือไม่
                หลังการพูด
                1.ผลตอบรับจากผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นอย่างไร
                2.ท่านพูดได้ตรงวัตถุประสงค์หรือตรงกับเรื่องที่ท่านได้เตรียมไว้หรือไม่
                3.การใช้เสียงของท่านมีความเหมาะสมกับเรื่องหรือไม่ เช่นน้ำเสียง จังหวะในการพูด มีความเป็นธรรมชาติ ดังไปหรือเบาไป
                4.ท่านปรากฏตัวด้วยความเชื่อมั่นหรือไม่
                5.การพูดของท่านมีการติดขัดและควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร
                6.สายตาของท่านมองผู้ฟังอย่างทั่วถึงหรือไม่
                7.ท่านใช้ภาษาท่าทางประกอบการพูดมากไปหรือน้อยไป อีกทั้งมีถูกต้องในการสื่อความหมายมากน้อยขนาดไหน
                8.ในการพูดของท่านมีคำฟุ่มเฟือย เช่น คำว่า เอ้อ อ้า นะครับ ครับ นะค่ะ ค่ะ มากน้อยเพียงใด
                การสำรวจและประเมินผลตนเอง ก่อนและหลังจะทำให้การพูดของท่าน มีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ท่านควรให้ความสำคัญ และมีความจริงจังในการแก้ไข ปรับปรุง ตรวจสอบเพื่อเป็นการพัฒนาทักษะในการพูดของท่าน