วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

พูดเป็นเขียนเป็นอย่างนักพูดนักเขียน

พูดเป็นเขียนเป็นอย่างนักพูดนักเขียน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
                การสื่อสารโดยการเขียนก็คล้ายกับการสื่อสารทางการพูด กล่าวคือ ใครที่เกิดมาไม่เป็นใบ้ก็พูดได้ แต่มีน้อยคนที่พูดเป็น การเขียนก็เช่นกันใครที่อ่านหนังสือออกและเรียนรู้การเขียนก็มีโอกาสในการเขียนหนังสือได้ แต่มีน้อยคนที่เขียนหนังสือเป็น
                คนที่พูดเป็น จะทำให้คนฟังชื่นชอบ ชื่นชม คนพูดเป็นคนมักจะทำให้ผู้ฟังเกิดเข้าใจในสิ่งที่พูด อำนาจของการพูดทำให้คนพูดสามารถโน้มน้าวใจคนฟังให้เชื่อหรือปฏิบัติตามได้
คนที่เขียนหนังสือเป็น ก็เช่นกัน จะทำให้คนอ่านชื่นชอบ อีกทั้งยังคงเฝ้าติดตามผลงาน นักเขียนที่เขียนเป็นมักสามารถโน้มน้าวชักจูงใจผู้อ่านได้ คนเขียนเป็นจะทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ต่างๆได้ เช่น เมื่อได้อ่านหนังสือที่ผู้เขียนเขียนแล้วเกิดอารมณ์สนุกสนาน เกิดอารมณ์เห็นใจ เกิดอารมณ์อยากช่วยเหลือ เกิดอารมณ์โกรธเกลียด เกิดอารมณ์เศร้า ฯลฯ
กล่าวคือ คนที่พูดเป็น คนที่เขียนเป็น คือ คนที่พูดหรือเขียน แล้วทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านเข้าใจตรงกับที่ผู้พูดหรือผู้เขียนต้องการสื่อสาร
ซึ่งคนที่พูดเป็นและคนที่เขียนเป็น มักจะต้องฝึกฝนการพูดและการเขียน มีการพัฒนาปรับปรุงงานพูดและงานเขียนสม่ำเสมอ ซึ่งการเรียนรู้คงต้องอาศัยทั้งประสบการณ์ หลักวิชา หากเรียนรู้จากประสบการณ์แต่ขาดหลักวิชาก็คงต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝนแบบลองผิดแบบลองถูกมากขึ้น หากมีหลักวิชาเข้าช่วยก็คงทำให้มีหลักในการพูดและการเขียนจึงทำให้เกิดการพัฒนา ปรับปรุงได้ง่ายขึ้น
การพูด การเขียน เป็นทั้ง ศาสตร์และศิลป์
เป็น ศาสตร์ คือ เป็นความรู้ที่สามารถเรียนรู้ ฝึกฝนได้ จากหนังสือ จากตำรา จากบทความ จากการอบรม จากการเรียนในห้องเรียน ฯลฯ
เป็น ศิลป์  คือ เป็นการประยุกต์ใช้ เป็นความสามารถของแต่ละบุคคล เป็นเทคนิควิธีการของนักพูดและนักเขียนแต่ละคน
                การพูดและการเขียนเป็นศาสตร์ที่สามารถฝึกฝนได้ เช่นเดียวกับศาสตร์อื่น นักดนตรีก็ต้องเรียนรู้ วิธีเล่นดนตรี เมื่อเริ่มเล่นเป็นแล้วอยากให้เก่งขึ้นก็ต้องหมั่นฝึกซ้อม ยิ่งซ้อมบ่อยยิ่งเก่งขึ้น อีกทั้งต้องหาเวทีในการแสดงดนตรีเพื่อให้มีชื่อเสียง เพื่อให้คนรู้จักว่าเป็นนักดนตรี
                นักพูดและนักเขียน ก็เหมือนกับนักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นักดนตรี  นักมวย  นักร้อง นักแสดง นักกีฬา ฯลฯ  ดังนั้นคนที่ต้องการเป็นนักพูดกับนักเขียน จะต้องหมั่นศึกษา ต้องหมั่นขยันฝึกฝนการพูดการเขียนอยู่เสมอ ศึกษาเทคนิค วิธีการนำเสนอ การใช้ภาษา ถ้อยคำ ในการพูดและการเขียน
                สำหรับข้อแนะนำที่อยากฝากท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านบทความชิ้นนี้คือ หากว่าท่านปรารถนาอยากเป็นคนที่พูดเป็นเขียนเป็นอย่างนักพูดอย่างนักเขียน ขอให้ท่านจงฝึกฝนและพยายามปฏิบัติตามข้อแนะนำ อันได้แก่
1.ฝึกพูดให้มาก ฝึกเขียนให้มาก  เมื่อท่านได้ฝึกการพูดมากๆ และฝึกการเขียนมากๆ ย่อมทำให้การพูดและการเขียนของท่านดียิ่งขึ้น การพูดและการเขียนก็จะพัฒนาเป็นลำดับ จนการพูดและการเขียนมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเรามากขึ้น  แบ่งเวลาวันละ 10-20 นาที ฝึกการพูดด้วยตนเองทุกวัน ฝึกการเขียนด้วยตนเองทุกวัน เมื่อท่านทำไปได้ 1 เดือน ท่านก็จะเห็นความแตกต่างซึ่งเกิดจากผลของการฝึกการพูดและฝึกการเขียนของท่าน
2.ฟังให้มาก อ่านให้มาก การฟังมากๆ จะทำให้เรารู้ลีลา การพูดของนักพูดแต่ละคน แล้วเราสามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาตนเองได้ในอนาคต การอ่านมากๆ จะทำให้เรารู้ความแตกต่าง วิธีการเขียนของนักเขียนแต่ละคน แล้วเราสามารถนำมาพัฒนางานเขียนของเราได้
3.ตั้งเป้าหมาย การตั้งเป้าหมายมีความสำคัญมาก สำหรับผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จในงานอาชีพต่างๆ คนที่ต้องการเป็นนักพูด นักเขียนก็เช่นกัน ควรเริ่มต้นตั้งเป้าหมายส่วนตัว ว่าตนเองต้องการเป็น นักพูด นักเขียน ระดับไหน หากต้องการเป็นนักพูด นักเขียน ระดับจังหวัด ก็คงพัฒนาตนเองไม่มากนัก แต่หากต้องการเป็นนักพูด นักเขียน ระดับชาติก็คงต้อง มีความพยายามมากขึ้น พัฒนาตนเองมากขึ้น ปรับปรุงตนเองมากขึ้น  เมื่อมีเป้าหมายแล้วก็ต้อง วางแผน ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย และสุดท้ายต้องหมั่นตรวจสอบเป้าหมาย ตรวจสอบแผนการที่วางไว้
สำหรับข้อแนะนำข้างต้น หากท่านผู้อ่านนำไปปฏิบัติ กระผมเชื่อว่าท่านจะเป็นคนที่พูดเป็น เขียนเป็น อย่างนักพูดและนักเขียน
คำพูดและข้อเขียน จะมีประโยชน์มากหากว่าเราสามารถเลือกสื่อสารในช่วงสถานการณ์และเงื่อนเวลาที่เหมาะสม

               









วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

คลิป เวลาเมาอย่าเข้าใกล้ไมค์

ท่านสามารถรับชมเพิ่มเติมได้ที่ www.drsuthichai.com

คลิป พูดแล้วดัง ทำแล้วรวย

ท่านสามารถรับชมเพิ่มเติมได้ที่ www.drsuthichai.com

คลิป เวทีพูดกับนักพูด

ท่านสามารถรับชมเพิ่มเติมได้ที่ www.drsuthichai.com

คลิป เส้นทางนักพูด


ท่านสามารถรับชมเพิ่มเติมได้ที่ www.drsuthichai.com

วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

เส้นทางสู่ความสำเร็จในงานอาชีพด้านการพูด


                                            เส้นทางสู่ความสำเร็จในงานอาชีพด้านการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
 www.drsuthichai.com
                            เมื่อท่านต้องการเป็นนักพูด วิทยากร พิธีกร หรือมีอาชีพทางการพูดแล้ว ท่านมีความจำเป็นจะต้องเรียนรู้เส้นทางสู่ความสำเร็จจากนักพูด วิทยากร พิธีกรหรือบุคคลที่มีอาชีพทางด้านการพูด ซึ่งบุคคลที่ประสบความสำเร็จมีเส้นทางสู่ความสำเร็จที่แตกต่างกัน แต่เราสามารถเรียนรู้หลักการใหญ่ๆได้ ซึ่งหลักการหรือหลักคิดที่ทำให้บุคคลต่างๆที่ประกอบอาชีพด้านการพูดประสบ ความสำเร็จมีดังนี้ 
                  1.มีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา บุคคลที่ประกอบอาชีพในด้านการพูดต้องไม่เป็นคนที่ชอบอยู่นิ่งกับที่ แต่ต้องเป็นบุคคลที่มีความคิดเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ต้องเป็นคนที่ชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีหรือเครื่องมือใหม่ๆ ที่ช่วยในการสอนหรือการบรรยาย เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องฉายแผ่นทึบ คลิปวีดีโอ ฯลฯ 
                  2.มีการสะสมข้อมูลต่างๆ บุคคลที่ประกอบอาชีพด้านการพูดต้องเป็นคนแสวงหาข้อมูลต่างๆ สะสมไว้ในคลังสมองเพื่อที่จะนำไปใช้ได้ตลอดเวลา ดังนั้นบุคคลที่ประกอบอาชีพด้านการพูดจำเป็นจะต้องเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ มากๆ รับฟังข้อมูลข่าวสารหรือสะสมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ(จากการสัมมนา หรือการอบรมใหม่)
                  3.มีการแสวงหาเวทีให้ตนเอง บุคคลที่ต้องการประกอบอาชีพทางด้านการพูด ไม่ว่าจะเป็นนักพูด วิทยากร พิธีกร ฯลฯ มีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาเวทีให้กับตนเองอยู่ตลอดเวลา การมีเวทีในการพูดยิ่งมากเท่าไร ก็จะทำให้บุคคลที่ประกอบอาชีพทางด้านการพูดเกิดการพัฒนา เรียนรู้ แก้ไข ปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น การมีเวทีในการพูดเสมือนหนึ่งเป็นการฝึกฝนของบุคคลที่ประกอบอาชีพในด้านการ พูด ยิ่งมีเวทีมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เกิดการฝึกฝนได้มากเท่านั้น ผู้ที่ต้องการเป็นนักเขียนก็ต้องฝึกฝนการเขียนเป็นประจำ ผู้ที่ต้องการเป็นนักมวยก็ต้องฝึกซ้อมการชกมวยเป็นประจำทุกๆวัน คนที่ต้องการประกอบอาชีพในด้านการพูดก็เช่นกัน จำเป็นจะต้องหาเวทีให้กับตนเองเพื่อที่จะได้ฝึกฝนตนเองสม่ำเสมอ
                   4.มีความคิดใหม่ๆ มีความคิดที่สร้างสรรค์ตลอดเวลา หากว่าท่านต้องการประสบความสำเร็จในด้านใดๆ ก็ตามท่านมีความจำเป็นที่จะต้องมีความคิดที่แตกต่างหรือมีความคิดใหม่ๆ สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ท่านจึงสามารถประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพในด้านนั้นๆ ได้มากกว่าคนอื่นๆ บุคคลที่ประกอบอาชีพในด้านการพูดก็เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าหากท่านเป็นวิทยากร ท่านมีความสามารถคิดหลักสูตรใหม่ๆได้ ท่านก็จะได้เปรียบวิทยากรท่านอื่นๆ อีกทั้งท่านมีตลาดหรือลูกค้าที่ต้องการเรียนหลักสูตรของท่านอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าท่านมีหลักสูตรที่เหมือนกันหรือคล้ายกันกับวิทยากรท่านอื่นๆ ท่านจำเป็นจะต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งลูกค้ากัน 
                       5.มีการเสริมสร้างประสบการณ์และคุณวุฒิ บุคคลที่ประกอบอาชีพในด้านการพูดจำเป็นจะต้องเสริมสร้างประสบการณ์หรือเรียน ต่อเพื่อที่จะเอาคุณวุฒิ(ปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก) เพราะคนไทยเรายังให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณวุฒิอยู่มาก ถ้าหากท่านมีคุณวุฒิสูงกว่าผู้ฟัง ผู้ฟังก็มักจะเกิดความศรัทธา เลื่อมใส และมีความน่าเชื่อถือกว่า บุคคลที่มีคุณวุฒิต่ำกว่า สรุปก็คือ บุคคลที่ต้องการประกอบอาชีพในงานด้านการพูด ท่านจำเป็นจะต้อง มีการพัฒนาตนเองตลอดเวลาสม่ำเสมอ มีการสะสมข้อมูลต่างๆ มีการแสวงหาเวทีให้ตนเอง มีความคิดใหม่ๆ มีความคิดที่สร้างสรรค์ตลอดเวลาและมีการเสริมสร้างประสบการณ์และคุณวุฒิ 
               สำหรับหัวใจสำคัญของบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพในงานด้านการ พูดก็คือ ความรัก ความศรัทธาและเป้าหมายในงานด้านการพูด ถ้าหากว่าท่านมีความรัก ความศรัทธาและเป้าหมายในงานด้านการพูด ก็จะทำให้ท่านประสบความสำเร็จได้มากกว่าบุคคลที่ไม่มีความรัก ความศรัทธาและเป้าหมาย

ชั่วโมงบินกับการพูด

ชั่วโมงบินกับการพูด
โดย..ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
http://www.drsuthichai.com/
                ถ้าหากท่านมีโอกาส ลองไปสอบถามบรรดานักพูดทั้งหลายว่า ทำอย่างไรถึงจะพูดเก่ง พูดเป็น ในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน กระผมเชื่อว่าบรรดานักพูดทั้งหลาย มักจะมีคำตอบที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองและประสบการณ์ต่างๆ ของแต่ละบุคคล แต่กระผมเชื่อว่า หากท่านถามบรรดานักพูดทั้งหลายว่า ชั่วโมงบินหรือการได้ขึ้นเวทีพูดบ่อยๆ มีความสำคัญหรือไม่ นักพูดทุกท่านมักจะต้องตอบว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก
                ชั่วโมงบินหรือการหาเวทีในการขึ้นพูดถือว่าเป็นประสบการณ์ในการที่ทำให้ บุคคลผู้นั้นพูดเก่ง พูดเป็น ซึ่งเวทีในการพูดมีหลากหลายเวทีในที่นี้กระผมขอยกตัวอย่าง เวทีในการพูดมีดังนี้
                1.เวทีพิธีกร เป็นเวทีที่ผู้ต้องการเป็นนักพูดควรได้มีโอกาสฝึกฝนกัน การทำหน้าที่พิธีกร ต้องมีการเตรียมตัวพอสมควร ต้องเตรียมการพูด ต้องรู้ลำดับขั้นตอนของงาน ต้องรู้ว่าใครพูดก่อนหลัง ต้องทำหน้าที่ประสานงานเพื่อให้งานออกมาได้อย่างราบรื่น ซึ่งเวทีพิธีกรมีหลายประเภทเช่น พิธีกรโทรทัศน์ พิธีกรในงานมงคลสมรส พิธีกรในงานศพ พิธีกรในงานลอยกระทง ฯลฯ  สำหรับคนที่ฝึกการพูดในงานพิธีกรต่างๆ ควรมีความหลากหลายในตนเอง คือ ต้องมีกลอนประกอบ ต้องมีไหวพริบปฏิภาณ หากดำเนินรายการตามสคิปที่วางไว้โดยไม่มีการปรับระยะในการทำหน้าที่ กระผมคิดว่าคงประสบความสำเร็จได้ยาก
                2. เวทีบรรยาย เป็นเวทีที่สอนหนังสือในห้องเรียน เป็นการเรียนในระบบ เช่น การเรียนในระดับมัธยม ระดับมหาวิทยาลัยทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท เพื่อให้ได้มีโอกาสฝึกการพูด เป็นการพูดที่เน้นทฤษฏีมากกว่าประสบการณ์ เวทีนักพูดที่เป็นเวทีบรรยายจะเป็นเวทีที่เน้นเนื้อหาสาระมากกว่าความ บันเทิง ผู้ที่ต้องการเป็นนักพูดหากมีโอกาสได้ฝึกฝนเวทีนี้จะทำให้เป็นผู้มีภูมิความ รู้ที่ดีเนื่องจากต้องอ่านมาก เตรียมตัวสอน จึงต้องแสวงหาความรู้อยู่เสมอ หากพัฒนาโดยหาอารมณ์ขัน หาประสบการณ์ต่างๆ มาสอดแทรกมากๆ ก็สามารถพูดในเวทีวิทยากรได้ในอนาคตครับ
                3.เวทีวิทยากร เป็นเวทีที่เน้นการพูด การบรรยาย โดยพูดถึงเรื่องประสบการณ์มากกว่านำเอาทฤษฏีมาสอนกัน ซึ่งแตกต่างจากเวทีบรรยาย เวทีบรรยายนั้นมักพูดเนื้อหาสาระทฤษฏีมากกว่าการนำประสบการณ์มาพูดกัน เวทีวิทยากรนี้ ควรนำอารมณ์ขัน การพูดจูงใจ สอดแทรกการพูด การบรรยายเป็นระยะๆ หากผู้พูดพูดเหมือนเวทีบรรยาย คือนำทฤษฏีมาพูดทั้งหมด โดยส่วนตัวกระผมคิดว่าประสบความสำเร็จยาก
                4.เวทีทอล์คโชว์ เป็นเวทีที่เน้นความบันเทิง นักพูดเป็นประเภท ทอล์คโชว์ ต้องหามุข หาอารมณ์ขัน
ยิ่งมากยิ่งดี หากมีมุขออกมาได้ทุกนาทีสองนาทีได้ยิ่งดี ไม่ใช่พูดแล้ว ยี่สิบนาที สามสิบนาที คนหัวเราะหนึ่งครั้งกระผมคิดว่า นักทอล์คโชว์ประเภทหลังคงประสบความสำเร็จได้ยาก สำหรับนักทอล์คโชว์ เราลองสังเกตวิธีการพูดของเขามักจะใช้น้ำเสียงที่หลากหลายโดยเฉพาะน้ำเสียง ประเภทตื่นเต้นตลอดเวลา หากพูดแบบช้าๆ แนบๆ คงประสบความสำเร็จได้ยากในเวทีนี้
                อ่านมาถึงตรงนี้ หากท่านต้องการเป็นนักพูด กระผมคิดว่าท่านควรที่จะหาประสบการณ์โดยการหาเวทีแสดงทุกเวที หากมีโอกาสไม่ควรปฏิเสธเวทีต่างๆ แต่หากไม่มีโอกาสก็ควรหาโอกาส โดยการนำเสนอตัวในการทำหน้าที่ต่างๆเช่น เขาหาพิธีกรไม่ได้ เราควรเสนอตัวเข้าไปเป็นพิธีกรให้กับเขา หรือ เขาต้องการวิทยากรซึ่งหัวข้อนั้นเราสามารถบรรยายได้ควรเสนอตัวเพื่อใช้เป็น เวทีในการฝึกฝนตนเอง
                ดังนั้นคำว่า ชั่วโมงบินหรือเวทีในการพูด จึงมีความสำคัญกับผู้ที่ต้องการเป็นนักพูด หากท่านได้ผ่านเวทียิ่งมากประสบการณ์ในการพูดของท่านก็ยิ่งมีมากไปด้วย โดยส่วนตัวกระผมเชื่อว่า นักพูดก็เหมือนกับนักร้อง นักมวย นักอะไรต่างๆ หากท่านต้องการเป็น นักเขียนท่านก็ต้องเขียนครับ หากท่านต้องการเป็นนักร้องท่านก็ควรฝึกร้องในมากๆ หากท่านต้องการเป็นนักแสดง ท่านก็จำเป็นจะต้องฝึกฝนในการแสดงให้มากๆเช่นกัน และหากท่านต้องการเป็นนักพูด ท่านควรหาเวทีการพูดเพื่อให้ตนเองมีชั่วโมง

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

เอดส์กับสังคมไทย

โรค เอดส์ กับสังคมไทย
โดย..ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
www.drsuthichai.com
                เอดส์ เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษา  เอดส์ เป็นโรคที่ฆ่าพลเมืองของโลกไปมากมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งสังคมไทย เอดส์เป็นโรคที่ทำให้สังคมไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายในการรักษาไม่ว่าจะ เป็นค่ารักษา ค่ายาต้านไวรัสเอดส์
                สำหรับ ตัวเลขของผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคเอดส์ในปัจจุบันของประเทศไทยเรา รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คือ ในกรุงเทพมหานครมีมากกว่า 38,743 คน ตายไปแล้วมากกว่า 8,927 คน และผู้ป่วยเอดส์ทั้งประเทศมากกว่า 440,079 คน และตายไปมากกว่า 92,111 คน ขณะนี้ คนไทยมีผู้ป่วยโรคเอดส์รายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ปีละกว่า 20,000 คน ( นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 28 พย.51)
                สำหรับ กลุ่มที่มีการติดเชื้อมีหลากหลายกลุ่ม แต่กลุ่มที่จะมีปัญหามากที่สุด คือ วัยรุ่น เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังเริ่มมีเพศสัมพันธ์  มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึกความต้องการ และจิตใจ
                เนื่องจากในปัจจุบันมีสิ่งเร้าต่างๆ มากขึ้น สำหรับที่จะทำให้วัยรุ่นเสียคนได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ยาเสพติด  ไฮไฟว์  การโชว์อึ๋ม การมีแฟนควงแบบไม่ซ้ำหน้า การติดเพื่อน ติดแฟน ติดเหล้า ติดเกมส์  การอยากโกอินเตอร์ ฯลฯ
                สิ่งเหล่านี้เป็นตัวเร้า ให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดโรคเอดส์
ซึ่งติดต่อด้านกันหลายทาง เช่น ทางเลือด ทางเข็มฉีดยา ทางแม่สู่ลูก  แต่โดยมากมักจะติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์
                ดัง นั้น การมีเพศสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งที่ห้ามได้ยากมากในยุคปัจจุบัน แต่สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือ การสอนให้เด็กวัยรุ่น ได้รู้จักป้องกันตัวเอง เช่น การสวมถุงยางอนามัย การให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ การรักนวลสงวนตัว ฯลฯ
                ที่ ผ่านมาถึงแม้จะมีภาครัฐ ภาคเอกชน ให้ความสนใจเรื่องการแก้ไข เรื่องโรคเอดส์ แต่ก็ทำในลักษณะที่ไม่ต่อเนื่อง ไม่สม่ำเสมอ ไม่มีงบประมาณที่เพียงพอ ทำๆ หยุดๆ
          และ สุดท้าย หลายหน่วยงาน หลายองค์กร หลายครอบครัว ก็มอบให้เป็นภาระแก่ วัดพระบาทน้ำพุ พระอุดมประชาทร ซึ่งขณะนี้ท่านต้อง แบกรับภาระ ผู้ป่วยโรคเอดส์เป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละปีต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นจำนวนมากเช่นกัน  ซึ่งขณะนี้ค่อนข้างหนักยิ่งขึ้นสำหรับค่าใช้จ่ายเนื่องจากภาวะเศษรฐกิจโลกและของประเทศตกต่ำ
                วัน ที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเอดส์โรค สำหรับปีนี้ กระผมจึงขอเชิญชวน พวกเราที่อ่านบทความนี้ได้ ช่วยกัน รณรงค์ เผยแพร่ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ความเคลื่อนไหว เหตุการณ์ต่างๆ
สำหรับโรคร้ายนี้ และถ้าใครมีปัจจัย มีเงิน มีทอง ก็ขอให้ช่วยบริจาค เงินแก่ วัดพระบาทน้ำพุด้วย
ขออนุโมทนาบุญ   สาธุ

หลักการเตรียมการพูด

การเตรียมการพูด
โดย...สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
            คน ที่จะเป็นนักพูด นักบรรยาย วิทยากร และนักพูดทุกประเภท ที่ดี ที่เก่ง และมีชื่อเสียงได้นั้น คนๆนั้นจะต้องมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ แต่คุณสมบัติที่สำคัญมากที่สุด ข้อหนึ่งก็คือ
                การ เตรียมการพูดนั้นเอง เพราะการเตรียมการพูดจะทำให้นักพูด ท่านนั้นเกิดความมั่นใจในตนเอง การเตรียมการพูดจะทำให้รู้โครงสร้างของเรื่องที่จะพูดและเนื้อหาโดยรวม
                การ พูด ก็เหมือนกับการแสดง หรือ นักพูดก็เหมือนนักแสดงอย่างหนึ่ง ก็คือ ถ้ามีการเตรียมการพูด มีการฝึกซ้อมอย่างดี ก็จะทำให้การพูดครั้งนั้นๆ ประสบความสำเร็จ นักแสดงก็เช่นกัน ดังนั้นการเตรียมการพูดจึงมีความสำคัญมากจนมีผู้กล่าวว่า ผลสำเร็จของการพูดแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับการเตรียมการพูดประมาณ 70 % เหลืออีก 30% อยู่ที่การพูดบนเวที
                ซึ่งการเตรียมการพูดที่ดีนั้น จะต้องมีหลักดังนี้
1.ต้อง รู้วัตถุประสงค์ของการพูด รวมทั้งผู้ฟังก่อน การรู้วัตถุประสงค์ของการพูดในครั้งนั้นๆจะทำให้เราเตรียมข้อมูล วิธีการได้ถูกต้อง เช่น การพูดในครั้งนั้นเป็นการพูดเพื่อการบันเทิง เราก็พยายามเตรียมการพูด โดยการหามุข หาเรื่องสนุกๆ ตลกๆ มาพูดให้มากหน่อย หรือการพูดครั้งนั้นเพื่อการจูงใจ ชักจูง เราก็ต้องเตรียมข้อมูลให้มีการอ้างอิง หาหลักฐาน คำพูดของผู้มีชื่อเสียง และหนังสือมาประกอบ อีกทั้งต้องวิเคราะห์ว่าผู้ฟัง เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ควรพูดลีลา ท่าทาง น้ำเสียง เรื่องที่จะพูดตรงต่อความสนใจของผู้ฟังไหม
2.หา ข้อมูลประกอบการพูด การพูดก็เหมือนกับการทำอาหาร เราต้องหาข้อมูลเหมือนกับเราจะทำแกงเนื้อสักถ้วย เราก็ต้องไป หาพริก หาเกลือ หาน้ำ หาเนื้อ หาน้ำปลา หาเครื่องแกง หาผัก ฯลฯ สำหรับข้อมูลที่ดีจะต้องมีความหลากหลาย เช่น มีตัวเลขสถิติ , ตัวอย่าง , หลักฐาน , คำคม , สุภาษิต ดังนั้น ผู้ที่เป็นนักจดบันทึก มีสมุดบันทึกติดตัว จดคำคม ข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประกอบการพูด มักจะได้เปรียบเพราะมีการเตรียม มีการหาข้อมูลตลอดเวลา
3.เขียน โครงสร้างเรื่องลงไปบนกระดาษ ขั้นตอนนี้จะต้องเขียนโดยมีโครงสร้างสุนทรพจน์คือ มีคำนำ มีเนื้อเรื่อง และมีสรุปจบ โดยเขียนรายละเอียดทั้งหมดลงไปบนกระดาษ แล้วจึงนำ มาเพิ่มเติม  มาตัด  มาเสริม และอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน คำพูดหรือภาษาที่ใช้เพื่อนำไปพูด ไปบรรยาย (คำนำควรมีเนื้อหาประมาณ 10-15 % เนื้อเรื่องควรมีเนื้อหาประมาณ 70-80 % สรุปจบควรมีเนื้อหาประมาณ 10-15 % )
4.ซ้อม พูดหรือฝึกหัดการพูด อาจจะซ้อมพูดต่อหน้ากระจก อาจจะเป็นการซ้อมพูดคนเดียวในที่ต่างๆ ดังเช่นนักพูดดังๆในอดีตและปัจจุบันทำกัน เช่น อาจารย์จตุพล ชมพูนิช เคยให้สัมภาษณ์ว่าเคยซ้อมพูดคนเดียวตอนเดินกลับบ้านโดยเลือกเรื่องที่จะพูด แล้วเริ่มพูด ตั้งแต่ต้นซอยจนถึงบ้านที่อยู่ท้ายซอย,อับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ซ้อมพูดขณะอยู่บนหลังม้า ฯลฯ
                บาง คนอาจไม่คุ้นกับการฝึกพูดคนเดียว อาจจะให้คนรู้จักนั่งฟังหรือให้เพื่อน ภรรยา นั่งฟังแล้วช่วยเสนอแนะข้อที่ควรปรับปรุงในการพูดก็ได้
                การ ซ้อมพูดที่ดี ควรทำท่าทางประกอบและควรจับเวลาด้วย เนื่องจากจะได้ตัดทอนเนื้อหา หากใช้เวลามาก แต่ถ้าเวลาเหลือมากจะได้เพิ่มเติมเนื้อหาเข้าไป การทำท่าทางประกอบในการซ้อมพูดจะทำให้เมื่อออกไปพูดจริงจะไปดูเป็นธรรมชาติ มากยิ่งขึ้น ดังนั้น ถ้าท่านยิ่งซ้อมพูดมากเท่าไรก็จะยิ่งดีเท่านั้น
                สรุป คือ การเตรียมการพูดเป็นสิ่งที่สำคัญ จะละเลยไม่ได้ ควรเตรียมตัวทุกครั้งเพราะความสำเร็จของการเป็นนักพูดที่ดี อยู่ที่การเตรียมการพูดนั่นเอง
               
               

ฝึกพูดด้วยตนเอง

วิธีการฝึกพูดด้วยตนเอง
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
                การฝึกพูดต่อหน้าที่ชุมชนในยุคปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ด้วยกันกล่าวคือ การฝึกการพูดแบบในระบบ กับ การฝึกพูดด้วยตนเอง
1.การฝึกการพูดแบบในระบบ หมายถึง  การฝึกการพูดที่มีรูปแบบการฝึกที่เป็นระบบ มีขั้นมีตอน มีผู้ฟังหรือผู้เข้ารับการอบรมนั่งฟัง โดยมากในยุคปัจจุบัน มักมี หน่วยงาน องค์กร ชมรม สโมสร สถาบัน มหาวิทยาลัยต่างๆ ทำหน้าที่สอนและมีการฝึกปฏิบัติ  ซึ่งเป็นที่นิยมกัน
2.การฝึกการพูดด้วยตนเอง หมายถึง การฝึกพูดด้วยการเรียนรู้ด้วยตนเอง จากการอ่านศึกษาค้นคว้าจากตำราหนังสือการพูด การสังเกต การตามฟังนักพูดที่มีชื่อเสียงพูด ซึ่งการฝึกพูดลักษณะนี้ ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ ต้องลองผิดลองถูกอยู่บ่อยๆ
ในบทความนี้ กระผมขอแนะนำการฝึกการพูดด้วยตนเอง.... ซึ่งมีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการฝึกการพูดด้วยตนเองดังนี้
1.จงเป็นนักอ่าน.... ในยุคปัจจุบันเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร ท่านสามารถหาหนังสือ ตำรา บทความดีๆเกี่ยวกับการพูดต่อหน้าที่ชุมชนได้จากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด ในอินเตอร์เน็ต จงอ่านข้อแนะนำการพูดต่อหน้าที่ชุมชนในหนังสือต่างๆ และจงฝึกปฏิบัติด้วยตนเองอย่างตั้งใจ อดทน สม่ำเสมอ ก็จะทำให้ท่านสามารถพัฒนาการพูดของท่านได้
2.จงเป็นนักฟัง....จงหาแบบอย่างหรือนักพูดที่ท่านชอบหรือศรัทธา แล้วติดตามไปฟังการพูดของท่านเหล่านั้นให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ แล้วลองสังเกต รูปแบบการพูด ท่าทาง น้ำเสียง กริยาต่างๆของนักพูดท่านนั้น แล้วลองมาปรับใช้กับตนเอง
3.จงใช้เครื่องบันทึกเสียง ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ในยุคปัจจุบัน เรามีเครื่องบันทึกเสียงในรูปแบบต่างๆ เช่น เทป MP3 MP4 เครื่องบันทึกภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ ท่านสามารถนำเอาไปบันทึกเสียงหรือภาพนักพูดที่ท่านชื่นชอบให้มากที่สุดแล้ว นำมาเปิดฟังซ้ำอีกหลายรอบ เพื่อวิเคราะห์การพูดของนักพูดท่านนั้น อีกทั้งท่านควรบันทึกเสียงหรือภาพการพูดของตัวท่านเอง เพื่อนำมาเปิดแล้วลองดูสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุงการพูดของท่านแต่ละครั้ง
4.จงฝึกการพูดด้วยตนเอง หาที่เงียบๆ แล้วลองฝึกการพูดของท่าน อาจจะฝึกต่อหน้ากระจก หรือฝึกระหว่างการเดินทางไปในที่ต่างๆ ด้วยตนเอง ดังเช่น นักพูดหลายท่านทำกัน เช่น ลิงคอล์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ฝึกพูดบนหลังม้าระหว่างเดินทางไกล  เดล คาร์เนกี อาจารย์ด้านการพูดชื่อดังของโลก เคยหัดการพูดด้วยตนเองระหว่างทำสวน เด็ดหญ้า อาจารย์จตุพล ชมพูนิช คิง ออฟสปีค ของเมืองไทย เคยฝึกการพูดด้วยตนเอง ระหว่างเดินทางกลับบ้าน ฝึกพูดจากปากซอยถึงท้ายซอย การฝึกวิธีนี้ควร ทำท่าทางประกอบด้วย ไม่ต้องกระดากอาย การฝึกการพูดในรูปแบบนี้ มีประโยชน์หลายอย่าง... เป็นการฝึกลำดับความคิด เป็นการฝึกพูดให้คล่องปาก ทำให้ไม่ติดขัดเมื่อถึงเวลาต้องไปพูดบทเวทีจริงๆ
5.จงฝึกเขียนประกอบการพูด  ก่อนที่ท่านจะไปพูดจริง ท่านควรหัดเขียน โครงเรื่องว่า ท่านจะขึ้นต้นอย่างไร เนื้อเรื่องมีอะไรบ้างและสรุปจบจะลงท้ายว่าอย่างไร แล้วจึงฝึกพูดหรือฝึกอ่าน หลายๆรอบ จนกระทั่งเมื่อถึงเวลานำไปแสดงท่านไม่ควรใช้หรือดูบันทึกนั้น
6.จงฝึกพูดจากง่ายไปหายาก เช่น ฝึกพูดคำพังเพย การฝึกพูดจากสิ่งของที่เป็นรูปธรรมแล้วจึงมาฝึกการพูดจากสิ่งของที่เป็นนามธรรม ฯลฯ
7.จงหาเวทีแสดงการพูด ข้อสุดท้ายนี้เป็นข้อที่สำคัญที่สุด  หากท่านปฏิบัติตามทั้ง 6 ข้อ ข้างต้นแล้ว แต่ถ้าท่านขาดในข้อที่ 7 นี้ กระผมเชื่อแน่ว่า ท่านจะไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักพูดเลย  เพราะฉะนั้น การมีเวทีการพูดต่อหน้าผู้ฟังจริง จึงมีความสำคัญมาก ยิ่งท่านมีเวทีแสดงการพูดมากเพียงใด ท่านก็เข้าใกล้เป้าหมายในการเป็นนักพูดของท่านมากขึ้นทุกขณะ จงหาโอกาสต่างๆ ในการพูด
                ทั้ง 7 ข้อนี้เป็นข้อแนะนำการฝึกการพูดด้วยตนเอง สำหรับท่านผู้ฟังที่ขาดโอกาสในการฝึกการพูดในระบบ ท่านก็สามารถประสบความสำเร็จได้โดยคำแนะนำข้างต้นนี้ เพียงแต่ท่านต้องมีความตั้งใจจริง มีความอดทน มีความรักและมีความฝันเป็นสำคัญ

การพูดต่อหน้าที่ชุมชน

การพูดต่อหน้าที่ชุมชน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
ถ้าท่านไม่สามารถลุกขึ้นพูดต่อหน้าที่ชุมชนได้ท่านไม่ควรปรารถนาเป็นผู้นำ เป็นคำพูดของหลวงวิจิตรวาทการ
                เคยมีคนถามผมว่า ความหมายของการพูดในที่ชุมชนจริงๆ ตามหลักวิชาการคืออะไร การพูดในที่ชุมชน คือ การพูดในที่สาธารณะชน โดยมีคนฟังหรือฝูงชนจำนวนมาก ผู้พูดต้องมีการสังเกตปฏิกิริยาของผู้ฟัง อีกทั้งการพูดในที่ชุมชน ผู้พูดจะต้องแสดงวัจนภาษาและอวัจนภาษา เช่น ภาษาพูด ภาษาร่างกาย การแสดงท่าทางประกอบ การเคลื่อนไหวต่างๆ  ต่อหน้าผู้ฟังเป็นจำนวนมาก
                ดังนั้นการพูดในที่สาธารณะชนเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พูดได้แสดงความสามารถเฉพาะตัวบุคคล เพราะโดยปกติคนทุกคนที่ไม่เป็นใบ้ย่อมพูดได้ แต่บางคนเท่านั้นที่พูดเป็น ซึ่งการพูดเป็นนั้นต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ ไม่จำเป็นต้องอาศัยพรสวรรค์เสมอไปแต่เราสามารถมีพรแสวงได้ด้วยการฝึกฝนการพูดสม่ำเสมอเมื่อมีโอกาส  เราต้องหาเวทีในการพูดต่อหน้าที่ชุมชนเมื่อมีโอกาส
                การพูดต่อหน้าที่ชุมชนก็เหมือนกับการว่ายน้ำ หรือ กิจกรรมอื่นๆ อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขับรถ  การเล่นกีฬาต่างๆ คือ ยิ่งเราทำมันมากเท่าไรเราก็ยิ่งชำนาญมากขึ้นเท่านั้น  และเราก็ยิ่งสนุกที่ได้ทำมันด้วย 
               เช่น ถ้าเราอยากว่ายน้ำเป็นเราต้องลงไปว่ายน้ำ เราจะมามัวอ่านหนังสือ ตำรา ว่ายน้ำเป็นร้อยเล่ม พันเล่ม หมื่นเล่ม เราก็ไม่สามารถว่ายน้ำเป็น ดังนั้น จงโยนหนังสือ ตำรา ว่ายน้ำทิ้ง แล้ว ลงไปว่ายน้ำจริงๆแล้วเราจะว่ายน้ำเป็นในที่สุด เช่นกัน การพูดก็เหมือนกัน ถึงแม้เราจะอ่านหนังสือ ตำรา การพูดต่อหน้าที่ชุมชนเป็น ร้อยเล่ม พันเล่ม หมื่นเล่ม เราก็ไม่สามารถพูดต่อหน้าที่ชุมชนเป็น ดังนั้น จงโยน หนังสือ ตำรา การพูดต่อหน้าที่ชุมชน ทิ้ง แล้ว ขึ้นเวที หาเวทีการพูดให้มากที่สุด แล้วในที่สุดท่านจะเป็นสุดยอดนักพูด ที่สำคัญ ต้องอดทน ถึงแม้การพูดบางครั้งอาจล้มเหลว แต่ถ้าเรามีฝันว่าอยากเป็นนักพูด เราต้องอดทนรอได้ และไม่ควรดูถูกเวทีเล็ก บางคนอยากพูดเวทีใหญ่เลย ผมว่าคงยาก เพราะนักพูดที่สามารถพูดเวทีใหญ่ๆได้ นักพูดผู้นั้นต้องผ่านเวทีเล็กๆ มาก่อนทั้งนั้น
                เช่น กัน นักพูดที่มีค่าตอบแทนสูง ย่อมเคยผ่านการบรรยายในลักษณะ ค่าตอบแทนต่ำมาก่อน บางคนถึงขนาดบรรยายให้ฟรีๆ โดยไม่มีค่าตอบแทนเลยก็มี
                และ สิ่งที่สำคัญ คือ นักพูดที่ดีต้อง มีการเตรียมการพูด เช่น มีการร่างเรื่องที่จะพูดเป็นโครงเรื่อง ว่าจะขึ้นต้นอย่างไร(โดยปกติจะมี 5-10 %) โดยข้อที่ควรหลีกเลี่ยงในการขึ้นต้น ไม่ควรออกตัว,ไม่ควรถ่อมตนและไม่ควรอ้อมค้อม แต่ควรขึ้นต้นให้มีความตื่นเต้น เช่น การพาดหัวข่าว (Headline) ,  ขึ้นต้นด้วยคำถาม (Asking Question), ขึ้นต้นด้วยการอ้างบทกวี หรือวาทะของผู้มีชื่อเสียง (Quousing) ฯลฯ
               
เนื้อเรื่องควรมีอะไรบ้าง(80-90 %)  ควรจะต้องสอดคล้องกับคำนำหรือคำขึ้นต้น และสอดคล้องกับการสรุปจบ
                ส่วนสรุปควรจะสรุปจบอย่างไร(5-10 %) หลักในการสรุปจบมีอยู่ว่า มีความหมายชัดเจน มี ความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง และหัวข้อเรื่อง กะทัดรัด โดยอาจสรุปจบแบบสรุปความ,แบบฝากให้ไปคิด,แบบเปิดเผยตอนสำคัญ และอาจจบด้วยคำคม คำพังเพย สุภาษิต
          คนจะงามงามน้ำใจใช่ใบหน้า                    คำโบราณกล่าวมาน่าเชื่อถือ
ความรู้ดีทำงานดีมีฝีมือ                             แต่ซื่อบื้อเรื่องพูดจาหมดท่าเลย
รูปไม่สวยวาจาเด่นเห็นประจักษ์             ความมีเสน์ห์น่ารักก็เปิดเผย
มีคนรักคนนิยมคนชมเชย                         อย่าละเลยจงพูดจาให้น่าฟัง
                                                                                (อ.โอษฐ  วารีรักษ์)

เห็นไมค์แล้วสั่น

            เห็นไมค์แล้วสั่น
      โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
               www.drsuthichai.com
                                  ระยะทางหมื่นลี้ ย่อมเริ่มจากก้าวแรก
                อาการ สั่น ไม่ว่าจะเป็นใจสั่น ปากสั่น ตัวสั่น พูดสั่น มือสั่นและอาการประหม่า มักเกิดขึ้นกับคนหลายๆคน ที่ได้มีโอกาสลุกขึ้นไปพูดต่อหน้าที่ชุมชน บางคนเกิดความเครียด พูดถูกๆ ผิดๆ บางคนถูกเชิญขึ้นพูด ด้วยความตื่นเต้น ก็ทักทายผู้ฟังแบบผิดๆ แทนที่จะพูดว่า ท่านแขกผู้มีเกียรติ ดันพูดว่า ท่านเกียรติผู้มีแขก
หรือ บางคนอาจไปทักชื่อหรือตำแหน่งของประธานในพิธีหรือวิทยากรผิดก็มีให้เห็นอยู่ บ่อยๆ หรือบางคนจะเชิญประธานอัญเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา ดันไปเชิญประธานขึ้นสู่ยอดเสาเสียนี่
                บาง คนเกิดอาการประหม่าจึงได้ทำกิริยาอาการแปลกๆ เช่น บางคนรูดไมค์ขึ้น รูดไมค์ลง บางคนรูดซิบกางเกงขึ้นลง และบางคนเอามือพันสายไมค์ม้วนสายไมค์เล่น
                เหตุการณ์ เหล่านี้มักเกิดขึ้นกับคนหลายๆคน ฉะนั้นเมื่อเรารู้อย่างนี้จึงควรหาทางแก้ไขเสีย อย่าให้อาการเหล่านี้เป็นตัวทำลายเราเป็นอันขาด สำหรับวิธีการแก้ไขมีดังนี้
1.               ดื่ม น้ำเย็นสักเล็กน้อยก่อนขึ้นพูด ก็จะช่วยลดความประหม่าได้ส่วนหนึ่ง สักเล็กน้อยนะครับขอย้ำเพราะบางคนดื่มมากจนเกินไป ทำให้เวลาขึ้นพูดบนเวทีความประหม่าอาจลดลงแต่ผู้พูดอาจจะปวดฉี่แทน
2.                พูด ให้กำลังใจกับตัวเองภายในใจว่า การบรรยายในครั้งนี้ การพูดในหัวข้อนี้ ฉันรู้ดีที่สุด หรือในวันนี้ฉันสู้ตาย (พูดในใจนะครับ) จะเป็นการให้กำลังใจตนเองได้ในระดับหนึ่ง  
3.               เตรียม การพูดให้ดี จะสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง การเตรียมตัวจะช่วยให้เราเกิดความพร้อม ทำให้เราจำเนื้อเรื่องได้ และลำดับได้อย่างแม่นยำ การเตรียมตัวที่ดีต้องเตรียมสภาพจิตใจคือต้องทำจิตใจให้พร้อมสำหรับการไปพูด มีความกระตือรือร้นที่อยากจะพูด เตรียมสภาพร่างกายคือต้องมีการพักผ่อนเป็นอย่างดี ไม่ใช่จะไปพูดในวันรุ่งขึ้น ตีหนึ่ง ตีสอง ยังเที่ยวอยู่ ไม่ยอมหลับไปยอมนอน และเตรียมเรื่องที่จะพูด ว่าเราจะขึ้นต้นอย่างไร เนื้อหาอย่างไร สรุปจบอย่างไร  
4.               มี โอกาสต้องรีบขึ้นเวที ไม่มีใครสามารถว่ายน้ำเป็นโดยไม่ลงไปว่ายน้ำ การพูดต่อหน้าที่ชุมชนก็เช่นกัน ไม่มีใครพูดต่อหน้าที่ชุมชนได้โดยไม่เคยพูดต่อหน้าที่ชุมชน ดังนั้นวิธีการแก้อาการประหม่าที่ดีที่สุดก็คือ กลัวสิ่งไหนต้องเข้าหาสิ่งนั้น เมื่อเรากลัวการขึ้นไปพูดต่อหน้าที่ชุมชน เราก็ต้องขึ้นไปพูดบ่อยๆ แล้วความประหม่าก็จะค่อยๆหายไปที่ละน้อย
ทั้ง 4 วิธีที่กระผมได้กล่าวไป อาจทำให้ท่านลดอาการสั่น ลดความประหม่า ลดความเครียด ลดความตื่นเต้นในการพูดต่อหน้าที่ชุมชนได้บ้าง
สำหรับ บางคนบอกว่าการแก้ความประหม่าที่ดีคือการดื่มแอลกอฮอลล์ เช่นดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ เพื่อย้อมใจ การแก้ความประหม่าอย่างนี้ต้องระวัง เพราะการดื่มแอลกอฮอลล์มากๆจะทำให้ขาดสติ พูดผิดๆ ถูกๆ แทนที่จะแก้อาการประหม่าได้อาจทำให้ผู้พูดเสียคนยิ่งกว่าการขึ้นไปพูดโดยไม่ ดื่มแอลกอฮอลล์เสียอีก
ถ้ามีความตั้งใจ จะไปแปลกอะไรกับความสำเร็จ

การพูดในโอกาสต่างๆ

การพูดในโอกาสต่างๆ
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
                   กระผมได้มีโอกาสเป็นวิทยากรให้แก่ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลดงเจน จังหวัดพะเยา ในหัวข้อ การพัฒนาบุคลิกภาพและการพูดต่อหน้าที่ชุมชน ณ โรงเรียนดงเจนวิทยาคม จังหวัดพะเยา ในวันที่สองของการฝึกอบรมกระผมได้บรรยายในหัวข้อการพูดโอกาสต่างๆ เนื่องจากผู้เข้ารับการฝึกอบรมส่วนใหญ่เป็นผู้นำท้องถิ่น จึงมีโอกาสในการขึ้นพูดในโอกาสต่างๆมาก เช่น การพูดในงานมงคลสมรส การพูดในงานขึ้นบ้านใหม่ การพูดในงานคล้ายวันเกิด การพูดในงานศพ การพูดในงานต้อนรับสมาชิกใหม่และการพูดกล่าวแสดงความยินดี ฯลฯ
                สิ่งสำคัญในการพูดในโอกาสต่างๆ มีดังนี้ครับ
-                    ผู้ พูดจะต้องรู้สถานการณ์และผู้ฟัง เช่น ถ้างานนั้นดำเนินไปด้วยความล่าช้า เราจำเป็นจะต้องพูดให้น้อยลง ทั้งๆที่เรามีอะไรต่างๆจะพูดมากมายก็ตาม โดยเฉพาะเลยเวลารับประทานอาหารไปนานแล้ว เพราะขนาด ก่องข้าวน้อยยังฆ่าแม่ได้เลย นับประสาอะไรกับผู้พูดที่ไม่ใช่ญาติมิตรกัน
-                    ต้องรู้ลำดับรายการผู้จะขึ้นพูดในโอกาสต่างๆ ต้องรู้ว่าลำดับของรายการต่างๆเป็นไปอย่างไรจะได้เตรียมตัวถูก ต้องรู้ว่ารายการอะไรก่อน รายการอะไรหลัง
-                    ต้องรู้จุดมุ่งหมายของงานนั้นๆ ว่าลักษณะของงานเป็นลักษณะงานที่บันเทิงสนุกครึกครื้น
เฮฮา หรือ เป็นงานที่เศร้าโศกสลด เราจะได้พูดให้ถูกกาลเทศะ
                                สำหรับโอกาสในการพูดในโอกาสต่างๆ มีดังนี้
                1.การกล่าวแนะนำ โดยมากเป็นการกล่าวแนะนำ ผู้ที่อภิปราย วิทยากร ผู้โต้วาที  หรือผู้เข้าร่วมอบรมหรือประชุม สัมมนาในงานนั้นๆ  เป็นการกล่าวแนะนำก็เพื่อให้ผู้ฟังรู้จักและสนใจ  ตัวผู้พูด  และ เรื่องที่จะพูด
                2.การกล่าวต้อนรับ  เป็นการกล่าวต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือนหรือกล่าวต้อนรับสมาชิกใหม่
                3.การกล่าวอวยพร ส่วนใหญ่เป็นการกล่าวในโอกาสที่เป็นงานมงคล เช่น  งานมงคลสมรสหรืองานแต่งงาน  งานวันคล้ายวันเกิด(ไม่ใช่งานวันเกิด เพราะวันเกิดมีวันเดียว) งานขึ้นปีใหม่ งานฉลองการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งต่างๆ ฯลฯ
                4.การ กล่าวไว้อาลัย โดยมากเรามักคิดถึงแต่งานศพ แต่จริงๆแล้วการกล่าวไว้อาลัยมีหลายอย่าง เช่น ไว้อาลัยผู้ตาย ไว้อาลัยผู้ที่ย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ หรือที่ทำงานใหม่และไว้อาลัยในงานโอกาสไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เป็นต้น     
                สำหรับท้ายนี้กระผมมีตัวอย่างการกล่าวอวยพรในงานมงคลสมรส โดยผู้กล่าวเป็นแม่ของเจ้าบ่าวดังนี้
สวัสดี แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ชีวิตของความเป็นผู้หญิงทุกคนคงไม่แตกต่างจากดิฉัน คืออยากให้คนที่เรารักหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเราได้มีความสุขและดิฉันก็ได้ ปฏิบัติต่อครอบครัวของดิฉันเสมอมา ดังนั้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปดิฉันก็เชื่อว่าสุภาพสตรีที่นิสัยดีและน่ารัก คนนี้ คือสะใภ้ของดิฉันจะทำหน้าที่ภรรยาที่ดีและรักลูกชายของดิฉันได้นานแสนนาน ตลอดไป  ขอบคุณค่ะ
หรือ พ่อของเจ้าบ่าวกล่าวดังนี้
สวัสดีแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน กระผมขอเปรียบชีวิตของคนเราเหมือนต้นไม้ต้นหนึ่งที่มีความจริงใจเป็นรากแก้ว
มีความอดทนคือลำต้น มีความร่มเย็นคือร่มใบพร้อมทั้งความดีงามคือดอกผล จึงได้ชื่อว่า ต้นไม้แห่งความรัก
ความ ผูกพันและกระผมเชื่อว่าเจ้าบ่าวและเจ้าสาวทั้งสองจะหมั่นดูแลรับผิดชอบซึ่ง กันและกัน เหมือนต้นไม้ดังกล่าวมา ส่วนครอบครัวของทั้งสองฝ่ายนั้นจะเป็นเม็ดฝนชโลมความชุ่มชื่นแด่เจ้าบ่าว เจ้าสาวตลอดไป
ท้ายนี้ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงานแต่งงานในวันนี้(โดย อ.ภูวดล ภูภัทรโยธิน )

ลักษณะของนักพูด

ลักษณะของผู้ที่จะเป็นนักพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
                การ จะเป็นนักพูดสามารถฝึกฝนได้พัฒนาได้และบุคคลที่อยากจะเป็นนักพูดนั้นจะต้อง มีอะไรบางอย่างในตัวเอง ที่ทำให้เขาได้เป็นนักพูด ซึ่งผู้ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องลักษณะนิสัยดังนี้
-          มี ความสุขทุกครั้งเมื่อได้ออกไปพูด คนที่จะเป็นนักพูดได้จะต้องเป็นนักถ่ายทอดชอบพูด ชอบสอน ชอบบรรยาย จึงไม่ต้องแปลกใจเมื่อได้รับเชิญให้ไปพูดแล้ว จึงมีความอยากไปพูด อยากไปบรรยาย ไม่ใช่ใครเชิญก็บ่น บอกกับตัวเองในลักษณะทำไมต้องเชิญเรานะ คนอื่นมีตั้งเยอะ
-          เป็น นักฟังที่ดี ฟังแล้วสามารถจับประเด็นในการพูดของวิทยากร สามารถวิเคราะห์ได้ว่านักพูดหรือวิทยากรที่บรรยายอยู่นั้น มีข้อดี ข้อเด่นอะไร แล้วนำข้อดี ข้อเด่นมาปรับ มาพัฒนาเพื่อเป็นแนวทางของตน
-          เป็น นักอ่าน การจะเป็นนักพูดที่ดีต้องมีข้อมูลในการพูด การอ่านหนังสือต่างๆ มากๆ จะทำให้มีข้อมูลที่หลากหลาย เมื่อถึงเวลาบรรยาย หรือต้องพูด จะสามารถนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาปรับใช้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้การเตรียมการพูดเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็ว
-          มี การพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา การที่จะเป็นนักพูดที่ดีและยั่งยืนนั้นจะต้องมีการพัฒนาตนเองตลอดเวลา เพราะโลกของเราในยุคปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ดังนั้น ผู้รักที่จะเป็นนักพูดต้องพัฒนาการพูดของตนเองอยู่เสมอ ต้องแก้ไข ปรับปรุงตนเองเสมอ อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังข่าว ดูละครเพื่อจะได้มีข้อมูลที่ทันสมัยหรือทันเหตุการณ์เพื่อนำไปบรรยายหรือใช้ พูด
-          มีความพยายาม อดทน เมื่ออยากจะเป็นนักพูดและยิ่งถ้าอยากที่จะเป็นนักพูดระดับประเทศก็ยิ่งต้องมีความพยายาม อดทนให้มากขึ้นไปอีก  การ ที่จะเป็นนักพูดที่ดีหรือเก่งนั้นไม่ใช่ผ่านเวทีการพูดมาแค่หนึ่งหรือสอง เวที ถึงเก่ง แต่ยิ่งผ่านเวทีการพูดมากเท่าใด ก็จะมีความเก่งหรือทักษะมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น แล้วจึงจะเก่งขึ้นในที่สุด เพราะฉะนั้น จะต้องมีความพยายาม อดทน บางเวทีอาจล้มเหลว แต่ถ้าฝันเราที่อยากจะเป็นนักพูดยังอยู่ เราก็สามารถอดทนได้มากกว่าปกติ
-           ต้อง มีศิลปะ การที่จะนำศาสตร์ทางการพูดมาใช้ ผู้รักจะเป็นนักพูดต้องมีศิลปะ คือต้องสร้าง ลีลา น้ำเสียง ท่าทาง บุคลิกภาพให้เป็นของตนเอง มีมุขตลกในลีล่าท่าทางของตนเอง เพราะการเลียนแบบนักพูดคนอื่น เราอาจเลียนแบบได้เหมือน แต่มันไม่ใช่ตัวเรา จึงทำให้ขาดการเป็นธรรมชาติ ดังนั้น จงเป็นตัวของตัวเองดีที่สุด แล้วผู้ฟังก็จะประทับใจในความเป็นตัวของตัวเรา
-          ต้องเตรี ยมตัวทุกครั้ง นักพูดที่ดีต้องมีการเตรียมตัว เพราะการเตรียมตัวจะทำให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้นในเวลาพูดจริง เปรียบดัง นักมวยเวลาที่ขึ้นชก เราอาจเห็นว่าใช้เวลาไม่นานในการชกแต่หารู้ไม่ว่า เขาต้องซ้อมชกมวยเป็นเวลานาน จึงจะขึ้นชกจริงได้ เหมือนกัน นักพูดที่ดีต้องมีการเตรียมตัว ยิ่งเตรียมตัวมากยิ่งจะทำให้การพูดแต่ละครั้งเกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
-          ต้อง มีหลักการหรือศาสตร์ในการพูด นักพูดที่ดีต้องมีหลักการหรือเรียนรู้ ศาสตร์หรือตำราการพูดมาบ้างแล้ว หรือเข้ารับการอบรมหลักการมาพอสมควรเมื่อรู้หลักการก็จะทำให้พูดได้ดีขึ้น การรู้หลักการเปรียบดังนักมวยที่มีการอบรมการชกมวยมาจะทำให้รู้เทคนิคในการ ชกไม่ได้ชกเหมือนมวยวัด
ดังนั้นผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จในการเป็นนักพูดต้องมีนิสัยดังกล่าวจึงจะนำพาตนเองไปสู่เป้าหมาย ในท้ายนี้ขอฝากแง่คิดดังนี้  การเป็นนักพูดที่ดีไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์แต่เกิดจากการตั้งใจและการพัฒนาฝึกฝนอย่างไม่หยุดยั้ง  

คุณสมบัติของนักพูด

คุณสมบัติของนักพูดที่ดี
โดย...สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
                คน ที่จะเป็นนักพูดที่ดี ผมคิดว่าเขาคนนั้น น่าจะมีอะไรดีๆในตัวอยู่หลายอย่าง ซึ่งคุณสมบัติที่กระผมคิดว่า น่าจะมีอยู่ในตัวนักพูด ก็คือ
                1.ต้องเป็นนักฟัง  คือคนที่จะพูดเก่งนั้น ต้องเป็นนักฟัง เพราะการฟังมากๆ จะทำให้เกิดการเปรียบเทียบ ข้อมูล ลีลาการพูด  น้ำ เสียง บุคลิกภาพ ท่าทาง อีกทั้งคนที่ฟังมากๆ จะได้รับความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้ในอนาคตอีกต่างหาก การตามฟังนักพูดที่มีชื่อเสียงหลายๆท่าน จะทำให้เราได้ข้อเปรียบเทียบว่า ทำไม นักพูดท่านนี้ เราถึง ชอบ ทำไมนักพูดท่านนี้ เราถึงไม่ชอบ
                2.ต้อง เป็นนักอ่าน การอ่านมากๆ จะทำให้เราได้ข้อมูลมาก เพื่อจะนำไปใช้เมื่อถึงเวลาที่จะต้องพูด นักพูดที่ดีต้องอ่านให้มากๆ โดยเฉพาะ อ่านหนังสือ วารสาร ตำรา ในหัวข้อที่เราชอบหรือถนัด เพื่อที่จะนำไปใช้บรรยาย แต่ถ้าจะให้ดีควรอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า...อ่านแม้กระทั่ง..ถุงกล้วยแขก...
                3.ต้อง เป็นนักจำ คนที่จะพูดแล้วคนชอบ คนนั้นจะต้องมีข้อมูลมาก และที่สำคัญต้องเป็นคนพูดคล่อง พูดไม่ติดขัด ดังนั้น การจะพูดให้คล่องและไม่ติดขัด ไม่คิดนานนั้น นักพูดที่เก่งมักจะต้องมีความจำที่ดีเยี่ยม นักพูดบางคน จำกระทั่ง ตัวเลข สถิติต่างๆ กลอน คำคมต่างๆ มากมาย แล้วนำมาใช้ได้ถูกจังหวะเวลา จึงเป็นที่ประทับใจของผู้ฟัง
                4.ต้อง เป็นนักจด คนที่เป็นนักพูดที่ดี ต้องหมั่นตามฟัง นักพูดท่านอื่นๆให้มาก และต้องอ่านให้มาก แต่สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของความจำ แต่ถ้าเราจำไม่ได้  วิธีที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องจดครับ
หาสมุด บันทึกมาหนึ่งเล่ม มีบทกลอน คำคม หรือคำพูดที่น่าสนใจที่เราฟัง ที่เราอ่านและประทับใจให้จดไว้ เพราะสักวันหนึ่งเราต้องนำ ข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประกอบการพูดของเราในอนาคต
                5.สุด ท้าย นักพูดที่เก่ง จะต้องปรุงเก่ง ปรุงในที่นี้ คือ นำข้อมูลต่างๆ ที่หาได้จากการฟัง การอ่าน การจด นำมาผสมผสาน ให้เกิดความน่าสนใจเพื่อนำไปพูดหรือบรรยาย นักพูดที่ปรุงเก่งเปรียบเทียบแล้วคงเหมือนกับพ่อครัว แม่ครัว ที่ต้องมีสูตรอาหาร  มีกระบวนการปรุงอาหาร แล้วคนชอบ เพราะการทำอาหาร ถ้าให้พ่อครัว แม่ครัว ทำข้าวผัดแข่งกันว่าใครทำอร่อย เรื่องนี้ คงต้องอาศัยการปรุงแหละครับ ( ถึงแม้จะมีวัตถุดิบ ที่เหมือนกัน ข้าว น้ำปลา น้ำตาล น้ำมันพืช ไข่ เนื้อหมู เนื้อไก่ หอม กระเทียม แต่การปรุงให้อร่อยคงต้องอาศัยฝีมือของพ่อครัว แม่ครัวแต่ละท่าน)
                ดัง นั้น การพูดที่ดี เป็นทั้งศาสตร์ ก็คือ การหาความรู้ จากการฟัง การอ่าน การจด การจำ แต่สิ่งที่ทำให้คนพูดเก่งแตกต่างกันก็คือ การใช้ศิลป์นี่เอง ศิลป์ คือ การประยุกต์ใช้ ลีลา ท่าทาง น้ำเสียง บุคลิกภาพ หน้าตา
ฯลฯ และที่สำคัญผู้ที่มีความต้องการจะเป็นนักพูด จะต้อง ฝึกทักษะให้มากๆ เช่น เราชอบนักพูดท่านนี้ พูดตลกดี
แล้วเรามีวิธีไหนบ้างที่จะพูดให้ได้ตลกเหมือนเขาหรือดีกว่าเขา  หรือ เราเห็นนักการเมืองคนนี้พูดปราศรัยหาเสียงเก่ง แล้วเราลองฝึกหัดปราศรัยหาเสียงกับเขาบ้าง แล้วค่อยปรับปรุง เพื่อให้ดีกว่าหรือเก่งกว่าเขา
          แต่ สิ่งที่สำคัญก็คือต้องฝึกบ่อยๆ ถ้าเป็นไปได้ฝึกทุกวันได้ยิ่งดี ไม่ต้องไปท้อแท้ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ ไม่มีเวทีพูดก็ลองหัดพูดคนเดียวดูก็ได้ เช่น นักพูดที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลายคนพูดต่อหน้ากระจกคนเดียว  บางคนพูดบนหลังม้าขณะเดินทางไกล บางคนพูดขณะเดินกลับบ้าน ฯลฯ
                สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจให้กับท่านที่ต้องการเป็นนักพูดที่ดี ระยะทางหมื่นลี้  ต้องเริ่มต้นจากก้าวแรกครับ
               

การพูดกับการประเมินการพูด

จะรู้ว่าพูดดี ต้องมีคนประเมิน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
                ความผิดพลาดของตนเอง เป็นบทเรียนที่นำตนไปสู่ความสำเร็จ
                ปัจจุบันนี้กระผมมีงานอดิเรกคือ ไปบรรยายในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกชน ราชการ บางทีก็ไป ทอล์กโชว์ตามโรงเรียนต่างๆ บ้าง ไปๆ มาๆ รายได้จะดีกว่างานหลักเสียอีก
                จากการบรรยายในสถานที่ต่างๆ มักมีคนถามกระผมว่า ทำอย่างไรจึงจะบรรยายเก่ง กระผม ก็ได้อธิบายว่า อันนี้ไม่ใช่พรสวรรค์นะ มันเป็นพรแสวงต่างหาก เพราะความจริงกระผมไม่สามารถบรรยายได้ตั้งแต่เกิด กระผมมาฝึกฝนเอาทีหลังนี่เอง กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้ กระผมเองก็เคยเป็นนักพูดประเภท สลายม็อบ อยู่นานทีเดียว คือ พูดไปคนค่อยทยอยออกทีละคนสองคน
                จุด สำคัญคือ เราต้องพยายามปรับปรุงตัวเอง และมีคนถามต่อว่าจะปรับปรุงตัวเองอย่างไร คำตอบคือ การพูดแต่ละครั้งเราควรหาคนที่รู้จัก แล้วให้เขาวิจารณ์การพูดของเรา หรือให้ผู้เข้ารับการอบรม ประเมินเราเวลาเราพูดเสร็จ เมื่อเราได้ข้อมูลหรือข้อบกพร่อง เราก็สามารถนำมมาปรับปรุง หรือแก้ไขในการพูดครั้งต่อไป
                ฉะนั้น การประเมินการพูด หมายถึง การวิเคราะห์ว่าที่เราพูดหรือปาฐกถาไปนั้น ต้องแก้ไขอย่างไร ถ้าเป็นไปได้ควรหาเทปไปอัด คำบรรยายของเรา ในปัจจุบันนี้มีเครื่องถ่ายภาพเคลื่อนไหว ถ้าเรานำไปถ่ายภาพการบรรยายของเราได้ยิ่งดี เพราะจะทำให้เรารู้ว่า ท่าทาง กริยา อาการ ของเราเวลาเราพูดเป็นอย่างไร พูดดีหรือไม่ ท่าทางดีหรือเปล่า น้ำเสียง จังหวะในการพูด เหมาะสมหรือเปล่า
                การ ประเมินการพูด เปรียบเทียบก็คล้ายกับเรามีกระจกเงา ส่องดูการแต่งกายส่องบุคลิกท่าทางของเรา และถ้าไม่สวย ไม่ดี ก็มาแก้ไข มาเปลี่ยนแปลงให้ดีเสีย  
                เพราะ ฉะนั้น รักจะพูดให้คนพอใจ อยากจะเป็นนักพูดประเภทพูดแล้วคนชื่นชอบ คนชอบฟัง เมื่อพูดเสร็จแต่ละครั้งอย่าถอนหายใจโล่งอกเป็นอันขาดว่า หมดทุกข์หมดโศกแล้ว ขอให้เก็บความทรงจำนั้นไว้แล้วมานั่งคิดว่า ถ้าจะให้ดีกว่าที่ได้พูดไปเราควรทำอย่างไร เราต้องแก้ไขตรงไหน เขามีความคิดความเห็นเกี่ยวกับการพูดของเราอย่างไร อย่าปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ ถ้าเราใฝ่ใจอยากจะเป็นนักพูดที่มีอนาคต 
                ท่านถูกติ                                ต้องตรอง               มองที่ติ
                แล้วเริ่มริ                                ลงรอย                    คอยแก้ไข
                ติเพื่อก่อ                 ต่อสติ                     ติเข้าไป
                เป็นบันได               ไต่เต้า                      ให้เราดี