วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เส้นทางสู่วิทยากรมืออาชีพ


เส้นทางสู่การเป็นวิทยากร
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การเป็นวิทยากรใครที่มีความสามารถในการนำเสนอ อีกทั้งมีความรู้ มีประสบการณ์ ท่านก็สามารถเป็นวิทยากรได้ แต่หากจะเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จ ในเส้นทางวิทยากร ก็คงต้องเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตนเอง ปรับปรุงตนเอง ในบทความฉบับนี้เราจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในหัวข้อ “ เทคนิคการเป็นวิทยากร ”
                วิทยากร คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวการสำคัญ ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกิดความรู้ความเข้าใจเกิดทักษะ เกิดทัศนคติที่ดี เกี่ยวกับเรื่องที่อบรม จนกระทั่งผู้เข้ารับการอบรมเกิดการเรียนรู้และสามารถจุดประกายความคิด เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ของเรื่องหรือวิชานั้นๆซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว วิทยากรจึงมีบทบาทที่สำคัญหลายประการเช่นอาจเป็นทั้งผู้บรรยาย ผู้สอน ผู้ฝึก พี่เลี้ยง ผู้กำกับการแสดง ตลอดจนผู้ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ เป็นต้น( สุวิทย์ มูลคำ จากหนังสือ ครบเครื่องเรื่องวิทยากร       )
                ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ เป็น วิทยากร จึงมีความสำคัญมากในการฝึกอบรม ในการเรียน ในการสอน หากจะฝึกอบรมให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ วิทยากรคงต้องทำตนเป็นแบบอย่างหรือต้องมีการฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มีความสามารถเหมาะสมก่อนจึงจะบรรยายหรือสอน ให้ผู้เข้ารับการอบรมเกิดความเชื่อถือ ศรัทธา และนำคำสอนไปปฏิบัติตาม
                บุคคลที่ต้องการเป็นวิทยากรคงต้องพัฒนาตนเองดังนี้
                1.บุคลิกภาพ  ของวิทยากรมีความสำคัญในการปรากฏกายต่อหน้าที่ชุมชน ซึ่งบุคลิกภาพในที่นี้คงรวมไปถึง บุคลิกภาพภายในและบุคลิกภาพภายนอก  บุคลิกภาพภายในเช่น ความเชื่อมั่นในตนเอง ความกระตือรือร้น ความจำ อารมณ์ขัน ความคิดริเริ่ม ปฏิภาณไหวพริบ ฯลฯ บุคลิกภาพภายนอกเช่น การแต่งกาย รูปร่างหน้าตา กริยาท่าทาง คำพูดน้ำเสียง ภาษาที่ใช้ ฯลฯ
                2.ต้องมีใจรัก หากว่าไม่มีใจรักในงานด้านบรรยายหรืองานด้านการพูด ก็คงประสบความสำเร็จได้ยาก แต่ถ้าหากมีใจรัก เมื่อพบอุปสรรคก็สามารถฝ่าฟันไปได้
                3.หาเวทีแสดง การที่จะเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จ เราคงต้องหาเวทีแสดง งานวิทยากรก็เป็นงานที่เกี่ยวกับการพูดต่อหน้าที่ชุมชนด้านหนึ่ง ฉะนั้นถ้าอยากพูดต่อหน้าที่ชุมชนให้เก่งก็คงต้องหาเวทีในการฝึก เช่นกัน หากอยากเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จ เราก็ต้องแสวงหาเวทีในการฝึกเช่นกัน
                4.พัฒนาตนเองให้มีความเก่งหลายๆด้าน เช่น การใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการนำเสนอการบรรยายเราก็คงต้องเรียนรู้วิธีการใช้เช่น iPad  หรือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ , ฝึกร้องเพลงประกอบการอบรม ,ฝึกการพูดต่อหน้าที่ชุมชน , ฝึกการเล่าเรื่องให้สนุก , ฝึกการเล่นเกมส์เพื่อการศึกษา ฯลฯ
                5.เป็นนักสะสม จดจำ หาแบบอย่างให้มากๆ การวิทยากรที่ดี เราควรเข้ารับการอบรมบ่อยๆ  อบรมเพื่อหาแบบอย่าง อบรมเพื่อสะสมองค์ความรู้ อบรบเพื่อจดจำในสิ่งที่ดี เพื่อในวันข้างหน้าเราจะได้นำมาประยุกต์ใช้ในเวทีที่เราเป็นวิทยากรในอนาคต
                6.ต้องไม่ล้มเลิกก่อนเวลาอันควร การทำงานทุกอย่างให้ประสบความสำเร็จจะต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน ใช้ความพยายาม ทุกคนสามารถเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จได้  หากแต่ทุกคนจะต้องไม่ล้มเลิกก่อนเวลาอันควร คนที่ล้มเหลว ก็คือคนที่เลิกก่อนที่จะประสบความสำเร็จ การเป็นวิทยากรก็เช่นกัน ไม่มีใครประสบความสำเร็จแค่ 1-2 เวที แต่วิทยากรที่ประสบความสำเร็จย่อมเคยผ่านเวทีเป็นจำนวนมาก บางเวทีก็ล้มเหลว บางเวทีก็ประสบความสำเร็จ แต่หากว่าเวทีไหนที่เขาล้มเหลว วิทยากรที่ประสบความสำเร็จเขาจะไม่ยอมล้มเลิกนั้นเอง เขาจึงเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จในที่สุด
                ทั้ง 6 ข้อข้างต้น คือ บุคลิกภาพ  ต้องมีใจรัก หาเวทีแสดง พัฒนาตนเองให้เก่งหลายด้าน เป็นนักสะสม จดจำ หาแบบอย่างให้มากๆ และต้องไม่ล้มเลิกก่อนเวลาอันควร เป็นเส้นทางเดินที่จะนำพาท่านไปสู่การเป็นวิทยากรที่ประสบความสำเร็จ
                                               

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เทคนิคการเป็นพิธีกร

เทคนิคการเป็นพิธีกร
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การสื่อสารทางการพูดมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การโต้วาที การแซววาที การยอวาที การเป็นวิทยากร การพูดทางการเมือง การพูดแบบทอล์คโชว์  การเป็นพิธีกร ฯลฯ
                ในบทความนี้ กระผมขอเขียนเรื่อง “ เทคนิคการเป็นพิธีกร ” การเป็นพิธีกรไม่ใช่ใครที่ถือไมโครโฟน ใครที่พูดได้จะเป็นพิธีกรได้กันหมดทุกคน ดังนั้นการเป็นพิธีกรที่ดีต้องมีหลักการ มีความเข้าใจในหน้าที่ มีประสบการณ์ มีไหวพริบปฏิภาณหลายๆอย่างประกอบกัน
                ความจริงถ้าพูดถึงพิธีกร พวกเราส่วนใหญ่จะติดภาพของคนที่ดำเนินรายการบนเวที แต่ความจริงแล้ว ความหมายหน้าที่ โอกาสในการเป็นพิธีกรมีมากกว่านั้น เช่น การเป็นพิธีกรผู้ดำเนินรายการทางวิทยุ โทรทัศน์ การเป็นพิธีกรดำเนินรายการอภิปราย แซววาที โต้วาที ยอวาที การเป็นพิธีกรผู้ดำเนินรายการงานพระราชพิธี การเป็นพิธีกรโฆษกของพรรคการเมือง และการเป็นพิธีกรในการแสดงต่างๆ ฯลฯ
                สำหรับบทบาทของคนที่ต้องทำหน้าที่พิธีกร คือ เป็นเจ้าของเวที เป็นผู้ดำเนินรายการ เป็นผู้มีไหวพริบแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดี
                เป็นเจ้าของเวที กล่าวคือ เป็นผู้รับผิดชอบงานทุกอย่างบนเวทีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
                เป็นผู้ดำเนินรายการ คือ เป็นผู้พูดเชื่อมโยงรายการต่างๆ บนเวที มีหน้าที่เชิญประธาน เชิญบุคคลต่างๆขึ้นมาพูดบนเวที  เป็นผู้ประสานงานต่างๆเช่น ประกาศข่าวสาร เชิญคนมาร้องเพลง เป็นผู้กำหนดว่าใครพูดก่อน ใครร้องเพลงก่อนใครร้องทีหลัง  เป็นต้น
                เป็นผู้มีไหวพริบแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดี คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คลาดฝัน กล่าวคือ ไฟดับ ไมโครโฟนไม่ดัง มีเรื่องทะเลาะกันข้างล่างเวที พิธีกรต้องสามารถแก้ไขปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ เป็นอย่างดีเพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
                ลักษณะของงานพิธีกร บางเวทีมีพิธีกรเดี่ยว บางเวทีมีพิธีกรคู่  การเป็นพิธีกรคู่ เราจำเป็นจะต้องแบ่งสัดส่วนการพูดกัน ไม่ใช่มีพิธีกรชายและมีพิธีกรหญิงในงาน แต่พิธีกรชายแย่งพูดหมด พูดตั้ง 90 % แต่ให้พิธีกรหญิงพูดแค่ 10 % อย่างนี้ก็ดูไม่เหมาะสม อีกทั้งต้องดำเนินรายการในลักษณะสนทนากัน ไม่แย่งกันพูดบนเวที
                ทักษะของพิธีกรที่ควรมีคือ ต้องมีทักษะการพูดต่อหน้าที่ชุมชน ต้องรู้ลำดับก่อนหลัง ต้องรู้กาละเทศะ ต้องรู้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องภายในงาน ซึ่งทักษะเหล่านี้จะต้องอาศัยประสบการณ์ในการเป็นพิธีกร เมื่อท่านทำหน้าที่พิธีกรบ่อยขึ้น ท่านก็จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น
                สำหรับเทคนิคบางอย่างที่พิธีกรสามารถนำไปใช้แล้วทำให้งานพิธีกรออกมาดี คือ ระหว่างเชิญประธานขึ้นบนเวที ถ้าอยากให้ประธานดูดีหรืองานออกมาดี พิธีกรควรจะให้ผู้อยู่ร่วมงาน ลุกขึ้นยืน ต้อนรับ  หรือ บางงานอาจจะมีเสียง
ปรบมือ หรือ บางงานอาจจะต้องใช้เสียงดนตรีหรือเสียงเพลง ทั้งนี้แล้วแต่สถานการณ์ พิธีกรต้องรู้จักปรับเปลี่ยน รู้จักกาละเทศะ ในการนำไปใช้เพื่อให้เข้ากับเหตุการณ์
                การแนะนำวิทยากร ก็ควรกล่าวประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน พร้อมแนะนำตำแหน่ง สถานที่ทำงานในปัจจุบัน สุดท้ายจึงแนะนำชื่อเป็นขั้นตอนสุดท้าย
                หน้าที่ของพิธีกร ควรเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ มาถึงงานก่อนเพื่อดูความพร้อมในงาน เตรียมข้อมูลในการพูดมาว่าจะพูดอะไรภายในงาน ตรวจดูเวที ไมโครโฟนดังไหม แสง สี เสียง บนเวทีพร้อมหรือไม่ เมื่อขึ้นเวทีควรกล่าวต้อนรับ แจ้งข้อมูล กำหนดการ ดำเนินรายการ บอกขั้นตอนต่างๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า กล่าวขอบคุณและกล่าวปิดงาน ซึ่งควรทำไปด้วยความกระตือรือร้น
                 ทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นเทคนิคของผู้ที่ต้องการเป็นพิธีกร ซึ่งท่านที่มีความปรารถนาจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ได้ดี จำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติม อีกทั้งต้องพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ เช่น พัฒนาบุคลิกภาพ  พัฒนาการออกเสียงให้ชัดเจน พัฒนาการพูดของตนเองอยู่เสมอ และที่สำคัญที่สุด ท่านจำเป็นจะต้องหาเวทีในการฝึกฝนในการทำหน้าที่พิธีกร กระผมเองก็เคยผ่านเวทีพิธีกรมาอย่างมากมาย บางเวทีก็ราบรื่น บางเวทีก็มีปัญหาบางอย่างแต่ก็สามารถผ่านพ้นมาได้ดี เช่น พิธีกรงานแต่งงาน พิธีกรงานลอยกระทง พิธีกรในงานอภิปราย พิธีกรในงานพิธีต่างๆระดับจังหวัด พิธีกรในงานประชุม พิธีกรในงานสัมมนา ฯลฯ  



เส้นทางนักพูด


ท่านสามารถติดตามชมเพิ่มเติมได้ที่ www.drsuthichai.com

เวทีพูดกับนักพูด


ท่านสามารถติดตามชมเพิ่มเติมได้ที่ www.drsuthichai.com


พูดแล้วดัง ทำแล้วรวย

ท่านสามารถติดตามชมเพิ่มเติมได้ที่ www.drsuthichai.com


คลิป พูดเก่ง เขียนเก่ง ประสบความสำเร็จก่อน

ท่านสามารถติดตามชมเพิ่มเติมได้ที่ www.drsuthichai.com