วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การเตรียมพูดและการฝึกซ้อมการพูด


การเตรียมพูดและการฝึกซ้อมการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
“ ในโลกนี้ยังไม่เคยปรากฏว่านักพูดคนใดที่สามารถพูดโดยไม่เตรียมตัวได้ดีกว่าเตรียมตัวนอกเสียจากเหตุบังเอิญ เท่านั้น”  เป็นคำพูดที่ให้แง่คิดมากสำหรับคำพูดของ ดร.ราล์ฟ ซี.สเม็ดเล่ย์ ผู้ก่อตั้ง Toast Masters International
                สำหรับการเตรียมตัว เราต้องมีการคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้
1.วัตถุประสงค์ในการพูด ว่าการพูดครั้งนั้น เราพูดเพื่ออะไร (พูดให้ความรู้ พูดเพื่อให้ความบันเทิง หรือพูดเพื่อชักชวน)
2.เรื่องที่จะพูด ไม่ควรกว้างเกินไป จนหาประเด็นสำคัญๆไม่ได้ ทั้งนี้ผู้พูดควรพูดเรื่องที่ตนเองมีความถนัด มีประสบการณ์ เพราะหากผู้พูดไม่มีความถนัดหรือมีประสบการณ์ ผู้พูดก็ควรตอบปฏิเสธการพูดในครั้งนั้น
3.รวบรวมเนื้อหาที่จะพูด ผู้พูดควรทำการรวบรวมเนื้อหาที่จะพูดทั้งหมดเสียก่อนไม่ต้องคำนึงถึงว่าเนื้อหาจะใช้ได้หรือไม่ได้ เพราะเราสามารถนำมาตัดต่อหรือเพิ่มเติมได้ในภายหลัง
4.การวางโครงเรื่อง จะขึ้นต้นอย่างไร ตอนกลางอย่างไร และจบอย่างไร
5.การวิเคราะห์ผู้ฟัง เป็นขั้นตอนหนึ่งของการเตรียมตัว  เพราะหากว่าเรารู้ว่าผู้ฟังเป็นใครเราสามารถยกตัวอย่างต่างๆหรือทำกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้ฟังมากยิ่งขึ้น
6.การฝึกซ้อม การฝึกซ้อมการพูดมีความสำคัญต่อความสำเร็จและความล้มเหลว ในการพูดแต่ละครั้ง ยิ่งเป็นนักพูดหน้าใหม่หรือกำลังฝึกฝนการพูดใหม่ๆ ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการฝึกซ้อม แต่สำหรับนักพูดหน้าเก่า เขามักมีเวทีแสดงการพูดมากดังนั้น เขาจึงใช้เวทีต่างๆในการพูดเพื่อฝึกซ้อมการพูดไปในตัว
                การฝึกซ้อมการพูดมีหลากหลายวิธีด้วยกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้ฟัง สถานที่ที่จะไปพูด ฐานะของผู้พูด เช่น การพูดในงานโต้วาที การพูดในฐานะวิทยากรบรรยายให้ความรู้ การพูดในงานปาฐกถา ฯลฯ ซึ่งแต่ละงานมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่ว่าผู้พูดจะเตรียมสื่อหรือมีทัศนะอุปกรณ์ช่วยในการพูดมากน้อยเพียงใด
                อีกทั้งจริตในการฝึกซ้อมการพูดของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ท่านผู้อ่านก็ไม่ควรเลียนแบบ แต่ควรค้นหาแนวทางของตนเอง เช่น บางคนฝึกซ้อมต่อหน้ากระจกแล้วทำให้การพูดออกมาดี , บางคนฝึกซ้อมในรถยนต์ , บางคนฝึกซ้อมต่อหน้าเพื่อน , บางคนฝึกซ้อมโดยเปิดสไลด์การนำเสนอไปด้วยเสมือนกับกำลังพูดกับผู้ฟังจริงๆ ฯลฯ ทั้งนี้การฝึกซ้อมจะได้ผลดีเพียงใด คงขึ้นอยู่กับนิสัย จริต ความชอบของแต่ละบุคคล ซึ่งเราต้องค้นหาจากตัวของเราเอง
                การวางแผนการพูดมีความสำคัญไม่น้อยต่อความสำเร็จ ตัวอย่าง เราจะขึ้นต้นอย่างไรในการนำเสนอ นักพูดหลายท่านในยุคปัจจุบันมักมีการขึ้นต้นด้วยเพลงบ้าง ด้วยคลิป VCD บ้าง ขึ้นต้นด้วยสไลด์สำคัญๆบ้าง แล้วจะมีการเชื่อมโยงเนื้อหาอย่างไรเพื่อให้เกิดความกลมกลืน และตอนจบจะจบอย่างไร เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความประทับใจ สิ่งเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อการพูดแต่ละครั้ง การฝึกซ้อมการพูดเราจึงควรให้ความสำคัญต่อการวางแผนการพูด
                การซ้อมพูดที่ดีไม่ควรท่องจำคำต่อคำ เพราะจะทำให้ผู้ฝึกซ้อมเกิดความเบื่อหน่าย หากจำไม่ได้ก็จะเสียเวลา อีกทั้งการท่องจำแล้วนำไปพูดจะทำให้ผู้ฟังสัมผัสได้ เนื่องจากไม่เป็นธรรมชาติ ไร้ชีวิตชีวา ทั้งนี้ควรซ้อมพูดมาจากใจ ซ้อมพูดด้วยความกระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า เสมือนการพูดบนเวทีจริงๆ
                สำหรับประโยชน์ของการฝึกซ้อมการพูด นักพูดที่ประสบความสำเร็จทั้งในยุคอดีต ยุคปัจจุบัน จะขาดการฝึกซ้อมไปไม่ได้เลย เพราะการฝึกซ้อมจะทำให้ท่านเกิดความมั่นใจในการพูด การฝึกซ้อมจะทำให้ท่านจำเนื้อหาในการพูดได้ดีกว่าการไม่มีการฝึกซ้อม และการฝึกซ้อมการพูดจะทำให้ท่านได้มีการแก้ไขสำนวน เนื้อหาของการพูดเพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
การพูดที่ยาวเกินไปหรือสั้นเกินไป  ส่วนใหญ่เกิดจากการเตรียมตัวและการฝึกซ้อมที่ไม่ดีพอ

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การฝึกซ้อมการพูด

พูดอย่างมีกึ๋น
ตอน : การฝึกซ้อมการพูด
โดย..ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การฝึกซ้อมการพูดมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จและความล้มเหลว ในการไปพูดจากสถานการณ์จริงๆ เพราะการฝึกซ้อมการพูดมีประโยชน์หลายๆอย่าง เช่น จะทำให้เราเกิดความมั่นใจในตนเองมากยิ่งขึ้น , ทำให้เราพูดคล่องขึ้นโดยไม่ต้องคิดให้เสียเวลา , ทำให้พูดได้ครบประเด็นต่างๆของเรื่องที่พูดตามความต้องการ , ทำให้บริหารเวลาในการพูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ
                เมื่อคุณต้องการประสบความสำเร็จในการพูดคุณจะละเลยการฝึกซ้อมไม่ได้เลย เพราะการพูดก็ต้องอาศัยทักษะเหมือนกับการเล่นกีฬา การเล่นดนตรี การวาดรูป ฉะนั้น หากเราได้เตรียมบทในการพูดแล้ว ขอให้ท่านจงฝึกซ้อมการพูด และหากท่านมีโอกาสพูดเรื่องนั้นๆ หลายๆเวทีก็จะทำให้ท่านได้มีโอกาสฝึกซ้อมมากยิ่งขึ้น
                การฝึกซ้อมในจินตนาการ หากท่านได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่สอนเกี่ยวกับเรื่องความสำเร็จ ภายในหนังสือบางเล่มก็มักจะบรรยายถึงเรื่องการซ้อมในจินตนาการ กล่าวคือ มีการนำนักกีฬาบาสเกตบอลมา 3 คน แล้วให้คนที่  1 ได้มีการฝึกชู้ดลูกบาสเกตบอลของจริง แล้วให้คนที่ 2 ฝึกชู้ดลูกบาสเกตบอลในจินตนาการและให้คนที่ 3 ไม่ต้องฝึกอะไรเลย ผลปรากฏว่า คนที่ 1 และ คนที่ 2 ทำคะแนนในการชู้ดลูกบาสเกตบอลได้เท่ากัน สำหรับคนที่ 3 ทำคะแนนได้น้อยมาก
                หากท่านไม่มีเวลาฝึกซ้อมการพูดจริง ก็ขอให้ท่านแบ่งเวลาฝึกซ้อมโดยการใช้จินตนาการ และควรจินตนาการว่ามีผู้ฟังท่านเป็นจำนวนมาก เป็นหลักพันได้ยิ่งดี เพราะบางคนจินตนาการว่ามีคนสิบยี่สิบคนฟัง แล้วพอไปพูดจริงมีคนฟังเป็น พันคนเลยทำให้ประหม่าพูดไม่ออก แต่หากว่าเราจินตนาการว่ามีคนฟังเราเป็นพันคน แล้วไปพูดจริงมีแค่หลักร้อย ท่านก็จะไม่กลัวและเกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้น
                มีคนเคยตั้งคำถามผมว่า แล้วจะฝึกซ้อมการพูดอย่างไรดี ความจริงการพูดเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง การฝึกซ้อมการพูดจึงไม่มีรูปแบบตายตัว เพราะบางคนฝึกซ้อมการพูดต่อหน้ากระจก ได้ผลดี แต่บางคนบอกว่าน่าเบื่อ , บางคนฝึกซ้อมการพูดโดยการเดินตามชายหาดทะเล , บางคนฝึกซ้อมการพูดต่อหน้าเพื่อนๆ , บางคนฝึกพูดในจินตนาการ ทั้งนี้ไม่มีรูปแบบตายตัว ขอให้ท่านลองหาวิธีการ การฝึกซ้อมการพูดในแบบฉบับของท่านเอง จะเป็นการดีที่สุด เพราะนักพูดชื่อดังในระดับโลกและในระดับประเทศมีวิธีการฝึกซ้อมที่ไม่เหมือนกัน
                การฝึกซ้อมการพูดมีแบบฝึกซ้อมด้วยตนเอง  ผู้ฝึกจะต้องอาศัยประสบการณ์ในการขึ้นพูดบ่อยๆ และค่อยปรับปรุงแก้ไขการพูดของตนเองให้พัฒนาขึ้น ซึ่งในยุคปัจจุบัน เราสามารถบันทึก VDO การพูดในแต่ละครั้งของเราเพื่อมาดูจะได้เห็นข้อที่ควรปรับปรุง ข้อผิดพลาด ข้อเด่น ของตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การฝึกซ้อมการพูดที่เป็นระบบ ในปัจจุบัน มีสถาบันที่สอนการพูดเกิดขึ้นอย่างมากมายกว่าในอดีตซึ่งท่านสามารถหาเรียนหรือลงทะเบียนเรียนได้ อีกทั้งมีระบบการฝึกพูดเกิดขึ้นมาหลายระบบ เช่น การฝึกพูดระบบโทสต์มาสเตอร์ ท่านสามารถฝึกได้จาก สมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย , สโมสรฝึกการพูดในจังหวัดต่างๆ  การฝึกพูดระบบเดล คาร์เนกี้ และระบบการพูดแบบการฑูต ซึ่งรูปแบบการฝึกซ้อมแบบเป็นระบบจะมีอาจารย์ วิทยากรหรือบุคคลที่มีประสบการณ์ค่อยชี้แนะในการพูดแต่ละครั้ง เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ฝึกซ้อมการพูดได้นำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง
                สำหรับหลายๆท่านที่มีหน้าที่การงานเป็นวิทยากร ท่านก็ควรมีการฝึกซ้อมการใช้ทัศนอุปกรณ์ต่างๆประกอบการพูดเพื่อทำให้การพูดของท่านเป็นไปได้ดียิ่งขึ้นในเวลาที่จะต้องไปพูดจริงๆ เช่น การฝึกซ้อมการพูดและหัดเปิดสไลด์ไปด้วย , การฝึกใช้เทคโนโลยีต่างๆ , การฝึกท่าทางในการประกอบการพูด ฯลฯ
                และเมื่อคุณได้ฝึกซ้อมอย่างเต็มที่แล้ว ก่อนพูดจริงคุณควรประเมินอีกครั้งหนึ่ง เช่น การจะเพิ่มตัวอย่างเรื่องใดหรือตัดตัวอย่างเรื่องใดออกไป การใช้เวลาในการพูดเหมาะสมไหม การเตรียมสไลด์น้อยไปหรือมากเกินไปหรือเปล่า การใช้สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงในการพูดเหมาะสมหรือเปล่า เป็นต้น
               

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ศิลปะการพูดในที่ประชุม


ศิลปะการพูดในที่ประชุม
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การพูดในที่ประชุม มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมากในการอยู่ร่วมกันในสังคม ยิ่งท่านใดที่มีตำแหน่งผู้บริหาร เป็นผู้นำ ก็ยิ่งจะต้องเข้าร่วมประชุมมากกว่าลูกน้องหรือผู้ตาม มารยาทการประชุมรวมทั้งการพูดในที่ประชุมจึงเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน สำหรับมารยาทและการพูดในที่ประชุมที่ดีมีดังนี้
                1.เราควรจะเข้าร่วมประชุมให้ตรงเวลา  อีกทั้งประธานการประชุมก็ควรเปิดการประชุมในตรงเวลาด้วย สำหรับสังคมไทยมีปัญหามาก เพราะหลายแห่งเปิดประชุมช้ากว่ากำหนดการที่ได้ตั้งเอาไว้ เนื่องจากคนไทยเป็นจำนวนมากไม่ค่อยรักษาเวลา อีกทั้งยังเข้าร่วมประชุมช้า จึงทำให้เลิกประชุมช้ากว่ากำหนดการที่วางเอาไว้  ทำให้การประชุมในครั้งนั้นมีปัญหามากคือ เปิดประชุมช้า ปิดประชุมช้า
                2.ก่อนแสดงความคิดเห็นแต่ละครั้ง ควรขออนุญาตประธานในที่ประชุม อาจยกมือก่อนแล้วจึงพูด แสดงความคิดเห็น อีกทั้งประธานในที่ประชุมควรบอกกฎกติกาก่อนเข้าร่วมประชุม เช่น ท่านสมาชิกท่านใด ต้องการแสดงความคิดเห็นกรุณายกมือก่อนนะครับ
                3.ใช้ภาษา คำพูด น้ำเสียงที่สุภาพ ให้เกียรติต่อที่ประชุม ไม่ควรพูดจาก้าวร้าว ไม่ควรพูดเล่นจนเกินไป แต่อาจพูดสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลายได้บ้าง
                4.ควรพูดให้สั้น กระชับ  ไม่เยิ่นเย้อ หลายท่านเวลาแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม มักพูดจายาวจนเกินไป อีกทั้งยังพูดจาไม่รู้เรื่องจนผู้ฟังจับประเด็นไม่ได้ การพูดจายาวจนเกินไปอาจทำให้เสียเวลาและสมาชิกในที่ประชุมเกินการเบื่อหน่าย อีกทั้งการประชุมหลายแห่ง มักมีผู้ที่เสนอความคิดเห็นซ้ำๆ กัน บางคนยกมือพูดแสดงความคิดเห็นตั้ง 3-4 ครั้ง ดังนั้น ประธานในที่ประชุม ควรเปิดโอกาสให้สมาชิกท่านอื่นที่ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นได้มีโอกาสได้พูดบ้าง
                5.ควรตั้งใจฟังการประชุม หลายๆคนมักเข้าใจผิดคิดว่า คนที่พูดในที่ประชุม เก่ง ไม่มีความจำเป็นจะต้องฟังการประชุมก็ได้ แต่ความจริงแล้ว คนที่แสดงความคิดเห็นหรือพูดจาในที่ประชุมเก่ง โดนใจผู้ฟัง มักเป็นนักฟังที่ดี เขาจะฟังการประชุม แล้วหัดจับประเด็นต่างๆ อีกทั้งการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมมักไม่พูดจาหรือแสดงความคิดเห็นซ้ำกับคนที่ได้พูดไปแล้ว เพราะถ้าหากเขาไม่ฟังการประชุม เขาอาจจะต้องแสดงความคิดเห็นหรือตั้งคำถามเหมือนกับคนที่พูดไปแล้วก็จะทำให้ผู้ฟังส่วนใหญ่ไม่ศรัทธา อีกทั้งอาจถูกดูถูกเอาได้ง่ายๆ
                6.ต้องทำการบ้านมาก่อนประชุม คนที่แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมได้เก่ง มักเป็นคนที่มีข้อมูลมากกว่าคนอื่น อีกทั้งยังทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เช่น การเอาข้อมูลการประชุมเก่าๆ มาดู , อีกทั้งการประชุมบางแห่งได้ส่งจดหมายและกำหนดการต่างๆไปให้อ่านก่อน เขาก็จะทำการบ้านในประเด็นต่างๆ วาระการประชุม
                7.เวลาลุกขึ้นออกไปทำธุระหรือกลับเข้ามานั่งประชุมต่อ ควรทำความเคารพประธานหรือที่ประชุม  อาจจะยืนโค้งสักเล็กน้อย
                สำหรับการพูดในที่ประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้พูดควรทำการศึกษารูปแบบของการประชุมแบบต่างๆด้วย เช่น การสัมมนา  การอภิปราย  การบรรยาย การสมัชชา  สุนทรพจน์  เป็นต้น
                อีกทั้งการพูดจาในที่ประชุมที่ดี เราควรต้องทราบบทบาทของเราก่อนว่าเรามีบทบาทหรือทำหน้าที่อะไร เช่น เป็นประธาน เป็นสมาชิก  เพราะหากท่านเป็นประธานการพูดจาในที่ประชุมของท่านจะต้องมีลักษณะ การพูดที่เป็นการกำหนดแนวทางการประชุม กล่าวเปิด กล่าวปิดประชุม สร้างบรรยากาศที่ดี กระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น หรือ หากท่านเป็นสมาชิกหรือผู้เข้าร่วมประชุม ท่านจะต้องแสดงบทบาทให้สอดคล้องกับระเบียบวาระ อีกทั้งแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่ที่ประชุม เป็นต้น
               

วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

พูดโทรศัพท์อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ


พูดโทรศัพท์อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
เมื่อต้องพูด  ใยมิพูด  ให้ไพเราะ                       ใยมิเหยาะ  แยมสักนิด  ปิดผิวขนม
เมื่ออยากเผย  ความดำริ  หรือติชม                 อยากประหงม  อยากบัญชา  หรือว่านา
เป็นบทประพันธ์ของหลวงพ่อพุทธทาส ที่ได้ประพันธ์ไว้ ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับการพูดการจาได้เป็นอย่างดี
                สำหรับเรื่องการพูดโทรศัพท์ กระผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกคน....ในยุคปัจจุบัน ใช้โทรศัพท์เพื่อพูดคุยกันมากกว่าการพูดโดยการออกไปหาหรือไปพบกันเหมือนในอดีต ยิ่งเป็นประเทศที่พัฒนาหรือประเทศที่ร่ำรวย มักมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย การใช้โทรศัพท์จึงเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญ
                การใช้โทรศัพท์เพื่อให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โทรศัพท์เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2419 ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย นายอะเล็กแซนเดอร์ เกรแฮม เบล (Alexander Graham Bell) และในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยจึงได้นำโทรศัพท์เข้ามาใช้
                หลายๆท่านอาจตั้งคำถามในใจว่า การใช้โทรศัพท์มีประโยชน์อย่างไร คำตอบคือ
-                    ประหยัดเวลาในการเดินทางไปในที่ต่างๆ
-                    ประหยัดค่าใช้จ่าย ในการเดินทาง
-                    ใช้สำหรับนัดหมายหรือติดต่อ เพื่อเข้าพบหรือไปหา
-                    ใช้ในการติดต่อสื่อสารที่ต้องการความรวดเร็วกว่าสื่ออื่นๆ เช่น จดหมาย,การประกาศข่าว เป็นต้น
การใช้โทรศัพท์จึงเป็นการติดต่อสื่อสารอย่างหนึ่ง ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร โดยมีสื่อคือโทรศัพท์มาอยู่
ตรงกลาง  การใช้โทรศัพท์จะแตกต่างกับสื่อบางสื่อกล่าวคือ จะไม่เห็นหน้ากันหรือ Face-to-Face Communication (ยกเว้นโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่ทันสมัย อาจมีระบบการติดตั้งกล้อง)
                ศิลปะในการใช้โทรศัพท์อย่างมีประสิทธิภาพจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายๆอย่างทั้งต่อตัวท่านเองและองค์กรหรือหน่วยงาน ซึ่งท่านมีความจำเป็นจะต้องฝึกฝน เช่น
-                    การพูดโทรศัพท์สำหรับงานประชาสัมพันธ์
-                    การพูดโทรศัพท์สำหรับงานบริการ
-                    การพูดโทรศัพท์สำหรับงานขายสินค้า
-                    การพูดโทรศัพท์สำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล
สำหรับสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการพูดโทรศัพท์คือ  ท่านไม่ควรทานอาหารหรือสิ่งขบเคี้ยวระหว่างรับโทรศัพท์ , คำ
แรกที่ควรกล่าวในตอนรับโทรศัพท์คือคำว่า “ ฮัลโหล” , ไม่ควรแสดงอารมณ์อาการรำคาญ บ่น ระหว่างรับโทรศัพท์ แต่ควรใช้น้ำเสียงที่ยิ้ม(The Voice With a Smile) ในระหว่างที่พูดโทรศัพท์ , อย่าวางสายทิ้งไว้เฉยๆ นานๆ , การใช้วาจาที่ไม่สุภาพ ไม่น่าฟัง , การใช้โทรศัพท์พูดเรื่องส่วนตัวในเวลางานมากจนเกินไป ฯลฯ
                                สำหรับการพูดเพื่อขายสินค้าหรือบริการทางโทรศัพท์  ตามหลักการของ ไอด้า(AIDA) มีดังนี้
                                A  มาจาก ATTENTION  เอาใจใส่
                                I   มาจาก  INTEREST    สนใจ
                                D  มาจาก  DESIRE       อยากได้
                                A  มาจาก   ACTION   กระทำ ( ปิดการขาย)
                การโทรศัพท์เพื่อขายสินค้าและบริการ ก่อนเริ่มต้นเปิดฉากการพูด คุณจะต้องทำให้ลูกค้าหรือผู้รับบริการเกิดความเอาใจใส่(ATTENTION)ในสิ่งที่คุณเสนอก่อน แล้วจึงพูดให้เขาสนใจ(INTEREST)ในสินค้าและบริการของคุณมากขึ้น จนในที่สุดเขาเกิดความต้องการอยากได้สินค้าหรือบริการ(DESIRE)  คุณจึงกระทำการปิดการขาย(ACTION)ในทันที
                กล่าวโดยสรุปว่า การพูดโทรศัพท์อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องของ ศาสตร์และศิลปะ ซึ่งเราทุกๆคนสามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ พร้อมทั้งฝึกฝนได้ เพราะการใช้โทรศัพท์อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดเรื่องของค่าใช้จ่าย  ลดเวลาในการเดินทาง เพิ่มยอดขาย  ช่วยในการบริการลูกค้า เป็นต้น