วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การฝึกซ้อมการพูด

พูดอย่างมีกึ๋น
ตอน : การฝึกซ้อมการพูด
โดย..ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การฝึกซ้อมการพูดมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จและความล้มเหลว ในการไปพูดจากสถานการณ์จริงๆ เพราะการฝึกซ้อมการพูดมีประโยชน์หลายๆอย่าง เช่น จะทำให้เราเกิดความมั่นใจในตนเองมากยิ่งขึ้น , ทำให้เราพูดคล่องขึ้นโดยไม่ต้องคิดให้เสียเวลา , ทำให้พูดได้ครบประเด็นต่างๆของเรื่องที่พูดตามความต้องการ , ทำให้บริหารเวลาในการพูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ
                เมื่อคุณต้องการประสบความสำเร็จในการพูดคุณจะละเลยการฝึกซ้อมไม่ได้เลย เพราะการพูดก็ต้องอาศัยทักษะเหมือนกับการเล่นกีฬา การเล่นดนตรี การวาดรูป ฉะนั้น หากเราได้เตรียมบทในการพูดแล้ว ขอให้ท่านจงฝึกซ้อมการพูด และหากท่านมีโอกาสพูดเรื่องนั้นๆ หลายๆเวทีก็จะทำให้ท่านได้มีโอกาสฝึกซ้อมมากยิ่งขึ้น
                การฝึกซ้อมในจินตนาการ หากท่านได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่สอนเกี่ยวกับเรื่องความสำเร็จ ภายในหนังสือบางเล่มก็มักจะบรรยายถึงเรื่องการซ้อมในจินตนาการ กล่าวคือ มีการนำนักกีฬาบาสเกตบอลมา 3 คน แล้วให้คนที่  1 ได้มีการฝึกชู้ดลูกบาสเกตบอลของจริง แล้วให้คนที่ 2 ฝึกชู้ดลูกบาสเกตบอลในจินตนาการและให้คนที่ 3 ไม่ต้องฝึกอะไรเลย ผลปรากฏว่า คนที่ 1 และ คนที่ 2 ทำคะแนนในการชู้ดลูกบาสเกตบอลได้เท่ากัน สำหรับคนที่ 3 ทำคะแนนได้น้อยมาก
                หากท่านไม่มีเวลาฝึกซ้อมการพูดจริง ก็ขอให้ท่านแบ่งเวลาฝึกซ้อมโดยการใช้จินตนาการ และควรจินตนาการว่ามีผู้ฟังท่านเป็นจำนวนมาก เป็นหลักพันได้ยิ่งดี เพราะบางคนจินตนาการว่ามีคนสิบยี่สิบคนฟัง แล้วพอไปพูดจริงมีคนฟังเป็น พันคนเลยทำให้ประหม่าพูดไม่ออก แต่หากว่าเราจินตนาการว่ามีคนฟังเราเป็นพันคน แล้วไปพูดจริงมีแค่หลักร้อย ท่านก็จะไม่กลัวและเกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้น
                มีคนเคยตั้งคำถามผมว่า แล้วจะฝึกซ้อมการพูดอย่างไรดี ความจริงการพูดเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง การฝึกซ้อมการพูดจึงไม่มีรูปแบบตายตัว เพราะบางคนฝึกซ้อมการพูดต่อหน้ากระจก ได้ผลดี แต่บางคนบอกว่าน่าเบื่อ , บางคนฝึกซ้อมการพูดโดยการเดินตามชายหาดทะเล , บางคนฝึกซ้อมการพูดต่อหน้าเพื่อนๆ , บางคนฝึกพูดในจินตนาการ ทั้งนี้ไม่มีรูปแบบตายตัว ขอให้ท่านลองหาวิธีการ การฝึกซ้อมการพูดในแบบฉบับของท่านเอง จะเป็นการดีที่สุด เพราะนักพูดชื่อดังในระดับโลกและในระดับประเทศมีวิธีการฝึกซ้อมที่ไม่เหมือนกัน
                การฝึกซ้อมการพูดมีแบบฝึกซ้อมด้วยตนเอง  ผู้ฝึกจะต้องอาศัยประสบการณ์ในการขึ้นพูดบ่อยๆ และค่อยปรับปรุงแก้ไขการพูดของตนเองให้พัฒนาขึ้น ซึ่งในยุคปัจจุบัน เราสามารถบันทึก VDO การพูดในแต่ละครั้งของเราเพื่อมาดูจะได้เห็นข้อที่ควรปรับปรุง ข้อผิดพลาด ข้อเด่น ของตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การฝึกซ้อมการพูดที่เป็นระบบ ในปัจจุบัน มีสถาบันที่สอนการพูดเกิดขึ้นอย่างมากมายกว่าในอดีตซึ่งท่านสามารถหาเรียนหรือลงทะเบียนเรียนได้ อีกทั้งมีระบบการฝึกพูดเกิดขึ้นมาหลายระบบ เช่น การฝึกพูดระบบโทสต์มาสเตอร์ ท่านสามารถฝึกได้จาก สมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย , สโมสรฝึกการพูดในจังหวัดต่างๆ  การฝึกพูดระบบเดล คาร์เนกี้ และระบบการพูดแบบการฑูต ซึ่งรูปแบบการฝึกซ้อมแบบเป็นระบบจะมีอาจารย์ วิทยากรหรือบุคคลที่มีประสบการณ์ค่อยชี้แนะในการพูดแต่ละครั้ง เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ฝึกซ้อมการพูดได้นำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง
                สำหรับหลายๆท่านที่มีหน้าที่การงานเป็นวิทยากร ท่านก็ควรมีการฝึกซ้อมการใช้ทัศนอุปกรณ์ต่างๆประกอบการพูดเพื่อทำให้การพูดของท่านเป็นไปได้ดียิ่งขึ้นในเวลาที่จะต้องไปพูดจริงๆ เช่น การฝึกซ้อมการพูดและหัดเปิดสไลด์ไปด้วย , การฝึกใช้เทคโนโลยีต่างๆ , การฝึกท่าทางในการประกอบการพูด ฯลฯ
                และเมื่อคุณได้ฝึกซ้อมอย่างเต็มที่แล้ว ก่อนพูดจริงคุณควรประเมินอีกครั้งหนึ่ง เช่น การจะเพิ่มตัวอย่างเรื่องใดหรือตัดตัวอย่างเรื่องใดออกไป การใช้เวลาในการพูดเหมาะสมไหม การเตรียมสไลด์น้อยไปหรือมากเกินไปหรือเปล่า การใช้สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงในการพูดเหมาะสมหรือเปล่า เป็นต้น
               

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ศิลปะการพูดในที่ประชุม


ศิลปะการพูดในที่ประชุม
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การพูดในที่ประชุม มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมากในการอยู่ร่วมกันในสังคม ยิ่งท่านใดที่มีตำแหน่งผู้บริหาร เป็นผู้นำ ก็ยิ่งจะต้องเข้าร่วมประชุมมากกว่าลูกน้องหรือผู้ตาม มารยาทการประชุมรวมทั้งการพูดในที่ประชุมจึงเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน สำหรับมารยาทและการพูดในที่ประชุมที่ดีมีดังนี้
                1.เราควรจะเข้าร่วมประชุมให้ตรงเวลา  อีกทั้งประธานการประชุมก็ควรเปิดการประชุมในตรงเวลาด้วย สำหรับสังคมไทยมีปัญหามาก เพราะหลายแห่งเปิดประชุมช้ากว่ากำหนดการที่ได้ตั้งเอาไว้ เนื่องจากคนไทยเป็นจำนวนมากไม่ค่อยรักษาเวลา อีกทั้งยังเข้าร่วมประชุมช้า จึงทำให้เลิกประชุมช้ากว่ากำหนดการที่วางเอาไว้  ทำให้การประชุมในครั้งนั้นมีปัญหามากคือ เปิดประชุมช้า ปิดประชุมช้า
                2.ก่อนแสดงความคิดเห็นแต่ละครั้ง ควรขออนุญาตประธานในที่ประชุม อาจยกมือก่อนแล้วจึงพูด แสดงความคิดเห็น อีกทั้งประธานในที่ประชุมควรบอกกฎกติกาก่อนเข้าร่วมประชุม เช่น ท่านสมาชิกท่านใด ต้องการแสดงความคิดเห็นกรุณายกมือก่อนนะครับ
                3.ใช้ภาษา คำพูด น้ำเสียงที่สุภาพ ให้เกียรติต่อที่ประชุม ไม่ควรพูดจาก้าวร้าว ไม่ควรพูดเล่นจนเกินไป แต่อาจพูดสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลายได้บ้าง
                4.ควรพูดให้สั้น กระชับ  ไม่เยิ่นเย้อ หลายท่านเวลาแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม มักพูดจายาวจนเกินไป อีกทั้งยังพูดจาไม่รู้เรื่องจนผู้ฟังจับประเด็นไม่ได้ การพูดจายาวจนเกินไปอาจทำให้เสียเวลาและสมาชิกในที่ประชุมเกินการเบื่อหน่าย อีกทั้งการประชุมหลายแห่ง มักมีผู้ที่เสนอความคิดเห็นซ้ำๆ กัน บางคนยกมือพูดแสดงความคิดเห็นตั้ง 3-4 ครั้ง ดังนั้น ประธานในที่ประชุม ควรเปิดโอกาสให้สมาชิกท่านอื่นที่ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นได้มีโอกาสได้พูดบ้าง
                5.ควรตั้งใจฟังการประชุม หลายๆคนมักเข้าใจผิดคิดว่า คนที่พูดในที่ประชุม เก่ง ไม่มีความจำเป็นจะต้องฟังการประชุมก็ได้ แต่ความจริงแล้ว คนที่แสดงความคิดเห็นหรือพูดจาในที่ประชุมเก่ง โดนใจผู้ฟัง มักเป็นนักฟังที่ดี เขาจะฟังการประชุม แล้วหัดจับประเด็นต่างๆ อีกทั้งการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมมักไม่พูดจาหรือแสดงความคิดเห็นซ้ำกับคนที่ได้พูดไปแล้ว เพราะถ้าหากเขาไม่ฟังการประชุม เขาอาจจะต้องแสดงความคิดเห็นหรือตั้งคำถามเหมือนกับคนที่พูดไปแล้วก็จะทำให้ผู้ฟังส่วนใหญ่ไม่ศรัทธา อีกทั้งอาจถูกดูถูกเอาได้ง่ายๆ
                6.ต้องทำการบ้านมาก่อนประชุม คนที่แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมได้เก่ง มักเป็นคนที่มีข้อมูลมากกว่าคนอื่น อีกทั้งยังทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เช่น การเอาข้อมูลการประชุมเก่าๆ มาดู , อีกทั้งการประชุมบางแห่งได้ส่งจดหมายและกำหนดการต่างๆไปให้อ่านก่อน เขาก็จะทำการบ้านในประเด็นต่างๆ วาระการประชุม
                7.เวลาลุกขึ้นออกไปทำธุระหรือกลับเข้ามานั่งประชุมต่อ ควรทำความเคารพประธานหรือที่ประชุม  อาจจะยืนโค้งสักเล็กน้อย
                สำหรับการพูดในที่ประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้พูดควรทำการศึกษารูปแบบของการประชุมแบบต่างๆด้วย เช่น การสัมมนา  การอภิปราย  การบรรยาย การสมัชชา  สุนทรพจน์  เป็นต้น
                อีกทั้งการพูดจาในที่ประชุมที่ดี เราควรต้องทราบบทบาทของเราก่อนว่าเรามีบทบาทหรือทำหน้าที่อะไร เช่น เป็นประธาน เป็นสมาชิก  เพราะหากท่านเป็นประธานการพูดจาในที่ประชุมของท่านจะต้องมีลักษณะ การพูดที่เป็นการกำหนดแนวทางการประชุม กล่าวเปิด กล่าวปิดประชุม สร้างบรรยากาศที่ดี กระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น หรือ หากท่านเป็นสมาชิกหรือผู้เข้าร่วมประชุม ท่านจะต้องแสดงบทบาทให้สอดคล้องกับระเบียบวาระ อีกทั้งแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่ที่ประชุม เป็นต้น