วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

หลักการเตรียมการพูด

การเตรียมการพูด
โดย...สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
            คน ที่จะเป็นนักพูด นักบรรยาย วิทยากร และนักพูดทุกประเภท ที่ดี ที่เก่ง และมีชื่อเสียงได้นั้น คนๆนั้นจะต้องมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ แต่คุณสมบัติที่สำคัญมากที่สุด ข้อหนึ่งก็คือ
                การ เตรียมการพูดนั้นเอง เพราะการเตรียมการพูดจะทำให้นักพูด ท่านนั้นเกิดความมั่นใจในตนเอง การเตรียมการพูดจะทำให้รู้โครงสร้างของเรื่องที่จะพูดและเนื้อหาโดยรวม
                การ พูด ก็เหมือนกับการแสดง หรือ นักพูดก็เหมือนนักแสดงอย่างหนึ่ง ก็คือ ถ้ามีการเตรียมการพูด มีการฝึกซ้อมอย่างดี ก็จะทำให้การพูดครั้งนั้นๆ ประสบความสำเร็จ นักแสดงก็เช่นกัน ดังนั้นการเตรียมการพูดจึงมีความสำคัญมากจนมีผู้กล่าวว่า ผลสำเร็จของการพูดแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับการเตรียมการพูดประมาณ 70 % เหลืออีก 30% อยู่ที่การพูดบนเวที
                ซึ่งการเตรียมการพูดที่ดีนั้น จะต้องมีหลักดังนี้
1.ต้อง รู้วัตถุประสงค์ของการพูด รวมทั้งผู้ฟังก่อน การรู้วัตถุประสงค์ของการพูดในครั้งนั้นๆจะทำให้เราเตรียมข้อมูล วิธีการได้ถูกต้อง เช่น การพูดในครั้งนั้นเป็นการพูดเพื่อการบันเทิง เราก็พยายามเตรียมการพูด โดยการหามุข หาเรื่องสนุกๆ ตลกๆ มาพูดให้มากหน่อย หรือการพูดครั้งนั้นเพื่อการจูงใจ ชักจูง เราก็ต้องเตรียมข้อมูลให้มีการอ้างอิง หาหลักฐาน คำพูดของผู้มีชื่อเสียง และหนังสือมาประกอบ อีกทั้งต้องวิเคราะห์ว่าผู้ฟัง เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ควรพูดลีลา ท่าทาง น้ำเสียง เรื่องที่จะพูดตรงต่อความสนใจของผู้ฟังไหม
2.หา ข้อมูลประกอบการพูด การพูดก็เหมือนกับการทำอาหาร เราต้องหาข้อมูลเหมือนกับเราจะทำแกงเนื้อสักถ้วย เราก็ต้องไป หาพริก หาเกลือ หาน้ำ หาเนื้อ หาน้ำปลา หาเครื่องแกง หาผัก ฯลฯ สำหรับข้อมูลที่ดีจะต้องมีความหลากหลาย เช่น มีตัวเลขสถิติ , ตัวอย่าง , หลักฐาน , คำคม , สุภาษิต ดังนั้น ผู้ที่เป็นนักจดบันทึก มีสมุดบันทึกติดตัว จดคำคม ข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประกอบการพูด มักจะได้เปรียบเพราะมีการเตรียม มีการหาข้อมูลตลอดเวลา
3.เขียน โครงสร้างเรื่องลงไปบนกระดาษ ขั้นตอนนี้จะต้องเขียนโดยมีโครงสร้างสุนทรพจน์คือ มีคำนำ มีเนื้อเรื่อง และมีสรุปจบ โดยเขียนรายละเอียดทั้งหมดลงไปบนกระดาษ แล้วจึงนำ มาเพิ่มเติม  มาตัด  มาเสริม และอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน คำพูดหรือภาษาที่ใช้เพื่อนำไปพูด ไปบรรยาย (คำนำควรมีเนื้อหาประมาณ 10-15 % เนื้อเรื่องควรมีเนื้อหาประมาณ 70-80 % สรุปจบควรมีเนื้อหาประมาณ 10-15 % )
4.ซ้อม พูดหรือฝึกหัดการพูด อาจจะซ้อมพูดต่อหน้ากระจก อาจจะเป็นการซ้อมพูดคนเดียวในที่ต่างๆ ดังเช่นนักพูดดังๆในอดีตและปัจจุบันทำกัน เช่น อาจารย์จตุพล ชมพูนิช เคยให้สัมภาษณ์ว่าเคยซ้อมพูดคนเดียวตอนเดินกลับบ้านโดยเลือกเรื่องที่จะพูด แล้วเริ่มพูด ตั้งแต่ต้นซอยจนถึงบ้านที่อยู่ท้ายซอย,อับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ซ้อมพูดขณะอยู่บนหลังม้า ฯลฯ
                บาง คนอาจไม่คุ้นกับการฝึกพูดคนเดียว อาจจะให้คนรู้จักนั่งฟังหรือให้เพื่อน ภรรยา นั่งฟังแล้วช่วยเสนอแนะข้อที่ควรปรับปรุงในการพูดก็ได้
                การ ซ้อมพูดที่ดี ควรทำท่าทางประกอบและควรจับเวลาด้วย เนื่องจากจะได้ตัดทอนเนื้อหา หากใช้เวลามาก แต่ถ้าเวลาเหลือมากจะได้เพิ่มเติมเนื้อหาเข้าไป การทำท่าทางประกอบในการซ้อมพูดจะทำให้เมื่อออกไปพูดจริงจะไปดูเป็นธรรมชาติ มากยิ่งขึ้น ดังนั้น ถ้าท่านยิ่งซ้อมพูดมากเท่าไรก็จะยิ่งดีเท่านั้น
                สรุป คือ การเตรียมการพูดเป็นสิ่งที่สำคัญ จะละเลยไม่ได้ ควรเตรียมตัวทุกครั้งเพราะความสำเร็จของการเป็นนักพูดที่ดี อยู่ที่การเตรียมการพูดนั่นเอง
               
               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น