วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

การพูดเพื่อขาย


การพูดเพื่อขาย
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การพูดเพื่อขายเป็นการพูดให้ผู้ฟังเกิดความคล้อยตาม เป็นการชักจูงใจให้ผู้ฟังเกิดการซื้อสินค้า บริการ หรือชักชวนให้ผู้ฟังมาทำธุรกิจเครือข่าย ซึ่งผู้พูดต้องอาศัยการฝึกฝน ประสบการณ์ จากตำราและการทำงานขายภาคสนามจริงๆ
                สำหรับการพูดเพื่อขาย สิ่งที่ผู้พูดควรแสวงหา ควรเรียนรู้ เพื่อนำมาประกอบการพูดเพื่อขายคือ
1.ข้อมูลต่างๆ ที่ผู้พูดควรรู้ เช่น
-                    รู้บริษัท กล่าวคือต้องรู้ประวัติของบริษัท รู้ระเบียบ กฎเกณฑ์ การแข่งขันภายในของบริษัท นโยบาย ตลอดจนผู้บริหารบริษัทโดยเฉพาะคนที่สำคัญๆของบริษัท
-                    รู้สินค้า ต้องรู้ประเภทของสินค้า มีกี่แบบกี่สี กี่รุ่น วิธีการใช้ การดูแลรักษา
-                    รู้บริษัทคู่แข่ง ต้องรู้ว่าสินค้าประเภทเดียวกันสินค้าของเราบริษัทไหนเป็นคู่แข่ง เขาขายสินค้าราคาเท่าไร ถูกหรือแพงกว่าสินค้าของเรา
-                    รู้เกี่ยวกับตัวของลูกค้า ต้องรู้ว่าลูกค้าของเราคือใคร ชอบสินค้าประเภทไหน รู้เพื่อจะปรับวิธีการพูดเพื่อนำเสนอขายได้อย่างเหมาะสมกับตัวลูกค้า
2.เทคนิค ทฤษฏี ที่เกี่ยวกับการขาย  กล่าวคือ ผู้พูดต้องศึกษา เรียนรู้ เทคนิคการขาย จากการอ่าน การอบรม การ
สัมมนาหรือสอบถามจากนักขายรุ่นพี่ การรู้จักเทคนิคการขาย จะทำให้ผู้พูดรู้จัก จังหวะในการพูด ว่าควรจะพูดอย่างไรเมื่อไร เช่น ขั้นตอนการขายมีอยู่ 4 ขั้น
คือ 1.ขั้นเปิดใจ 2.ขั้นถามปัญหา 3.ขั้นแก้ปัญหา 4.ขั้นปิดการขาย ฉะนั้น เมื่อเราทราบว่าขั้นตอนการขายมีอยู่ 4 ขั้น เราจะใช้คำพูดแต่ละขั้นที่แตกต่างกัน กล่าวคือ
ขั้นที่ 1 เปิดใจ เราควรพูดถึงสิ่งต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับตัวของสินค้า ผลิตภัณฑ์ บริการ เป็นการพูดในเรื่องที่ผู้ฟังเกิดความสนใจ เรื่องที่ผู้ฟังเกิดความภาคภูมิใจ เรื่องที่ผู้ฟังอยากฟัง
ขั้นที่ 2 ขั้นถามปัญหา เป็นขั้นตอนที่ผู้พูดตั้งคำถามหรือถามปัญหาของลูกค้าเพื่อที่จะได้นำเอาสินค้าและบริการของเราไปช่วยแก้ปัญหา
ขั้นที่ 3  ขั้นแก้ปัญหา กล่าวคือผู้พูดต้องพูดนำเสนอสินค้าและบริการของเรา เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาให้แก่
ผู้ฟังหรือลูกค้า
และขั้นที่ 4 ขั้นปิดการขาย เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดในการพูดเพื่อขาย ผู้พูดจะต้องพูดจูงใจให้ผู้ฟังตัดสินใจซื้อ
สินค้าและบริการ
                3.การพูดสาธิตสินค้า เป็นการพูดที่ต้องใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ สื่อ สินค้าตัวอย่าง ประกอบ ควรพูดให้มีการลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน ควรพูดให้ผู้ฟังทราบถึงผลประโยชน์ของสินค้า หากต้องการเป็นมืออาชีพ ช่วงขั้นตอนในการสาธิตควรแนะนำชื่อผู้พูดสาธิต ทีมงาน แนะนำขั้นตอนเวลาใช้สินค้า  เน้นย้ำประโยชน์ของสินค้า ความแตกต่างระหว่างสินค้าอื่นๆกับสินค้าของผู้พูด อีกทั้งควรพูดตอบคำถามอย่างมั่นใจ
                การพูดเพื่อขาย ยังคงต้องคำนึงถึงสถานการณ์ ลักษณะของธุรกิจ เช่นการพูดเพื่อขายในธุรกิจเครือข่าย ยังต้องมีการพูดเพื่อขายธุรกิจ(ชักชวนคนมาร่วมทำธุรกิจเครือข่าย) , การพูดหน้าเวทีเพื่อสาธิตสินค้า , การพูดนำเสนอแผนการตลาด , การพูดคุยกับลูกทีมกับแม่ทีม , การพูดขายทางโทรศัพท์ ฯลฯ
                อย่างไรก็ตาม การพูดเพื่องานขายมีความสำคัญอย่างมาก ผู้ที่ต้องการเป็นนักขายจึงต้องควรฝึกฝน เพื่อให้เกิดความชำนาญ เกิดประสบการณ์ เกิดทักษะ และจะทำให้ผู้พูดเกิดความมั่นใจในการพูด ไม่ประหม่า ไม่ตื่นเต้น บางคนฝึกฝนมาน้อยหรือนักขายหน้าใหม่  เมื่อพูดนำเสนอขายก็จะพูดวกไปวนมา จนผู้ฟังเกิดความสับสน น้ำเสียงในการพูดก็สั่นเครือ อีกทั้งการพูดเพื่อขายจะต้องใช้ความอดทน ความสุภาพ ความอ่อนน้อม และต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้าอีกด้วย
               


วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

การปิดฉากการพูด

การปิดฉากการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การปิดฉากการพูด เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของการสร้างโครงเรื่องในการพูด การปิดฉากเป็นส่วนสุดท้ายของโครงเรื่อง ซึ่งมีการลำดับคือ การเปิดฉากการพูด การดำเนินเรื่อง และการปิดฉากการพูด
                การปิดฉากการพูดที่ดี เดล คาร์เนกี นักพูดชื่อดังเคยให้คำแนะนำไว้ว่า “ จงบอกเขาอีกครั้งหนึ่งว่าท่านได้บอกอะไรแก่เขาบ้าง ”  แต่อย่างไรก็ตามวิธีการปิดฉากการพูดที่ดีมีดังนี้
                1.ปิดฉากแบบสรุปใจความสำคัญ เป็นการสรุปเนื้อหาของเรื่องที่พูดอีกครั้งโดยย่อ  ว่าสิ่งที่พูดมามีกี่ข้อ เช่น ส่วนประสมทางการตลาดสรุปแล้วมีทั้งหมด 4 P (Marketing Mix)  ได้แก่ 1. Product ผลิตภัณฑ์ 2. Price ราคา 3. Place ช่องทางหรือสถานที่ 4. Promotion การส่งเสริมการตลาด  
                2.ปิดฉากแบบ คำคม กวี สุภาษิต หรืออ้างอิงวาทะของบุคคลสำคัญ เป็นการปิดฉากโดยยกคำคม กวี สุภาษิต สำนวน โวหาร หรืออ้างอิงวาทะของบุคคลสำคัญ แต่ข้อควรระวัง ผู้พูดต้องจดจำ คำคม กวี กลอน สุภาษิต สำนวน โวหารหรือวาทะของบุคคลสำคัญให้แม่นยำ ไม่ควรพูดผิด เนื่องจากการปิดฉากมีความสำคัญมากในการพูด เราจะต้องปิดฉากด้วยความมั่นใจ ปิดฉากด้วยความหนักแน่น หากพูดผิดๆถูกๆ ก็จะทำให้ผู้ฟังขาดความเคารพ นับถือ ไม่ศรัทธาได้
                3.ปิดฉากแบบชักชวน เรียกร้อง  กล่าวคือ เมื่อพูดถึงเนื้อหาของเรื่องเสร็จแล้ว ควรสรุปจบโดยการชักชวน เรียกร้องหรือรณรงค์  ให้ผู้ฟังได้กระทำบางสิ่งบางอย่าง เช่น การชักชวนให้เลิกบุหรี่ การรณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัย การเรียกร้องให้ปฏิบัติตามกฎจราจร เป็นต้น
                4.ปิดฉากแบบฝากให้คิด เป็นการปิดฉากแบบไม่ได้ชี้นำผู้ฟัง แต่เป็นการปิดฉาก โดยพูดถึงเนื้อหาของเรื่องโดยให้ข้อเท็จจริง ให้ข้อมูล เสนอปัญหา แต่ฝากให้ผู้ฟังไปคิดต่อ เช่น ปัญหาเรื่องคอรัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นปัญหาที่พูดถึงกันมายาวนาน เราจะปล่อยให้ปัญหาคอรัปชั่นมีกันอีกนานเท่าไร  เมื่อพูดจบประโยคก็ลงจากเวทีไปโดยไม่ต้องรอคำตอบจากผู้ฟังหรือผู้พูดพูดตอบ
                5.ปิดฉากแบบอารมณ์ขัน เป็นการปิดฉากที่นำเอาเรื่องราวที่ขำขันมาใช้  เนื่องจากสังคมไทยส่วนใหญ่ชอบความสนุกสนาน รื่นเริง ไม่ค่อยชอบการพูดที่มีลักษณะเคร่งเครียด หากนักพูดท่านใด พูดตลก พูดสนุกสนาน มักเป็นที่ยอมรับนับถือ อีกทั้งยังสร้างความศรัทธาให้แก่ผู้ฟังได้ด้วย แต่ข้อควรระวัง กล่าวคือ เรื่องที่เรานำมาปิดฉากในการพูด อาจทำให้ผู้ฟังไม่หัวเราะได้ แทนที่ผู้ฟังจะหัวเราะ กลับนั่งเงียบกันทั้งห้อง กระสุนเกิดด้านขึ้น ดังนั้นหากหลีกเลี่ยงได้ ควรปิดฉากด้วยวิธีการอื่นได้ก็จะเป็นการดีกว่า
                สำหรับการปิดฉากที่ควรหลีกเลี่ยง หรือไม่ควรพูด เพราะเป็นการปิดฉากที่ฟังแล้ว เรียบๆ ไม่ทรงพลัง เช่น
-                    ขอจบแต่เพียงแค่นี้  ,  ขออภัยหรือขอโทษหากพูดอะไรผิดพลาด , ขอขอบคุณท่านผู้ฟังที่มาฟังกันในวันนี้
ฯลฯ  ความจริงการปิดฉากในลักษณะไม่ถือว่าผิดพลาด เสียหายอะไร แต่เป็นการปิดฉากที่ไม่ค่อยจะทรงพลัง หรือ เป็นการปิดฉากที่ไม่ทำให้ผู้ฟังเกิดความประทับใจ
                ดังนั้นลักษณะการปิดฉากที่ดี ควรคำนึงถึง ความสอดคล้องระหว่าง การเปิดฉากการพูด และ การดำเนินเรื่อง การปิดฉากที่ดีควรมีความกระฉับ  อีกทั้งต้องมีโครงเรื่องเป็นสุนทรพจน์ 
                โดยสรุป การปิดฉากการพูด เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจ อีกทั้งต้องใส่ใจในการเตรียมการพูดว่าเราจะปิดฉากอย่างไรให้เป็นที่ประทับใจผู้ฟัง เราจะปิดฉากอย่างไรให้ตรึงใจผู้ฟัง การปิดฉากที่ดีสามารถสร้างความศรัทธา ความน่าเชื่อถือของผู้พูดได้ ฉะนั้น นักพูดที่ต้องการประสบความสำเร็จในการพูด ควรให้ความสำคัญกับการปิดฉาก ไม่ใช่เปิดฉากดี ดำเนินเนื้อเรื่องดี แต่หากปิดฉากไม่ดี ก็จะทำให้การพูดในครั้งนั้นๆ ไม่เป็นที่ประทับใจผู้ฟังมากนัก หากต้องการประสบความสำเร็จในการพูด ก็ควรให้ความสำคัญกับการปิดฉากการพูดครับ

การดำเนินเรื่องในการพูด


การดำเนินเรื่องในการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การสร้างโครงเรื่องในการพูด การสร้างโครงสร้างที่ดีควรมีโครงสร้างกล่าวคือ ส่วนของคำขึ้นต้น ส่วนของการดำเนินเรื่อง และส่วนสรุป ในบทความฉบับนี้เราจะมาพูดกันในเรื่องของการดำเนินเรื่องในการพูด การดำเนินเรื่องที่ดีจะต้องมีความสอดคล้องกับคำขึ้นต้นและส่วนสรุป  ลักษณะของการดำเนินเรื่องในการพูดที่ดีมีดังนี้
                1.เรียงตามลำดับ ของเหตุการณ์ วัน เวลา สถานที่ การพูดที่ดีควรมีการเรียบเรียงตามเหตุการณ์ ช่วงเวลา สถานที่ จึงจะทำให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ไม่สับสน เช่น เรียงตามอดีต ปัจจุบัน ไปอนาคต หรือ เรียงตามวัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยชรา หรือ เรียงจากจากจังหวัดทางด้านเหนือสุดแล้วพูดไล่ลงไปยังจังหวัดใต้สุด ฯลฯ การเรียงตามเวลา เรียงตามวัย เรียงตามจังหวัดตามข้อความข้างต้นจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจมากกว่า การไม่ได้มีการลำดับ
                2.เน้นย้ำประเด็นเดียว การดำเนินเรื่องที่ดี ควรมีการเน้นย้ำประเด็นเดียว ไม่ควรพูดหลายประเด็นจะทำให้ผู้ฟังเกิดความสับสน ผู้พูดไม่ควรพูดในหลายๆเรื่องในเวลาเดียวกัน เช่น หากเขาเชิญให้ไปพูดเรื่อง “ ยาเสพติด ” ก็ควรพูดถึง ปัญหาของยาเสพติด ผลกระทบที่เกิดจากยาเสพติด การแพร่ระบาดของยาเสพติด ฯลฯ   แต่บางคนไม่ได้พูดอย่างนั้นดันไปพูดถึงเรื่องของ น้ำท่วม  การเมือง  สิ่งแวดล้อม  มลพิษ กีฬา  ฯลฯ
                3.ใช้ตัวอย่างประกอบ การใช้ตัวอย่างประกอบมีความสำคัญมาก เพราะตัวอย่างประกอบจะทำให้การพูดเห็นภาพพจน์และเข้าใจได้มากกว่าไม่มีตัวอย่างประกอบ อีกทั้งช่วยขยายความให้มากขึ้น การใช้ตัวอย่างประกอบที่ดีควรใช้ตัวอย่างให้มีความสอดคล้องกับเนื้อหาของเรื่องที่พูด ยิ่งหากเป็นตัวอย่างที่เป็นของจริงหรือเป็นประสบการณ์จริงของผู้พูดก็จะทำให้ผู้ฟังเกิดความเคารพ ศรัทธา เชื่อมั่น เชื่อถือ ผู้พูดได้มากขึ้น
                4.ต้องสามารถตัดทอนหรือขยายความได้ การพูดเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง หากเราเตรียมเนื้อหาในการพูดแล้วมีเวลาน้อยไป หรือมีเวลามากเกินไปกว่าเนื้อหา นักพูดที่ดีต้องสามารถตัดทอนเนื้อหาบางส่วนหรือเพิ่มเนื้อหาบางส่วน เพื่อให้เหมาะสมกับเวลาที่ผู้จัดเขากำหนดให้
                5.ควรมีการใช้ น้ำเสียง ท่าทาง บุคลิกลักษณะ สายตา ภาษา ถ้อยคำ สีหน้า ให้สอดคล้องกับเรื่องที่พูด การพูดที่ดีต้องมีการใช้น้ำเสียงให้เหมาะสมกับเรื่องที่พูด หากพูดเรื่องเศร้า ควรพูดเสียงเบาๆ ช้าๆ แต่หากพูดเรื่องที่ตื่นเต้น ควรใช้น้ำเสียงที่ดังกว่าปกติ ไวกว่าปกติ อีกทั้งหากเป็นเรื่องเศร้า ควรใช้สีหน้าที่สอดคล้องกับเรื่อง ไม่ควรหัวเราะหรือยิ้มเวลาพูด 
                6.ขั้นตอนการเตรียมการพูดหรือการตรวจสอบการพูด นักพูดที่ดีต้องมีการเตรียมตัวทุกครั้งก่อนขึ้นพูด การเตรียมเนื้อหาก็มีส่วนสำคัญ เมื่อเตรียมการพูดโดยการเขียนโครงเรื่องแล้ว ต้องมีการตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติม ตัดทอน ว่าส่วนไหนควรเพิ่ม ส่วนไหนควรตัดทอน อีกทั้ง ถ้าจะให้ดีควรฝึกการพูดดังๆ สักสองสามรอบ ก่อนไปพูดจริง
การตรวจสอบการพูดนี้จะทำให้เราจำเนื้อหาของเรื่องได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการปรับปรุงคำพูดหรือถ้อยคำให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง วัยของผู้ฟังอีกด้วย
                สำหรับการสร้างเนื้อหาของเรื่องที่ดี ท่านควรปฏิบัติดังนี้ ท่านควรรวบรวมเนื้อหาของเรื่องที่จะพูดทั้งหมดก่อน แล้วจึงนำเนื้อหามาตัดต่อกัน ดูว่าเนื้อหาอะไรเป็นประเด็นหลัก เนื้อหาอะไรเป็นประเด็นรอง หรือเป็นประเด็นย่อย จงพิจารณาประเด็นในการพูดให้มีเพียงประเด็นใหญ่เพียงประเด็นเดียว อีกทั้งควรเตรียมถ้อยคำให้เหมาะสมกับเนื้อหา แล้วจึงมาดำเนินการตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม ตัดทอน เนื้อหาเป็นขั้นตอนสุดท้าย
                ท้ายนี้ อยากฝากบทประพันธ์ที่เกี่ยวกับการสร้างโครงเรื่อง ของอาจารย์วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์
                              จงพูดดี   มีมากล้น   คนชื่นชอบ                         ตามระบอบ   ต้นตื่นเต้น   เห็นเหมาะสม
                                ให้กลมกลืน  ลื่นกลาง  ช่างน่าชม                        จบให้คม   สมรับ   จับจิตใจ         
           








การเปิดฉากการพูด

การเปิดฉากการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
                การพูดที่ดีมักจะต้องมีการสร้างโครงเรื่อง กล่าวคือจะต้องมีการเปิดฉากการพูด มีเนื้อเรื่อง และมีสรุปจบ ในการพูดแต่ละครั้ง จึงจะทำให้ผู้ฟังเกิดความประทับใจ ในบทความนี้เราจะมากล่าวกันในเรื่องของการเปิดฉากการพูด
                การเปิดฉากการพูดมีความสำคัญมากเพราะถ้าหากนักพูดท่านใด เปิดฉากการพูดให้เป็นที่น่าสนใจ ก็จะทำให้ผู้ฟังชวนติดตามฟังเนื้อหาของการพูด ซึ่งการเปิดฉากที่ดี นักพูดควรเปิดฉากดังนี้
                1.เปิดฉากการพูดแบบพาดหัวข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ โดยปกติแล้ว การพาดหัวข่าวโดยเฉพาะหน้าที่หนึ่งของหนังสือพิมพ์ มักเป็นที่สนใจของผู้อ่าน หากนักพูดนำข้อความจากหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์มาเปิดฉากการพูด ก็จะได้รับความสนใจ แต่ทั้งนี้ต้องมีความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องที่พูด   เช่น  จับพ่อข่มขืนลูกแท้ๆ วัย 13 ปี  , ครูพละข่มใจเด็ก 15 ปี ผูกคอตายหนีความผิด !!!  ฯลฯ (กรณีเราจะพูดถึงเรื่องของปัญหาทางเพศหรือการแก้ไขปัญหาสังคมในยุคปัจจุบัน)
                2.เปิดฉากแบบกล่าวคำถาม เป็นการตั้งคำถามเพื่อให้ผู้ฟังได้ฉุกคิด  เช่น ท่านเชื่อหรือไม่ว่า คนเราสามารถมีอายุยืนยาวนาน 120 ปี หรือ ท่านเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ระยะทางหมื่นลี้ย่อมต้องเริ่มต้นจากก้าวแรกหรือไม่ หรือ ท่านทราบหรือไม่ว่า ปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการสูญเสียเงินทองและทรัพยากรต่างๆ เป็นจำนวนเท่าไรต่อปี
                3.เปิดฉากแบบชั้นเชิงกวีหรืออ้างอิงวาทะบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นการนำเอาบทกวีหรือวาทะบุคคลที่มีชื่อเสียงมาขึ้นต้น แต่ต้องให้มีความสอดคล้องกับเนื้อหาที่จะพูด ชั้นเชิงกวีในที่นี้รวมถึง คำกลอน สำนวน โวหาร คำคม คำพังเพย สุภาษิต ฯลฯ  หรือ การนำวาทะบุคคลที่มีชื่อเสียงก็ควรกล่าวชื่อของเจ้าของวาทะด้วยเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าของวาทะ เช่น อับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาได้กล่าวไว้ว่า ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยหมายถึง การปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชนและของประชาชน
                4.เปิดฉากแบบให้ความรื่นเริง เป็นการเปิดฉากโดยการนำเอาอารมณ์ขัน มุขสนุกสนาน ขึ้นมาเพื่อเรียกความสนใจจากผู้ฟัง  เป็นการเปิดฉากแบบเป็นกันเอง ทำให้บรรยากาศไม่เคร่งเครียดจนเกินไป แต่ข้อควรระวังไม่ควรใช้มุขที่ไปกระทบกระเทือนผู้ฟัง อีกทั้งการใช้มุขต่างๆ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากผู้ฟังอาจจะไม่หัวเราะ หากสามารถขึ้นต้นโดยวิธีอื่นได้ ก็ไม่ควรเสี่ยงในการใช้มุขหรืออารมณ์ขันในการขึ้นต้นในการพูด
                ฉะนั้นการเปิดฉากที่ดี ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โอกาส ความเหมาะสม อีกทั้งต้องพิจารณาเรื่องราวที่จะพูด สำหรับข้อควรระวังในการการเปิดฉากที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้
                1.ไม่ควรพูดออกตัว การได้พูดแต่ละงาน หรือ แต่ละครั้งไม่ควรพูดออกตัว ว่าเราไม่ได้เตรียมตัวมาพูด งานนี้น่าจะมีคนที่เหมาะสมกว่าเราพูด เมื่อวานนี้นอนหลับดึกไปหน่อยไม่รู้ว่าวันนี้จะพูดออกมาเต็มที่หรือไม่ ฉะนั้นการพูดออกตัวควรหลีกเลี่ยง เพราะเป็นการไม่ให้เกียรติผู้ฟัง
                2.ไม่ควรพูดอ้อมค้อม  วกไปเวียนมา จงพูดให้ตรงประเด็น เข้าประเด็น ไม่ใช่ไปพูดเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่เขาเชิญพูด  การเกริ่นยาวเกินไปจะทำให้ผู้ฟังเกิดความรำคาญ ไม่อยากฟัง ไม่ควรขี่ม้าเลียบค่าย 
                3.ไม่ควรพูดขออภัย เช่น หากกระผมพูดอะไรผิดพลาดก็คงต้องขออภัยด้วย หรือ ขออภัยหากวันนี้พูดได้ไม่ดีนัก ฉะนั้น หากเตรียมการพูดมาดี ก็ไม่ต้องขออภัย จงพูดไปด้วยความมั่นใจในตนเอง
                4.ไม่ควรพูดโอ้อวด เช่น ท่านผู้ฟังครับ สำหรับหัวข้อนี้ที่กระผมจะพูดในวันนี้เป็นหัวข้อที่กระผมรู้มากที่สุดในโลก ไม่มีใครจะรู้ดีไปกว่ากระผม การพูดโอ้อวดตนเองมากๆ จะทำให้ผู้ฟังเกิดความหมั่นไส้ อีกทั้งมองผู้พูดในทางไม่ดีมากกว่าจะมีความรู้สึกที่ดีๆกับผู้พูด
                5.ไม่ควรถ่อมตัว เมื่อพูดโอ้อวดไม่ดีก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้พูดถ่อมตัว เช่น ความจริงการพูดในหัวข้อนี้ กระผมมีความรู้น้อยมาก ท่านผู้ฟังในที่นี้เสียอีกที่มีความรู้มากกว่ากระผม แต่ถึงอย่างไรก็ดีเมื่อถูกเชิญมาพูดแล้ว กระผมก็ขอให้ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ช่วยฟังกระผมพูดด้วยครับ การพูดถ่อมตัวจะทำให้ผู้ฟังเกิดการขาดศรัทธา เกิดความไม่เชื่อมั่นว่าวิทยากรหรือผู้พูด จะมีความรู้มากน้อยแค่ไหน อีกทั้งเป็นการสร้างความน่ารำคาญให้แก่ผู้ฟังอีกด้วย
                 ฉะนั้น การเปิดฉากการพูดเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ ท่านผู้อ่านจึงควรเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ โอกาส ควรเปิดฉากให้มีเสน่ห์ น่าตื่นเต้น ไม่ควรเปิดฉากให้บรรยากาศเกิดความน่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ ไม่น่าฟัง
ทั้งนี้ การเปิดฉากที่ดีคงขึ้นอยู่กับประสบการณ์และทักษะในการพูดของแต่ละท่าน