วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การพูดต่อหน้าที่สาธารณะชน


การพูดต่อหน้าที่ชุมชน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
นักการเมือง นักบริหาร นักปกครอง นักประชาสัมพันธ์ นักกฎหมาย ต้องเป็นนักพูด
                การพูดต่อหน้าที่ชุมชนมีความสำคัญต่อความเป็นผู้นำและการประกอบอาชีพต่างๆ “หากท่านปรารถนาจะเป็นผู้นำ ท่านต้องลุกขึ้นพูดต่อหน้าที่ชุมชนได้” เป็นคำพูดของหลวงวิจิตราวาทการที่ได้กล่าวมาอย่างยาวนานและเป็นอมตะวาจาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
                “ ลิ้นเพียงสองนิ้ว ขงเบ้งยกเมืองให้เล่าปี่ได้” เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินความจริงทีเดียว ในการทำสงครามฝ่ายที่มีกำลังมากย่อมได้เปรียบกว่าฝ่ายที่อ่อนแอ แต่ในทางกลับกัน ฝ่ายที่มีมันสมองบวกกับการรู้จักใช้คำพูดให้เป็นประโยชน์ ย่อมสร้างชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ได้  นักการทูตที่สำคัญๆ ของโลก ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศของตนเองอย่างมหาศาลก็ด้วยการใช้ลิ้นหรือคำพูดที่ก่อประโยชน์ในการเจรจาต่อรองตกลง ขอความช่วยเหลือฝ่ายต่างๆเพื่อให้ประเทศของตนเองอยู่รอดปลอดภัย
                เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านหลายท่านอาจมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิดคิดว่า นักพูดจะต้องคุยเก่ง พูดคล่อง พูดมาก หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่นักพูดหมายถึง คนที่สามารถใช้คำพูดให้เกิดประโยชน์ เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ พูดแล้วคนเชื่อถือ พูดแล้วสามารถโน้มน้าว ใจคนได้
                เคยมีคนโทรศัพท์มาถามผมหลายคนว่า แล้วถ้าอยากจะเป็นนักพูดที่ดีต้องทำอย่างไร คำตอบคือ ท่านจำเป็นจะต้องเป็นนักอ่าน นักค้นคว้า  นักคิด นักฟัง และก็หมั่นฝึกฝน พร้อมกับต้องมีการปรับปรุง พัฒนาการพูดของตนเองอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องเชื่อว่า การพูดนั้นสามารถศึกษา เรียนรู้และฝึกฝนได้ จงเชื่อเรื่องของพรแสวงมากกว่าเรื่องของพรสวรรค์ ที่สำคัญนักพูดที่ดีต้องมีลักษณะดังนี้
1.             ต้องมีความปรารถนาอยากที่จะเป็นนักพูด เพราะ ความรัก ความชอบ จะทำให้ทำเรื่องที่รัก ที่ชอบได้ดีกว่า หากว่าเราไม่รัก ไม่ชอบ สิ่งนั้น อีกทั้งเมื่อถูกเชิญให้ไปพูดเรื่องอะไร ตัวผู้พูดจะต้องมีประสบการณ์ในเรื่องที่จะพูดอยู่พอสมควร หรือ ศึกษาเรียนรู้เรื่องนั้นมานานพอสมควร แต่หากไม่รู้เรื่องนั้นก็ควรเตรียมตัวไปให้ดี ต้องอ่านให้มาก ต้องฟังให้มาก ต้องมีการวางแผนการพูดเป็นอย่างดี  ว่าจะขึ้นต้นอย่างไร ช่วงกลางจะพูดอย่างไรและสรุปจบอย่างไร ควรมีตัวอย่างหรืออุปกรณ์ หลักฐาน ประกอบหรือใช้อ้างอิงในการพูดแต่ละครั้ง
2.             ต้องมีความสามารถในการสื่อสาร นักพูดที่ได้รับการยอมรับ มักมีเทคนิคในการพูดที่เป็นที่น่าสนใจของผู้ฟัง บางคนมีมุขตลก บางคนมีแง่คิด บางคนพูดแล้วคนฟังเชื่อถือคล้อยตาม โดยมากมักต้องมีวิธีเล่าที่ง่าย น่าสนใจ ไม่ทำเรื่องง่ายให้ยาก แต่จะทำเรื่องยากให้ง่าย และเรื่องง่ายให้เป็นของสนุก
3.             ต้องมีการฝึกซ้อมการพูดอยู่เสมอ นักพูดที่ยิ่งใหญ่ มักเคยผ่านการพูดเวทีสำคัญๆ และมีชั่วโมงบินในการพูดที่สูงกว่านักพูดธรรมดาสามัญ เพราะการพูดเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ คำว่า “ศาสตร์” อาจเรียนรู้กันได้ แต่คำว่า “ ศิลปะ” คงต้องขึ้นอยู่ตัวบุคคลนั้น จงพัฒนาและปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ
4.             ต้องมีการสอดใส่อารมณ์ในการพูด การพูดเป็นการสื่อสารชนิดหนึ่ง กล่าวคือ หากผู้พูดมีความรู้สึกถึงเรื่องที่พูดอย่างไร ผู้ฟังมักจะรู้สึกและสัมผัสได้ว่าผู้พูดมีความรู้สึกถึงเรื่องนั้นอย่างนั้น กล่าวคือ หากว่าผู้พูดพูดเรื่องใด ผู้พูดต้องทำน้ำเสียง กริยา ท่าทาง สีหน้า ไปในทางเดียวกับเรื่องที่พูดด้วย
ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า การพูดต่อหน้าที่ชุมชน เป็นการสื่อสารที่มีอานุภาพมาก เป็นเครื่องมือ
ที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จและล้มเหลวได้พอๆกัน  ฉะนั้น หากท่านต้องการความสำเร็จ ท่านจะต้องมีการฝึกฝน ฝึกฝนและฝึกฝน การพูดอยู่เสมอ

วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ภาษากายกับการพูดในที่สาธารณะชน


ภาษากายของนักพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
            ภาษากาย กิริยาท่าทาง ในการแสดงออกบนเวทีการพูด มีความสำคัญเป็นอันมาก เพราะหากผู้พูดพูดดี แต่มีภาษากายที่ไม่สอดคล้องกับเรื่องที่พูดหรือมีบุคลิกภาพที่ผู้ฟังไม่ศรัทธา เชื่อถือ ก็จะทำให้การพูดในครั้งนั้นๆ ไม่ประสบความสำเร็จ ในตอนนี้เราจะมาพูดถึงในเรื่องการใช้ “ ภาษากายของนักพูด”
                การใช้สายตา (Eye-contact) สายตาเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ดังคำโบราณเคยกล่าวไว้ว่า “ ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ ” การใช้สายตาของนักพูดควร มองไปยังกลุ่มผู้ฟังให้ทั่วถึง ไม่ใช่มองเพดาห้อง มองพื้นห้อง มองผนังห้อง มองประตูห้อง ตลอดเวลาหรือบ่อยๆ เมื่ออยู่บนเวที  การที่ผู้พูดมองผู้ฟังจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความจริงใจของผู้พูดที่ออกมาทางสายตา
                การเดิน(Walking) ปรากฏตัวขึ้นบนเวทีหรือเดินบนเวที การเดินของผู้พูดทำให้เป็นที่สะดุดตาหรือเป็นจุดที่สนใจของผู้ฟัง การเดินที่ดีผู้พูดต้องเดินไปด้วยความเชื่อมั่น ไม่เร็วเกินไปหรือช้าจนเกินไป ยืดอกพร้อมทั้งต้องเดินอย่างสง่างาม ไม่ก้มหน้า ไม่เดินหลังโก่ง ขณะที่เดินแขนก็ควรแกว่งไปตามธรรมชาติ ดังนั้นผู้พูดควรที่จะต้องมีการฝึกหัดเดินบ่อยๆ ใหม่ๆ อาจจะต้องใช้หนังสือวางไว้บนศีรษะ เพื่อให้หลังตรง ศีรษะตรง
                การทรงตัว(Posture) การทรงตัวเวลาพูดบนเวที เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเสริมสร้างบุคลิกภาพของผู้พูด เท้าทั้งสองของผู้พูดควรห่างกันประมาณ 1 คืบ(โดยประมาณนะครับ ไม่ต้องถึงขนาดก้มลงไปวัด) ท่ายืนไม่ต้องเกรง มืออยู่ข้างลำตัวในกรณีที่ยังไม่ใช้มือประกอบ ไม่ควรยืนห่อไหล่ เวลายืนไม่ควรเขย่งเท้า ไม่ควรโยกตัวไปมาขณะพูด ไม่ควรเอามือท้าวสะเอวตลอดเวลา หรือเอามือล้วงกระเป๋ากางเกงตลอดเวลา
                การแสดงออกทางหน้าตาใบหน้า(Facial Expression) สีหน้าของผู้พูดเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการพูด เพราะถ้าหากสีหน้าของผู้พูด สื่อไม่ไปในทิศทางเดียวกันกับเรื่องที่พูด ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เช่นพูดเรื่องเศร้า ใบหน้าของผู้พูดก็ควรแสดงไปในทิศทางเดียวกันไม่ควรหัวเราะหรือยิ้ม หรือพูดเรื่องทั่วไป สีหน้าของผู้พูดก็ควรยิ้มแย้มเพื่อบรรยากาศในการพูดออกมาดี
                การแสดงท่าทาง(Gesture) การแสดงท่าทางประกอบการพูด จะทำให้การพูดในครั้งนั้นเกิดความน่าสนใจ เป็นเครื่องมือหนึ่งในการดึงดูดผู้ฟังให้เกิดความสนใจในตัวผู้พูด เช่น การใช้มือหรือนิ้วประกอบการพูด  “ ผมมีพี่น้องสามคน” (เราก็ควรชูนิ้วขึ้นมา 3 นิ้ว เพื่อประกอบการพูด) , เมื่อต้องการเรียกผู้ฟัง เราก็ควรหงายมือเพื่อเชิญผู้ฟังลุกขึ้นมาตอบคำถาม(ไม่ควรชี้นิ้วไปยังผู้พูด เพราะในสังคมไทยถือว่าไม่มีมารยาท แตกต่างกับสังคมอเมริกาที่เขาถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา)
                การแต่งกาย ควรให้เหมาะสมกับสถานที่ บุคคล การแต่งกายที่ดี ควรแต่งให้เสมอผู้ฟังหรือแต่งให้สูงกว่าผู้ฟังระดับหนึ่งเพียงเล็กน้อย เช่น หากไปพูดให้ชาวนาฟังที่บริเวณทุ่งนาก็ไม่ควรใส่สูทไป แต่ควรแต่งชุดพื้นเมืองเหมือนกันกับชาวนา หรือไปพูดที่โรงแรมก็ควรใส่สูทไป ไม่ควรใส่เสื้อยืด เพราะถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติผู้ฟัง เป็นต้น
                การใช้ไมโครโฟน ที่ดีควรอยู่ห่างระดับปากประมาณ 1 ฝ่ามือ (โดยประมาณ แต่หากเสียงของผู้พูดดังไปก็ควรให้ไมโครโฟนอยู่ในระดับที่ห่างไปอีก ในทางกลับกัน หากเสียงของผู้พูดเบาไปก็ควรเอาไมโครโฟนให้ชิดปากขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง)
                ดังนั้น นักพูดที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากผู้คนอย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นต้องฝึกฝนในเรื่องของการใช้ภาษากาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้สายตา การเดิน การทรงตัว การแสดงออกทางใบหน้า การแสดงท่าทาง การแต่งกาย และ การใช้ไมโครโฟน

วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จงระวังความเคยชินในการพูดในที่ชุมชน


จงระวังความเคยชินในการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
            คนที่ต้องการเป็นนักพูด วิทยากรหรืออาชีพที่ต้องใช้คำพูด มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพราะคนที่ไม่พัฒนาตนเองมักจะอยู่กับที่ ส่วนคนที่มีการพัฒนาตนเองก็จะก้าวหน้าในสายงานอาชีพ การพูด วิทยากร จงระวังความเคยชินเป็นคำพูดธรรมดา ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
คนเราส่วนมากมักไม่ค่อยสนใจความเคยชิน โดยเฉพาะความเคยชินในด้านลบ แต่หากเราต้องการประสบความสำเร็จแล้ว ขอให้พึ่งระวังความเคยชินในด้านลบ แล้วพัฒนาสิ่งเหล่านั้นให้เป็นด้านบวก เช่น ความเคยชินในการใช้ภาษาคำฟุ่มเฟือยเวลาพูด( คำว่า เอ้อ อ้า นะครับ นะค่ะ ) , ความเคยชินในเรื่องของบุคลิกภาพ ( ล้วง แคะ แกะ เกา หาว ยัก โยก ถอน ค้อน กระพริบ) , ความเคยชินในเรื่องของการไม่แสวงหาความรู้ใหม่ๆ ได้แต่นำเสนอความรู้เดิมๆที่มี เป็นต้น
1.                                     ความเคยชินในการใช้ภาษาคำฟุ่มเฟือยเวลาพูด เช่น คำว่า เอ้อ อ้า นะครับ นะค่ะ  เป็นถ้อยคำที่หากมีมากจนเกินไปก็จะก่อความน่ารำคาญในการฟัง ดังนั้น หากท่านต้องการเป็นนักพูด วิทยากร จงระวังความเคยชินในการใช้คำเหล่านี้ โดยใช้ให้น้อยที่สุด  เพราะคำว่า เอ้อ อ้า มักเป็นคำที่ผู้พูด คิดไม่ทันในสิ่งที่จะต้องพูด ผู้พูดเลยหยุดใช้ความคิดในช่วงนั้นโดยใช้คำว่า เอ้อ อ้า และ ผู้ฝึกการพูดใหม่ๆ มักจะใช้คำว่า นะครับ นะค่ะ มากจนเกินไป คำว่า นะครับ ครับ นะค่ะ ค่ะ ฟังดูแล้วอาจสุภาพ แต่หากมีมากจนเกินไปก็ทำให้ผู้ฟังเกิดความรำคาญและไม่อยากฟังได้
2.                                     ความเคยชินในเรื่องของบุคลิกภาพหรือการใช้ภาษากาย ( ล้วง แคะ แกะ เกา หาว ยัก โยก ถอน ค้อน กระพริบ) การใช้ภาษากายเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ผู้พูด วิทยากร ประสบความสำเร็จหรือว่าล้มเหลวในการพูด เพราะนักพูดบางท่านพูดดี มีสาระ มีอารมณ์ขันผู้ฟังฟังแล้วชื่นชอบ แต่ภาษากาย สื่อออกมาไม่ดีก็จะทำให้ผู้ฟังลดความน่าเชื่อถือลงและไม่ศรัทธาในผู้พูด เช่น ผู้พูด พูดไป เลียริมฝีปากหรือแลบลิ้นไป  หรือ ผู้พูด พูดไป แคะขี้มูกไป อย่างนี้ ก็จะทำให้ผู้ฟังไม่เกิดความศรัทธาในตัวผู้พูดขึ้นมาได้ ผลสำรวจและวิจัยในเรื่องการสื่อสารได้ระบุว่า คนมักจะจดจำคำพูดได้ประมาณ 7 %  จำเสียงหรือน้ำเสียงได้ 38 % และจดจำท่าทางได้ตั้ง 55 % ดังนั้น พึ่งระวังความเคยชินในการใช้ภาษากาย
3.                                     ความเคยชินในเรื่องของการไม่แสวงหาความรู้ใหม่ๆ ได้แต่นำเสนอความรู้เดิมๆที่มีมาพูด
นักพูดหรือวิทยากรที่ดี ต้องมีข้อมูล ต้องรู้จริง รู้ลึก รู้กว้าง ในเรื่องราวที่พูด ฐานต้องแน่น เพราะถ้าเอาแต่ฉาบฉวย ความรู้ไม่แน่น เอาแต่ความมันส์เวลาพูด คงไปได้ไม่ไกล  ดังนั้น ถ้าอยากเป็นนักพูด วิทยากร ท่านจำเป็นต้องอ่านมาก ฟังมาก คิดวิเคราะห์ให้มากๆ
                ดังนั้น หากท่านต้องการประสบความสำเร็จในเรื่องของการพูด ท่านพึ่งต้องระวังความเคยชิน ท่านจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่สม่ำเสมอ ไม่หยุดนิ่ง เพราะหากท่านหยุดนิ่ง ในขณะที่ผู้อื่น เขาไม่หยุด เขาเคลื่อนไปข้างหน้า นั้นก็แสดงว่าท่านถอยหลังนั่นเอง
                มนุษย์เรามักกลัวการเปลี่ยนแปลง แต่มนุษย์เราจะเจริญก้าวหน้าก็ด้วยการเปลี่ยนแปลงเสมอ