วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2557

วิทยากรกับการเป็นวิทยากร


วิทยากรกับการเป็นวิทยากร

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก

www.drsuthichai.com

                วิทยากร หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวการสำคัญ ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดทักษะ เกิดทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องที่อบรม จนกระทั่งผู้เข้ารับการอบรมเกิดการเรียนรู้และสามารถจุดประกายความคิด เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ของเรื่องหรือวิชานั้นๆ ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว วิทยากรจึงมีบทบาทที่สำคัญหลายประการเช่นอาจเป็นทั้งผู้บรรยาย ผู้สอน ผู้ฝึก พี่เลี้ยง ผู้กำกับการแสดง ตลอดจนผู้ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ เป็นต้น( สุวิทย์ มูลคำ,2543:24)

                วิทยากร(Trainer) หมายถึง บุคคลผู้ซึ่งมีความรู้ ความสามารถตลอดจนการพูด หรืออภิปรายและใช้เทคนิคต่างๆ ในเรื่องนั้นๆ อันจะทำให้ผู้รับการฝึกอบรมได้เกิดความรู้(Knowledge) ความเข้าใจ(Understanding) ทัศนคติ(Attitude) ความชำนาญ(Skill) จนสามารถทำให้ผู้รับการฝึกอบรมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ(นิพนธ์ ไทยพานิช.2535:251 อ้างถึงใน อ้อม ประนอม,2552:73)

                วิทยากร หมายถึง คนที่จะต้องทำให้ผู้เข้ารับการอบรมได้มีความรู้ และเข้าใจในเนื้อหาที่เข้ารับการฝึกอบรม จนเกิดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะ ตลอดจนเกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ดีในการทำงาน หรือการใช้ชีวิตที่ดียิ่งขึ้น(ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์,2555:10)

                สำหรับผมแล้ว วิทยากรน่าจะหมายถึง ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้โดยอาศัยเทคนิคต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม เกิดความรู้ เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เกิดการพัฒนาตนเองไปในทางที่ดีขึ้นตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการในการจัดการฝึกอบรม

                 คุณสมบัติของวิทยากร

                                ในการจัดการฝึกอบรมที่ดีมีองค์ประกอบหลายๆอย่างที่ทำให้การฝึกอบรมประสบความสำเร็จ  เช่น ห้องฝึกอบรม  ระบบเสียง  หลักสูตร เนื้อหา  อาหาร  การจัดรูปแบบโต๊ะเก้าอี้  ขนาดของห้องฝึกอบรม แต่ความจริงแล้วองค์ประกอบที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆก็คือตัวของวิทยากร ฉะนั้นวิทยากรจึงควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

                1.ต้องมีความรู้ วิทยากรที่ดีต้องมีองค์ความรู้เนื้อหา ทั้งลึกและกว้าง ในหัวข้อที่ตนเองบรรยายหรือให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้ารับการอบรม วิทยากรต้องรู้จริง รู้ละเอียด อีกทั้งต้องตอบคำถามผู้เข้ารับการอบรมได้อย่างมีหลักฐาน มีเหตุผล อ้างอิง อีกด้วย

                2.ต้องมีบุคลิกภาพที่ดี วิทยากรต้องมีบุคลิกภาพที่น่าเชื่อถือ น่าศรัทธา มีความเป็นกันเอง รู้จักการวางตัว ซึ่งบุคลิกภาพนี้ตัวของวิทยากรต้องมีบุคลิกภาพที่ดีทั้งภายใน เช่น ความกระตือรือร้น ความเชื่อมั่นในตนเอง มีความมั่นคงทางด้านอารมณ์  ไหวพริบปฏิภาณ ฯลฯ และบุคลิกภาพภายนอก  เช่น การแต่งตัว ท่าทาง การเดิน การยิ้ม ภาษากาย รูปร่างหน้าตา ฯลฯ

                3.ต้องมีความสามารถหลายๆด้าน เช่น สามารถนำกิจกรรมเพื่อการศึกษาได้ มีความสามารถในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆในการนำเสนอ มีความสามารถในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นต้น

                4.ต้องมีประสบการณ์ วิทยากรที่ดีเมื่อไปบรรยายในหัวข้อใด ตัววิทยากรควรมีประสบการณ์ตรงในด้านนั้นด้วยถึงจะดี เพราะเวลาตอบคำถามหรือเวลาบรรยาย ก็สามารถนำเอาประสบการณ์จริงมาบอกเล่าได้ ไม่ใช่อ่านแต่ในหนังสือแล้วนำมาเล่า เพราะประสบการณ์ที่ตัววิทยากรได้สัมผัสของจริงจะทำให้ทั้งตัวของวิทยากรและผู้เข้ารับการอบรมเห็นภาพและเข้าใจถึงปัญหานั้นๆได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

                5.ต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา การเตรียมความพร้อมมีความสำคัญมาก ดังเราจะเห็นได้ว่า นักมวยที่ต้องชกเพื่อชิงแชมป์โลก เขาต้องทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างหนัก บางคนใช้เวลาเป็นปีๆ เพื่อที่จะขึ้นไปชกชิงแชมป์โดยใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งการเตรียมพร้อมนี้ ควรรวมไปถึง การอ่าน การฟัง การเรียนรู้ การศึกษา สิ่งใหม่ๆเพื่อที่จะได้นำไปใช้ในการบรรยาย

                6.ต้องมีใจรัก วิทยากรเป็นอาชีพ อาชีพหนึ่งที่สามารถทำเป็นอาชีพ หาเลี้ยงตนเอง และครอบครัวได้ อีกทั้งวิทยากรมืออาชีพหลายๆท่าน สามารถสร้างความร่ำรวยจากอาชีพนี้ได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ การประกอบอาชีพใดๆ สิ่งที่มีความสำคัญที่สุดก็คือ ผู้ประกอบอาชีพนั้นๆจะต้องมีใจรักในอาชีพของตนเองเสียก่อน เขาจึงจะประสบความสำเร็จในการทำงาน เพราะหากว่าเรามีใจรักในอาชีพวิทยากร เราจะมีความอดทน เราจะมีความตั้งใจ เราจะมีความพยายามและเราจะไม่เลิกล้มก่อนเวลาที่จะประสบความสำเร็จ ผู้เขียนก็เช่นกัน ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในทุกๆเวที ยิ่งช่วงเป็นวิทยากรใหม่ๆ ต้องประสบกับความล้มเหลวอยู่หลายเวที หากว่ามัวแต่ท้อแท้ เลิกล้ม ไม่กล้า บัดนี้ก็คงไม่ได้ประกอบอาชีพวิทยากร

                7.ต้องมีจรรยาบรรณของวิทยากร อาชีพทุกๆอาชีพควรมีจรรยาบรรณ อาชีพวิทยากรก็เช่นกัน ควรมีจรรยาบรรณ เพราะการมีจรรยาบรรณจะทำให้เป็นที่เคารพ เป็นที่น่าเชื่อถือ ศรัทธา แก่ผู้พบเห็น สำหรับจรรยาบรรณของวิทยากรไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจนดังเช่นกฎหมาย แต่ก็ควรยึดหลักของความถูกต้อง ความมีศิลธรรม ความไม่เอาเปรียบ เช่น เมื่อรับงานบรรยายงานฝึกอบรมแล้วก็ควรมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ควรไปตามที่ได้ตกลงกันไว้ , เมื่อรับงานบรรยายงานแรกแล้ว ก็ไม่ควรรับงานที่สองในช่วงวันเวลาเดียวกัน แต่มีวิทยากรบางท่านเมื่อเห็นว่างานที่สองได้รับเงินเป็นจำนวนมากกว่างานแรก จึงโทรศัพท์ไปขอยกเลิกงานแรก เช่นนี้ก็ไม่ควรปฏิบัติ , วิทยากรที่ดีไม่ควรกล่าวโจมตีคู่แข่งหรือวิทยากรด้วยกัน เป็นต้น

               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น