วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

จังหวะในการพูด


จังหวะในการพูด

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


          Let the speech be better than silence,or be silet.(จงทำให้การพูดนั้นดูดีกว่าความเงียบ ถ้าทำไม่ได้ก็เงียบเสียดีกว่า)

            การพูดให้เกิดความน่าสนใจ การพูดที่ทำให้ผู้ฟังติดตามฟัง การพูดที่สร้างความประทับใจ จังหวะในการพูดมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

            ผู้พูดต้องฝึกการพูดให้มีจังหวะจะโคน ต้องรู้ว่า เวลาไหนควรเงียบ เวลาไหนควรพูดต่อ ต้องมีการเว้นวรรค มีเสียงดัง เสียงเบา เสียงเน้น เสียงย้ำ มีการยืดเสียง ผู้พูดที่มีจังหวะในการพูด มักจะประสบความสำเร็จมากกว่า ผู้พูดที่พูดติดต่อกันไปเรื่อยๆยาวๆ โดยไม่มีจังหวะในการพูด

            คำพูด เอ่อ..หรือ อ้า....มักทำให้จังหวะในการพูดเสียไปหรือไม่ชวนให้ผู้ฟังติดตาม แต่ในทางตรงกันข้ามจะทำให้ผู้ฟังเกิดความรำคาญ ดังนั้น ผู้พูดที่มีคำฟุ่มเฟื่อย เช่น เอ่อ อ้า นะครับ นะค่ะ ครับ ค่ะ ลงท้ายประโยคเป็นจำนวนมากๆ จึงควรหาทางแก้ไข ปรับปรุงตนเอง ให้มีลดน้อยลง

          จังหวะในการพูดกับน้ำเสียง น้ำเสียงในการพูดมีความสอดคล้องกับจังหวะในการพูดอย่างแยกไม่ออก ผู้พูดที่ดี ควรรู้จังหวะในการใช้เสียง ว่าเวลาใดควรพูดเสียงสูง เวลาใดควรพูดเสียงต่ำ เวลาใดควรพูดเสียงปกติ ซึ่งการจะทราบถึงจังหวะเหล่านี้ได้ คงต้องใช้เวลาฝึกฝน อีกทั้งยังต้องผ่านประสบการณ์ในการพูดมาพอสมควร

            จังหวะในการพูดกับการใช้อารมณ์ การพูดเรื่องเศร้า ก็ควรใช้อารมณ์เศร้า จังหวะในการพูดก็ควรช้ากว่าปกติ แต่ในทางกลับกัน หากพูดเรื่องสนุก ตื่นเต้น ก็ควรใช้จังหวะในการพูดที่เร็วกว่าปกติ อีกทั้งผู้พูดต้องทำอารมณ์ของตนเองให้สนุกสนานตามไปด้วย ซึ่งอารมณ์ของผู้ฟังมักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับผู้พูดอยู่เสมอ

            หลายคนมักเข้าใจว่า ผู้พูดที่พูดโดยไม่หยุด พูดด้วยความเร็วมากกว่าปกติ มักจะได้รับความสนใจจากผู้ฟัง แต่โดยส่วนตัวกระผม เชื่อว่า การหยุดพูดหรือการเงียบ ในบางช่วงในการพูดจะทำให้ได้รับความสนใจจากผู้ฟังไม่ใช่น้อย เพราะการหยุดพูดหรือการเงียบ จะทำให้ผู้ฟังคิดตาม ซึ่งสร้างความสนใจไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว

          จังหวะในการพูดกับการพูดคุยสนทนากัน จังหวะในการพูดยังมีความสำคัญและรวมไปถึงเรื่องของการพูดคุยสนทนากันอีกด้วย คนที่พูดคุยสนทนาเก่ง มักจะรู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนควรเงียบ คนที่รู้จักจังหวะเหล่านี้ มักจะทำให้ผู้ที่สนทนาด้วย เกิดความประทับใจ มากกว่า คนที่เอาแต่พูดโดยไม่รู้จักฟังหรือเงียบฟัง คู่สนทนา

            ฉะนั้น หากท่านต้องการฝึกฝน จังหวะในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน กระผมขอแนะนำให้ท่านผู้อ่าน ลองหาหนังสือพิมพ์หรือหนังสือการ์ตูน ลองฝึกอ่านให้เป็นจังหวะ หรือ ในยุคนี้ เราสามารถหาหรือฟัง นักพูดที่เราชื่นชอบ ลองเอาเทปหรือเสียงในการพูดของเขา มาวิเคราะห์ หากเป็นไปได้ ลองเลียนแบบ เสียงหรือจังหวะในการพูดของนักพูดที่ท่านชื่นชอบ หากทำบ่อยๆ ก็จะทำให้จังหวะในการพูดของท่านพัฒนายิ่งขึ้น

            สำหรับคนที่ต้องการฝึกฝนในเรื่องของจังหวะในการพูดคุยสนทนา ท่านควรที่จะพัฒนาทักษะในการฟังให้มากขึ้น พูดให้น้อยลง มีการตอบรับคู่สนทนาบ้างเพื่อให้คู่สนทนาทราบว่า เรากำลังตั้งใจฟังเขาอยู่ เช่น ครับ ค่ะ  เยี่ยมครับ สุดยอดเลยครับเรื่องนี้ หรือ มีการพยักหน้าตอบรับ ในระหว่างการพูดคุยสนทนากัน ก็จะสร้างความประทับใจให้แก่คู่สนทนาได้
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น