วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การพูดต่อหน้าที่สาธารณะชน


การพูดต่อหน้าที่ชุมชน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
นักการเมือง นักบริหาร นักปกครอง นักประชาสัมพันธ์ นักกฎหมาย ต้องเป็นนักพูด
                การพูดต่อหน้าที่ชุมชนมีความสำคัญต่อความเป็นผู้นำและการประกอบอาชีพต่างๆ “หากท่านปรารถนาจะเป็นผู้นำ ท่านต้องลุกขึ้นพูดต่อหน้าที่ชุมชนได้” เป็นคำพูดของหลวงวิจิตราวาทการที่ได้กล่าวมาอย่างยาวนานและเป็นอมตะวาจาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
                “ ลิ้นเพียงสองนิ้ว ขงเบ้งยกเมืองให้เล่าปี่ได้” เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินความจริงทีเดียว ในการทำสงครามฝ่ายที่มีกำลังมากย่อมได้เปรียบกว่าฝ่ายที่อ่อนแอ แต่ในทางกลับกัน ฝ่ายที่มีมันสมองบวกกับการรู้จักใช้คำพูดให้เป็นประโยชน์ ย่อมสร้างชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ได้  นักการทูตที่สำคัญๆ ของโลก ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศของตนเองอย่างมหาศาลก็ด้วยการใช้ลิ้นหรือคำพูดที่ก่อประโยชน์ในการเจรจาต่อรองตกลง ขอความช่วยเหลือฝ่ายต่างๆเพื่อให้ประเทศของตนเองอยู่รอดปลอดภัย
                เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านหลายท่านอาจมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิดคิดว่า นักพูดจะต้องคุยเก่ง พูดคล่อง พูดมาก หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่นักพูดหมายถึง คนที่สามารถใช้คำพูดให้เกิดประโยชน์ เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ พูดแล้วคนเชื่อถือ พูดแล้วสามารถโน้มน้าว ใจคนได้
                เคยมีคนโทรศัพท์มาถามผมหลายคนว่า แล้วถ้าอยากจะเป็นนักพูดที่ดีต้องทำอย่างไร คำตอบคือ ท่านจำเป็นจะต้องเป็นนักอ่าน นักค้นคว้า  นักคิด นักฟัง และก็หมั่นฝึกฝน พร้อมกับต้องมีการปรับปรุง พัฒนาการพูดของตนเองอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องเชื่อว่า การพูดนั้นสามารถศึกษา เรียนรู้และฝึกฝนได้ จงเชื่อเรื่องของพรแสวงมากกว่าเรื่องของพรสวรรค์ ที่สำคัญนักพูดที่ดีต้องมีลักษณะดังนี้
1.             ต้องมีความปรารถนาอยากที่จะเป็นนักพูด เพราะ ความรัก ความชอบ จะทำให้ทำเรื่องที่รัก ที่ชอบได้ดีกว่า หากว่าเราไม่รัก ไม่ชอบ สิ่งนั้น อีกทั้งเมื่อถูกเชิญให้ไปพูดเรื่องอะไร ตัวผู้พูดจะต้องมีประสบการณ์ในเรื่องที่จะพูดอยู่พอสมควร หรือ ศึกษาเรียนรู้เรื่องนั้นมานานพอสมควร แต่หากไม่รู้เรื่องนั้นก็ควรเตรียมตัวไปให้ดี ต้องอ่านให้มาก ต้องฟังให้มาก ต้องมีการวางแผนการพูดเป็นอย่างดี  ว่าจะขึ้นต้นอย่างไร ช่วงกลางจะพูดอย่างไรและสรุปจบอย่างไร ควรมีตัวอย่างหรืออุปกรณ์ หลักฐาน ประกอบหรือใช้อ้างอิงในการพูดแต่ละครั้ง
2.             ต้องมีความสามารถในการสื่อสาร นักพูดที่ได้รับการยอมรับ มักมีเทคนิคในการพูดที่เป็นที่น่าสนใจของผู้ฟัง บางคนมีมุขตลก บางคนมีแง่คิด บางคนพูดแล้วคนฟังเชื่อถือคล้อยตาม โดยมากมักต้องมีวิธีเล่าที่ง่าย น่าสนใจ ไม่ทำเรื่องง่ายให้ยาก แต่จะทำเรื่องยากให้ง่าย และเรื่องง่ายให้เป็นของสนุก
3.             ต้องมีการฝึกซ้อมการพูดอยู่เสมอ นักพูดที่ยิ่งใหญ่ มักเคยผ่านการพูดเวทีสำคัญๆ และมีชั่วโมงบินในการพูดที่สูงกว่านักพูดธรรมดาสามัญ เพราะการพูดเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ คำว่า “ศาสตร์” อาจเรียนรู้กันได้ แต่คำว่า “ ศิลปะ” คงต้องขึ้นอยู่ตัวบุคคลนั้น จงพัฒนาและปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ
4.             ต้องมีการสอดใส่อารมณ์ในการพูด การพูดเป็นการสื่อสารชนิดหนึ่ง กล่าวคือ หากผู้พูดมีความรู้สึกถึงเรื่องที่พูดอย่างไร ผู้ฟังมักจะรู้สึกและสัมผัสได้ว่าผู้พูดมีความรู้สึกถึงเรื่องนั้นอย่างนั้น กล่าวคือ หากว่าผู้พูดพูดเรื่องใด ผู้พูดต้องทำน้ำเสียง กริยา ท่าทาง สีหน้า ไปในทางเดียวกับเรื่องที่พูดด้วย
ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า การพูดต่อหน้าที่ชุมชน เป็นการสื่อสารที่มีอานุภาพมาก เป็นเครื่องมือ
ที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จและล้มเหลวได้พอๆกัน  ฉะนั้น หากท่านต้องการความสำเร็จ ท่านจะต้องมีการฝึกฝน ฝึกฝนและฝึกฝน การพูดอยู่เสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น