วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จงระวังความเคยชินในการพูดในที่ชุมชน


จงระวังความเคยชินในการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
            คนที่ต้องการเป็นนักพูด วิทยากรหรืออาชีพที่ต้องใช้คำพูด มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพราะคนที่ไม่พัฒนาตนเองมักจะอยู่กับที่ ส่วนคนที่มีการพัฒนาตนเองก็จะก้าวหน้าในสายงานอาชีพ การพูด วิทยากร จงระวังความเคยชินเป็นคำพูดธรรมดา ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
คนเราส่วนมากมักไม่ค่อยสนใจความเคยชิน โดยเฉพาะความเคยชินในด้านลบ แต่หากเราต้องการประสบความสำเร็จแล้ว ขอให้พึ่งระวังความเคยชินในด้านลบ แล้วพัฒนาสิ่งเหล่านั้นให้เป็นด้านบวก เช่น ความเคยชินในการใช้ภาษาคำฟุ่มเฟือยเวลาพูด( คำว่า เอ้อ อ้า นะครับ นะค่ะ ) , ความเคยชินในเรื่องของบุคลิกภาพ ( ล้วง แคะ แกะ เกา หาว ยัก โยก ถอน ค้อน กระพริบ) , ความเคยชินในเรื่องของการไม่แสวงหาความรู้ใหม่ๆ ได้แต่นำเสนอความรู้เดิมๆที่มี เป็นต้น
1.                                     ความเคยชินในการใช้ภาษาคำฟุ่มเฟือยเวลาพูด เช่น คำว่า เอ้อ อ้า นะครับ นะค่ะ  เป็นถ้อยคำที่หากมีมากจนเกินไปก็จะก่อความน่ารำคาญในการฟัง ดังนั้น หากท่านต้องการเป็นนักพูด วิทยากร จงระวังความเคยชินในการใช้คำเหล่านี้ โดยใช้ให้น้อยที่สุด  เพราะคำว่า เอ้อ อ้า มักเป็นคำที่ผู้พูด คิดไม่ทันในสิ่งที่จะต้องพูด ผู้พูดเลยหยุดใช้ความคิดในช่วงนั้นโดยใช้คำว่า เอ้อ อ้า และ ผู้ฝึกการพูดใหม่ๆ มักจะใช้คำว่า นะครับ นะค่ะ มากจนเกินไป คำว่า นะครับ ครับ นะค่ะ ค่ะ ฟังดูแล้วอาจสุภาพ แต่หากมีมากจนเกินไปก็ทำให้ผู้ฟังเกิดความรำคาญและไม่อยากฟังได้
2.                                     ความเคยชินในเรื่องของบุคลิกภาพหรือการใช้ภาษากาย ( ล้วง แคะ แกะ เกา หาว ยัก โยก ถอน ค้อน กระพริบ) การใช้ภาษากายเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ผู้พูด วิทยากร ประสบความสำเร็จหรือว่าล้มเหลวในการพูด เพราะนักพูดบางท่านพูดดี มีสาระ มีอารมณ์ขันผู้ฟังฟังแล้วชื่นชอบ แต่ภาษากาย สื่อออกมาไม่ดีก็จะทำให้ผู้ฟังลดความน่าเชื่อถือลงและไม่ศรัทธาในผู้พูด เช่น ผู้พูด พูดไป เลียริมฝีปากหรือแลบลิ้นไป  หรือ ผู้พูด พูดไป แคะขี้มูกไป อย่างนี้ ก็จะทำให้ผู้ฟังไม่เกิดความศรัทธาในตัวผู้พูดขึ้นมาได้ ผลสำรวจและวิจัยในเรื่องการสื่อสารได้ระบุว่า คนมักจะจดจำคำพูดได้ประมาณ 7 %  จำเสียงหรือน้ำเสียงได้ 38 % และจดจำท่าทางได้ตั้ง 55 % ดังนั้น พึ่งระวังความเคยชินในการใช้ภาษากาย
3.                                     ความเคยชินในเรื่องของการไม่แสวงหาความรู้ใหม่ๆ ได้แต่นำเสนอความรู้เดิมๆที่มีมาพูด
นักพูดหรือวิทยากรที่ดี ต้องมีข้อมูล ต้องรู้จริง รู้ลึก รู้กว้าง ในเรื่องราวที่พูด ฐานต้องแน่น เพราะถ้าเอาแต่ฉาบฉวย ความรู้ไม่แน่น เอาแต่ความมันส์เวลาพูด คงไปได้ไม่ไกล  ดังนั้น ถ้าอยากเป็นนักพูด วิทยากร ท่านจำเป็นต้องอ่านมาก ฟังมาก คิดวิเคราะห์ให้มากๆ
                ดังนั้น หากท่านต้องการประสบความสำเร็จในเรื่องของการพูด ท่านพึ่งต้องระวังความเคยชิน ท่านจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่สม่ำเสมอ ไม่หยุดนิ่ง เพราะหากท่านหยุดนิ่ง ในขณะที่ผู้อื่น เขาไม่หยุด เขาเคลื่อนไปข้างหน้า นั้นก็แสดงว่าท่านถอยหลังนั่นเอง
                มนุษย์เรามักกลัวการเปลี่ยนแปลง แต่มนุษย์เราจะเจริญก้าวหน้าก็ด้วยการเปลี่ยนแปลงเสมอ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น