วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ภาษากายกับการพูดในที่สาธารณะชน


ภาษากายของนักพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
            ภาษากาย กิริยาท่าทาง ในการแสดงออกบนเวทีการพูด มีความสำคัญเป็นอันมาก เพราะหากผู้พูดพูดดี แต่มีภาษากายที่ไม่สอดคล้องกับเรื่องที่พูดหรือมีบุคลิกภาพที่ผู้ฟังไม่ศรัทธา เชื่อถือ ก็จะทำให้การพูดในครั้งนั้นๆ ไม่ประสบความสำเร็จ ในตอนนี้เราจะมาพูดถึงในเรื่องการใช้ “ ภาษากายของนักพูด”
                การใช้สายตา (Eye-contact) สายตาเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ดังคำโบราณเคยกล่าวไว้ว่า “ ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ ” การใช้สายตาของนักพูดควร มองไปยังกลุ่มผู้ฟังให้ทั่วถึง ไม่ใช่มองเพดาห้อง มองพื้นห้อง มองผนังห้อง มองประตูห้อง ตลอดเวลาหรือบ่อยๆ เมื่ออยู่บนเวที  การที่ผู้พูดมองผู้ฟังจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความจริงใจของผู้พูดที่ออกมาทางสายตา
                การเดิน(Walking) ปรากฏตัวขึ้นบนเวทีหรือเดินบนเวที การเดินของผู้พูดทำให้เป็นที่สะดุดตาหรือเป็นจุดที่สนใจของผู้ฟัง การเดินที่ดีผู้พูดต้องเดินไปด้วยความเชื่อมั่น ไม่เร็วเกินไปหรือช้าจนเกินไป ยืดอกพร้อมทั้งต้องเดินอย่างสง่างาม ไม่ก้มหน้า ไม่เดินหลังโก่ง ขณะที่เดินแขนก็ควรแกว่งไปตามธรรมชาติ ดังนั้นผู้พูดควรที่จะต้องมีการฝึกหัดเดินบ่อยๆ ใหม่ๆ อาจจะต้องใช้หนังสือวางไว้บนศีรษะ เพื่อให้หลังตรง ศีรษะตรง
                การทรงตัว(Posture) การทรงตัวเวลาพูดบนเวที เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเสริมสร้างบุคลิกภาพของผู้พูด เท้าทั้งสองของผู้พูดควรห่างกันประมาณ 1 คืบ(โดยประมาณนะครับ ไม่ต้องถึงขนาดก้มลงไปวัด) ท่ายืนไม่ต้องเกรง มืออยู่ข้างลำตัวในกรณีที่ยังไม่ใช้มือประกอบ ไม่ควรยืนห่อไหล่ เวลายืนไม่ควรเขย่งเท้า ไม่ควรโยกตัวไปมาขณะพูด ไม่ควรเอามือท้าวสะเอวตลอดเวลา หรือเอามือล้วงกระเป๋ากางเกงตลอดเวลา
                การแสดงออกทางหน้าตาใบหน้า(Facial Expression) สีหน้าของผู้พูดเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการพูด เพราะถ้าหากสีหน้าของผู้พูด สื่อไม่ไปในทิศทางเดียวกันกับเรื่องที่พูด ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เช่นพูดเรื่องเศร้า ใบหน้าของผู้พูดก็ควรแสดงไปในทิศทางเดียวกันไม่ควรหัวเราะหรือยิ้ม หรือพูดเรื่องทั่วไป สีหน้าของผู้พูดก็ควรยิ้มแย้มเพื่อบรรยากาศในการพูดออกมาดี
                การแสดงท่าทาง(Gesture) การแสดงท่าทางประกอบการพูด จะทำให้การพูดในครั้งนั้นเกิดความน่าสนใจ เป็นเครื่องมือหนึ่งในการดึงดูดผู้ฟังให้เกิดความสนใจในตัวผู้พูด เช่น การใช้มือหรือนิ้วประกอบการพูด  “ ผมมีพี่น้องสามคน” (เราก็ควรชูนิ้วขึ้นมา 3 นิ้ว เพื่อประกอบการพูด) , เมื่อต้องการเรียกผู้ฟัง เราก็ควรหงายมือเพื่อเชิญผู้ฟังลุกขึ้นมาตอบคำถาม(ไม่ควรชี้นิ้วไปยังผู้พูด เพราะในสังคมไทยถือว่าไม่มีมารยาท แตกต่างกับสังคมอเมริกาที่เขาถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา)
                การแต่งกาย ควรให้เหมาะสมกับสถานที่ บุคคล การแต่งกายที่ดี ควรแต่งให้เสมอผู้ฟังหรือแต่งให้สูงกว่าผู้ฟังระดับหนึ่งเพียงเล็กน้อย เช่น หากไปพูดให้ชาวนาฟังที่บริเวณทุ่งนาก็ไม่ควรใส่สูทไป แต่ควรแต่งชุดพื้นเมืองเหมือนกันกับชาวนา หรือไปพูดที่โรงแรมก็ควรใส่สูทไป ไม่ควรใส่เสื้อยืด เพราะถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติผู้ฟัง เป็นต้น
                การใช้ไมโครโฟน ที่ดีควรอยู่ห่างระดับปากประมาณ 1 ฝ่ามือ (โดยประมาณ แต่หากเสียงของผู้พูดดังไปก็ควรให้ไมโครโฟนอยู่ในระดับที่ห่างไปอีก ในทางกลับกัน หากเสียงของผู้พูดเบาไปก็ควรเอาไมโครโฟนให้ชิดปากขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง)
                ดังนั้น นักพูดที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากผู้คนอย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นต้องฝึกฝนในเรื่องของการใช้ภาษากาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้สายตา การเดิน การทรงตัว การแสดงออกทางใบหน้า การแสดงท่าทาง การแต่งกาย และ การใช้ไมโครโฟน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น