วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

นักพูดที่ดีต้องรู้จักวิเคราห์ภาษากายของผู้ฟัง


นักพูดที่ดีต้องรู้จักวิเคราะห์ภาษากายของผู้ฟัง

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                นักพูดที่ดีต้องรู้จักวิเคราะห์ภาษากายของผู้ฟัง หากว่าเราเป็นนักพูด นักบรรยาย วิทยากร เราสามารถวิเคราะห์ผู้ฟังได้จากภาษากาย ว่าผู้ฟังมีความตั้งใจฟังเรา สนใจฟังเรา หรือ มีความเบื่อหน่าย ไม่อยากที่จะฟังเรา ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์ภาษากายของผู้ฟังได้จาก ใบหน้า ท่าทาง ความสนใจของผู้ฟัง การนั่ง ความเคลื่อนไหวต่างๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้             

                นั่งกอดอก แสดงถึงการป้องกันตัวเอง เริ่มไม่ไว้วางใจ ความไม่สนใจในเรื่องที่พูด ความไม่ใส่ใจ การต้องการวางอำนาจเหนือผู้พูด และไม่ยอมเปิดใจที่จะรับฟัง

                นั่งเอามือเท้าคาง เป็นลักษณะของคนกำลังใช้ความคิด หากเท้าคางแล้วเอนตัวมาข้างหน้า แสดงว่ากำลังสนใจกับเรื่องที่ผู้พูดพูด แต่ถ้าหากเท้าคางแล้วเอนตัวไปข้างหลัง แสดงว่า ไม่สนใจในเรื่องที่ผู้พูดพูด

                นั่งขาถ่างหรือชอบนั่งอ้าขา แสดงถึงความเปิดเผย เป็นมิตร เป็นกันเอง เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ กล้าแสดงออก

                นั่งไขว่ห้าง แสดงถึงการป้องกัน ไม่เปิดใจที่จะรับฟัง เป็นคนมั่นใจในตนเอง

                นั่งตัวตรง แสดงถึงเป็นคนกล้าพูดกล้าทำ กล้าแสดงออก  มีความเป็นผู้นำ มีพลัง มีความกระตือรือร้น มีความรับผิดชอบสูง

                นั่งจับจมูกบ่อยๆ แสดงถึงความไม่มั่นใจ ครุ่นคิด สับสน ต้องการใช้เวลาตัดสินใจ

                นั่งพนักหน้าตอบรับเป็นระยะๆ แสดงความเป็นกันเอง รู้สึกมีความเห็นด้วยกับผู้พูด เป็นมิตร กำลังเชื่อในเรื่องที่ผู้พูดได้พูด

                นั่งเอามือวางไว้ที่บนตัก แสดงถึงว่าเป็นคนที่มีความสุภาพ อ่อนโยน รู้สึกเจียมตัว มีความเรียบร้อย

                นั่งเอามือซุกกระเป๋า แสดงถึงว่าไม่ต้องการฟัง รู้สึกอึดอัดใจ

                นั่งแล้วเอามือเกาศีรษะบ่อยๆ แสดงถึงอาการสงสัย ไม่เข้าใจในเรื่องที่ฟัง

                นั่งกระดิกขา แสดงถึงอาการผ่อนคลาย เปิดเผย  รู้สึกสบายๆ ไม่กระตือรือร้น

                นั่งก้มหน้า แสดงถึง การซ่อนหรือเก็บความรู้สึกบางอย่าง ไม่อยากเปิดเผย ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกประหม่า รู้สึกกลัว รู้สึกอาย

                นั่งฟังแต่ไม่กล้าสบสายตา แสดงถึงการทำผิด ประหม่า ไม่มีความมั่นใจในตนเอง มีพิรุธ

                นั่งหลังงอไหล่ห่อ เป็นคนที่สบายๆ ไม่ชอบเรื่องมาก ไม่ค่อยเครียด

                แต่อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ภาษากายหรืออ่านใจผู้ฟัง ควรใช้วิจารณญาณ สัญชาติญาณ สถานการณ์ อารมณ์ ความรู้สึก ของผู้ฟัง ประกอบด้วย รวมไปถึงเรื่องความแตกต่างของเชื้อชาติ วัฒนธรรม  ภาษา ซึ่งเหล่านี้ก็อาจทำให้เกิดความแตกต่างกันในการวิเคราะห์และอาจจะไม่มีความถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ 

 






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น