วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การสร้างอารมณ์ขันในการพูด


การสร้างอารมณ์ขันในการพูด

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                มีหลายคนมักชอบตั้งคำถาม ถามว่า ทำอย่างไรถึงจะให้การพูดเป็นที่น่าสนใจของผู้ฟัง ฟังแล้วไม่เบื่อ ฟังแล้วคนชอบ คนศรัทธา สำหรับการพูดต่อหน้าที่ชุมชนในสังคมไทยนั้น ผู้พูดที่มีการใช้อารมณ์ขันสอดแทรกในการพูด  คงเป็นคำตอบของคำถามข้างต้นได้เป็นอย่างดี

                ดังคำพูดของ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐ อับบราฮัม ลินคอล์น ที่พูดว่า  “ คนเราต้องการการเรียนรู้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการความสนุกสนานด้วย”

                เทคนิคในการใช้อารมณ์ขันในการพูด

                1.ต้องมีการปูเรื่องก่อน  การเล่าเรื่องขำขันหรือเรื่องตลกที่ดี ควรมีการลำดับเรื่องไปก่อนแล้วถึงจุดไคลแมกซ์แล้วจึงปล่อยมุขขำขันหรือมุขตลกสอดแทรก จึงจะประสบความสำเร็จ

                2.ต้องไม่บอกว่า เรากำลังจะพูดเรื่องตลกหรือเรื่องขำขัน เพราะถ้าไปพูดเช่นนั้น ผู้ฟังอาจคาดหวัง แต่เมื่อผู้พูด พูดไป ผู้ฟังกับไม่หัวเราะ ก็จะทำให้ผู้พูดหน้าแตกได้

                3.ต้องไม่ขำเสียเองหรือทำหน้าตายได้ยิ่งดี (คือไม่หัวเราะเอง หรือ ไม่หัวเราะก่อน)

                4.ต้องฉับไวในการปล่อยลูกเล่นหรือเรื่องขำขัน  ต้องกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ จนน่าเบื่อ

                5.ต้องสอดใส่ อารมณ์ ในการพูด เช่น  เสียง อารมณ์ อาการ ต้องไปในทิศทางเดียวกัน

                6.ต้องไม่ตรวจสอบหรือสอบถามผู้ฟังบ่อยๆ เพราะผู้พูดบางคน กลัวว่าผู้ฟังจะได้ฟังเรื่องขำขันหรือเรื่องตลกแล้ว ก็จะสอบถามอยู่บ่อยๆ ว่า “ ได้ฟังหรือยัง”  “ได้ฟังหรือยัง” จึงสร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้ฟัง

                การสร้างอารมณ์ขัน

                1.ต้องเป็นนักสะสม จดจำ  หัดจดจำ เรื่องราว ขำขันหรือตลกต่างๆ เพื่อนำมาเล่า

                2.ต้องรู้จักมองโลกในแง่ดี  การมองโลกในแง่ดี จะทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆได้

                3.ต้องฝึกฝนไหวพริบปฏิภาณ  เพราะไหวพริบปฏิภาณจะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาต่างๆได้

                4.ต้องฝึกพัฒนาความคิด เช่น ความคิดเชิงสร้างสรรค์ ความคิดทางขวาง ความคิดเชิงเปรียบเทียบ

                5.ต้องเป็นนักอ่านหนังสือและนักฟังเพื่อ หาข้อมูลขำขันหรือเรื่องตลกต่างๆในการพูด

                6.ต้องฝึกพัฒนาทักษะในการพูดขำขันหรือพูดตลกบ่อยๆ  โดยหาเวทีที่จะแสดง

                7.ต้องหมั่น แก้ไข ปรับปรุง ให้ดีขึ้น  ลองหมั่นสังเกตว่า เรื่องนี้ เราพูดแล้วทำไมมันไม่ขำ และหาวิธีการใหม่ๆ

                สำหรับปัจจัยอื่นๆที่ช่วยในการสร้างอารมณ์ขันให้ประสบความสำเร็จมีดังนี้

                1.ต้องเป็นตัวของตนเอง  เราอาจเลียนแบบนักพูดที่เราชอบได้ในระยะแรก แต่สุดท้าย เราต้องเป็นตัวของตัวเอง ก็ด้วยการพัฒนามันขึ้นมา

                2.ต้องรู้จักวิเคราะห์ผู้ฟัง ว่าผู้ฟังเป็นใคร เราควรเล่าเรื่องขำขันเรื่องนี้หรือไม่   เพราะ ระดับการศึกษา อาชีพ  วัย   ของผู้ฟังมีผลต่อเรื่องที่เราจะนำไปเล่า  เพราะหากไม่พิจารณาแล้ว   เราเล่าไปผู้ฟังเขาก็อาจจะไม่เข้าใจในเรื่องขำขันหรือเรื่องตลกที่เราเล่าได้

                3.ต้องไม่เล่าเรื่องขำขัน ที่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัวของผู้ฟังที่จะก่อให้เกิดการเสียหายหรือเสียหน้า

                4.ต้องรักษามารยาท  ต้องสุภาพ ไม่ไปพูดก้าวร้าว ผู้ฟัง

                5.ต้องดูสภาพแวดล้อม กาลเทศะ ในการใช้อารมณ์ขัน

                                ดังนั้น การสร้างอารมณ์ขันในการพูด จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าหากนักพูดท่านใด สามารถสร้างอารมณ์ขัน แล้วนำเอาไปใช้ในการพูดได้อย่างเหมาะสม นักพูดท่านนั้น ก็จะได้รับคำนิยม ได้รับชื่อเสียง  เงินทอง ตำแหน่งต่างๆอย่างมากมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น