วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

กิริยาท่าทางในการพูด


กิริยาท่าทางในการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ถ้ารู้สึกว่าจะพูดอะไรให้น่าฟังไม่ได้...ก็นิ่งเสียดีกว่า....
                กิริยาท่าทางในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน มีผลต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการพูดในแต่ละครั้ง  พวกเราลองสังเกตดู เมื่อผู้พูดพูดด้วยความกระตือรือร้น กระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวา ก็จะทำให้เราผู้ฟังเกิดความกระตือรือร้นตามไปด้วย ในทางกลับกัน หากว่าผู้พูดพูดด้วยความเฉยชา หรือมีความรู้สึกว่าไม่อยากจะพูด ก็จะทำให้ผู้ฟัง สัมผัสได้ถึงความรู้สึกของผู้พูดตามได้ด้วย
                นักแสดงหลายคนรู้ถึงคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ บางคนเมื่อมีการแสดงบนเวที เมื่อได้รับบทที่สนุกสนาน ตื่นเต้น ถึงกับกระโดดไปกระโดดมาเพื่อปลุกตนเองให้กระฉับกระเฉง บางคนยิ้มแย้มแจ่มใส บางคนชกลม เพื่อให้ร่างกายเกิดการตื่นตัว ผู้พูดก็เช่นกัน เมื่อต้องการพูดเรื่องที่สนุก ตื่นเต้น ก็ควรกระตุ้นอารมณ์ตนเองให้มีความรู้สึกที่สนุก ตื่นเต้น ก่อนขึ้นพูด
                นักพูดที่ดีจะต้องพูดให้ได้ เต็มเสียง เต็มอารมณ์ และ เต็มอาการ กล่าวคือ
-                    เต็มเสียง คือ  พูดด้วยกิริยาที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง พูดเสียงดัง ฟังชัด
-                    เต็มอารมณ์ คือ พูดไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ให้มีความสอดคล้องกับเรื่องที่พูด
-                    เต็มอาการ คือ เมื่อเราพูดเต็มเสียงและเต็มอารมณ์แล้ว อาการต่างๆ ในระหว่างพูดก็จะปรากฏออกมาเอง
  ทั้งนี้ กริยาท่าทางของผู้พูด ยังรวมไปถึง การปรากฏกาย ก่อนขึ้นพูดและหลังจากลงเวทีด้วย เช่น เมื่อถูกเชิญก็
ควรปรากฏกายด้วยความกระตือรือร้น กระฉับกระเฉง  ต้องขึ้นพูดด้วยความมั่นใจ และในระหว่างการพูดบนเวทีก็ควรระวัง กิริยาดังต่อไปนี้ “  ล้วง แคะ แกะ เกา หาว ยัก โยก ถอน ค้อน และกระพริบ ”
                ผู้พูดไม่ควรเอามือล้วงกระเป๋ากางเกงในระหว่างพูด , ไม่ควรเอามือไปแคะขี้มูกระหว่างพูด , ไม่ควรเอามือไปแกะสิ่งต่างๆในระหว่างพูด , ไม่ควรเกาศีรษะบ่อยๆ , ไม่ควรหาวในเวลาพูด , ไม่ควรยักไหล่ , ไม่ควรโยกตัวไปมาระหว่างการพูด,ไม่ควรถอนขนจมูกในระหว่างพูด, ไม่ควรมีกิริยาค้อนและกระพริบตาบ่อยๆ ในระหว่างพูดบนเวที เป็นต้น
                เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของการใช้ กิริยาท่าทางในการพูดมากยิ่งขึ้น จึงขอขยายรายละเอียดดังนี้
                1.การใช้สีหน้า สายตา ระหว่างพูด  การใช้สีหน้า จะต้องแสดงสีหน้าให้เข้ากับเนื้อหาของเรื่อง  เช่น พูดเรื่องสนุกก็ควรยิ้มแย้มแจ่มใส  , หากพูดเรื่องเศร้าก็ควรใช้สีหน้าที่เรียบ ไม่ควรหัวเราะในระหว่างพูด ส่วนการใช้สายตา ควรมองไปยังกลุ่มผู้ฟังให้ทั่วถึง
                2.การใช้มือ ควรนำมาใช้ประกอบการพูด แต่ไม่ควรมีมากจนเกินไป
                3.การใช้น้ำเสียง จะต้องมีความหลากหลาย เช่น มีเสียงดัง เสียงเบา มีการหยุด มีการเน้น อีกทั้งควรใช้น้ำเสียงให้มีความสอดคล้องและสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง
                4.การแต่งกาย ต้องเหมาะสมการสถานที่ กับกลุ่มของผู้ฟัง
                5.การเคลื่อนไหวร่างกาย ต้องมีความสัมพันธ์กับ เนื้อเรื่อง เช่น พูดเรื่องสนุก ก็ควรเคลื่อนไหวร่างกายให้บ่อยขึ้น เคลื่อนไหวร่างกายแบบกระตือรือร้น , แต่หากพูดเรื่องเศร้า ก็ควรเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยลง เป็นต้น
                6.การทรงตัวในระหว่างการยืนพูด ควรยืนให้มั่นคง เท้าห่างกันพอประมาณ 1 คืบ ไม่ควรยืนชิดจนเกินไป หรือ เท้าห่างกันมากจนเกินไปในระหว่างการยืนพูด
                นอกจากนี้ กิริยาท่าทางในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน ยังรวมไปถึงเรื่องของบุคลิกภาพทั้งภายนอกและภายในของผู้พูดอีกด้วย เช่น บุคลิกภาพภายนอก ( ทรงผม , ใบหน้า , ท่าทาง , ปาก , ขา , ตา , หู ฯลฯ) , บุคลิกภาพภายใน ( นิสัย , พฤติกรรม , การแสดงออก , มารยาท ฯลฯ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ผู้พูดจำเป็นต้องพัฒนา ฝึกฝน ปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
                                                บุคลิกภาพ                            ทุกผู้                       จะดูดี
                                                ปรากฏตัว                             ทุกที่                       สมทีท่า
                                                มาดผู้นำ                                ทำถูก                     ทุกลีลา
                                                ผู้ตามมา                                ก้าวเดิน                 เจริญรอย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น