วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

การดำเนินเรื่องในการพูด


การดำเนินเรื่องในการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การสร้างโครงเรื่องในการพูด การสร้างโครงสร้างที่ดีควรมีโครงสร้างกล่าวคือ ส่วนของคำขึ้นต้น ส่วนของการดำเนินเรื่อง และส่วนสรุป ในบทความฉบับนี้เราจะมาพูดกันในเรื่องของการดำเนินเรื่องในการพูด การดำเนินเรื่องที่ดีจะต้องมีความสอดคล้องกับคำขึ้นต้นและส่วนสรุป  ลักษณะของการดำเนินเรื่องในการพูดที่ดีมีดังนี้
                1.เรียงตามลำดับ ของเหตุการณ์ วัน เวลา สถานที่ การพูดที่ดีควรมีการเรียบเรียงตามเหตุการณ์ ช่วงเวลา สถานที่ จึงจะทำให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ไม่สับสน เช่น เรียงตามอดีต ปัจจุบัน ไปอนาคต หรือ เรียงตามวัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยชรา หรือ เรียงจากจากจังหวัดทางด้านเหนือสุดแล้วพูดไล่ลงไปยังจังหวัดใต้สุด ฯลฯ การเรียงตามเวลา เรียงตามวัย เรียงตามจังหวัดตามข้อความข้างต้นจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจมากกว่า การไม่ได้มีการลำดับ
                2.เน้นย้ำประเด็นเดียว การดำเนินเรื่องที่ดี ควรมีการเน้นย้ำประเด็นเดียว ไม่ควรพูดหลายประเด็นจะทำให้ผู้ฟังเกิดความสับสน ผู้พูดไม่ควรพูดในหลายๆเรื่องในเวลาเดียวกัน เช่น หากเขาเชิญให้ไปพูดเรื่อง “ ยาเสพติด ” ก็ควรพูดถึง ปัญหาของยาเสพติด ผลกระทบที่เกิดจากยาเสพติด การแพร่ระบาดของยาเสพติด ฯลฯ   แต่บางคนไม่ได้พูดอย่างนั้นดันไปพูดถึงเรื่องของ น้ำท่วม  การเมือง  สิ่งแวดล้อม  มลพิษ กีฬา  ฯลฯ
                3.ใช้ตัวอย่างประกอบ การใช้ตัวอย่างประกอบมีความสำคัญมาก เพราะตัวอย่างประกอบจะทำให้การพูดเห็นภาพพจน์และเข้าใจได้มากกว่าไม่มีตัวอย่างประกอบ อีกทั้งช่วยขยายความให้มากขึ้น การใช้ตัวอย่างประกอบที่ดีควรใช้ตัวอย่างให้มีความสอดคล้องกับเนื้อหาของเรื่องที่พูด ยิ่งหากเป็นตัวอย่างที่เป็นของจริงหรือเป็นประสบการณ์จริงของผู้พูดก็จะทำให้ผู้ฟังเกิดความเคารพ ศรัทธา เชื่อมั่น เชื่อถือ ผู้พูดได้มากขึ้น
                4.ต้องสามารถตัดทอนหรือขยายความได้ การพูดเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง หากเราเตรียมเนื้อหาในการพูดแล้วมีเวลาน้อยไป หรือมีเวลามากเกินไปกว่าเนื้อหา นักพูดที่ดีต้องสามารถตัดทอนเนื้อหาบางส่วนหรือเพิ่มเนื้อหาบางส่วน เพื่อให้เหมาะสมกับเวลาที่ผู้จัดเขากำหนดให้
                5.ควรมีการใช้ น้ำเสียง ท่าทาง บุคลิกลักษณะ สายตา ภาษา ถ้อยคำ สีหน้า ให้สอดคล้องกับเรื่องที่พูด การพูดที่ดีต้องมีการใช้น้ำเสียงให้เหมาะสมกับเรื่องที่พูด หากพูดเรื่องเศร้า ควรพูดเสียงเบาๆ ช้าๆ แต่หากพูดเรื่องที่ตื่นเต้น ควรใช้น้ำเสียงที่ดังกว่าปกติ ไวกว่าปกติ อีกทั้งหากเป็นเรื่องเศร้า ควรใช้สีหน้าที่สอดคล้องกับเรื่อง ไม่ควรหัวเราะหรือยิ้มเวลาพูด 
                6.ขั้นตอนการเตรียมการพูดหรือการตรวจสอบการพูด นักพูดที่ดีต้องมีการเตรียมตัวทุกครั้งก่อนขึ้นพูด การเตรียมเนื้อหาก็มีส่วนสำคัญ เมื่อเตรียมการพูดโดยการเขียนโครงเรื่องแล้ว ต้องมีการตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติม ตัดทอน ว่าส่วนไหนควรเพิ่ม ส่วนไหนควรตัดทอน อีกทั้ง ถ้าจะให้ดีควรฝึกการพูดดังๆ สักสองสามรอบ ก่อนไปพูดจริง
การตรวจสอบการพูดนี้จะทำให้เราจำเนื้อหาของเรื่องได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการปรับปรุงคำพูดหรือถ้อยคำให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง วัยของผู้ฟังอีกด้วย
                สำหรับการสร้างเนื้อหาของเรื่องที่ดี ท่านควรปฏิบัติดังนี้ ท่านควรรวบรวมเนื้อหาของเรื่องที่จะพูดทั้งหมดก่อน แล้วจึงนำเนื้อหามาตัดต่อกัน ดูว่าเนื้อหาอะไรเป็นประเด็นหลัก เนื้อหาอะไรเป็นประเด็นรอง หรือเป็นประเด็นย่อย จงพิจารณาประเด็นในการพูดให้มีเพียงประเด็นใหญ่เพียงประเด็นเดียว อีกทั้งควรเตรียมถ้อยคำให้เหมาะสมกับเนื้อหา แล้วจึงมาดำเนินการตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม ตัดทอน เนื้อหาเป็นขั้นตอนสุดท้าย
                ท้ายนี้ อยากฝากบทประพันธ์ที่เกี่ยวกับการสร้างโครงเรื่อง ของอาจารย์วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์
                              จงพูดดี   มีมากล้น   คนชื่นชอบ                         ตามระบอบ   ต้นตื่นเต้น   เห็นเหมาะสม
                                ให้กลมกลืน  ลื่นกลาง  ช่างน่าชม                        จบให้คม   สมรับ   จับจิตใจ         
           








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น