วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

การสร้างความมั่นใจและลดความประหม่าในการพูด


การสร้างความมั่นใจและลดความประหม่าในการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
            ความมั่นใจมีความสัมพันธ์กับอาการประหม่าเป็นอย่างยิ่ง  เพราะเมื่อผู้พูดขาดความมั่นใจ ผู้พูดก็จะแสดงอาการประหม่าออกมา แต่ตรงกันข้าม ถ้าหากผู้พูดมีความเชื่อมั่นหรือมั่นใจในตนเอง อาการประหม่าก็มักจะไม่ปรากฏออกมาให้เห็น
                อาการประหม่าในการพูดต่อหน้าที่ชุมชนมักจะแสดงออกมาให้ปรากฏแก่ผู้ฟัง ซึ่งมีอาการดังนี้ บางคนปากสั่น มือสั่น หน้าซีด บางคนไม่กล้าสบตากับผู้ฟัง บางคนพูดและใช้คำพูดออกมาอย่างไม่เป็นธรรมชาติ  พูดผิดๆ ถูกๆ ฯลฯ
                สาเหตุของอาการประหม่านอกจากสาเหตุของการขาดความมั่นใจแล้วยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น
1.ผู้พูดหลายๆท่าน มักคิดมากจนเกินไป หลายคนมักจะคิดมาก คิดวิตก คิดกังวล ในระหว่างการพูด กลัวสิ่งต่างๆ เช่น กลัวว่าผู้ฟังจะมีความรู้มากกว่าตนเอง , กลัวว่าการพูดของตนเองจะออกมาไม่ดีพอ , กลัวว่าเสียงของตนเองไม่ไพเราะ เป็นต้น
2.ขาดการเตรียมตัวที่ดี กล่าวคือ ไม่มีการเตรียมคำพูด , เตรียมเนื้อหา หรือ มีการซ้อมพูด ก่อนขึ้นพูดจริงๆ จึงทำให้การพูดในครั้งนั้นๆ ติดๆ ขัดๆ
3.ไม่มีการวิเคราะห์ผู้ฟัง  เช่น ไม่ได้สอบถามผู้จัดว่า  จะต้องพูดเรื่องดังกล่าวให้แก่ใคร เด็กหรือผู้ใหญ่ อาชีพอะไร ผู้หญิงหรือผู้ชาย  เป็นผู้บริหารหรือเป็นพนักงาน  จึงทำให้ไม่มีการเตรียมตัว เตรียมเนื้อหา ไห้ตรงกับกลุ่มผู้ฟัง
                สำหรับการสร้างความมั่นใจในตนเองและลดอาการประหม่าในการพูดของผู้พูด สามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น
1.การพูดให้กำลังใจตนเองก่อนขึ้นพูด “ เรื่องนี้ หัวข้อนี้ ฉันรู้ดีที่สุด ” , “ การพูดครั้งนี้ใครเต็มที่ไม่เต็มที่ไม่รู้แต่ฉันเต็มที่ไว้ก่อน”  คำพูดประโยคเหล่านี้ ผู้พูดควรคิดและค้นหาเอาเอง เนื่องจากแต่ละบุคคลมีความชอบไม่เหมือนกัน
2. ต้องมีการเตรียมการพูดเป็นอย่างดี ซึ่งรวมถึง การเตรียมเนื้อหา(จะขึ้นต้นอย่างไร เนื้อหาอย่างไร สรุปจบอย่างไร) ตลอดจนกระทั่ง การเตรียมร่างกาย การเตรียมสภาพจิตใจ การพักผ่อนเป็นอย่างดี ก่อนวันที่จะขึ้นพูด
3.การใช้จินตนาการหรือการวาดภาพของการพูดที่ประสบความสำเร็จบนเวทีพูดของตนเอง บางคนใช้จินตนาการว่ามีคนฟังการพูดของตนเองเป็นหลายพันคน หลายหมื่นคน มีคนปรบมือให้กำลังใจมากมาย ฯลฯ
4.ก่อนจะขึ้นเวทีพูด ควรมาก่อนเวลาสักเล็กน้อย แล้วทำความรู้จัก ทำการทักทาย สร้างความเป็นกันเองระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ก็จะทำให้เกิดมิตรภาพและลดความตื่นเต้นลงไปได้บ้าง
5.ปรับความคิดหรือปรับทัศนคติเสียใหม่ คิดว่าความประหม่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่ นักพูดหรือผู้พูดทุกๆคนจะต้องมี แต่ใครจะมีมากมีน้อยเท่านั้นเอง อีกทั้งไม่ควรคิดมากจนเกินไป ในเวลาพูด แต่ควรทำหน้าที่หรือพูดให้ดีที่สุด ไม่ต้องไปคิดกังวลใดๆ ไม่ต้องไปคิดแทนผู้ฟังว่าผู้ฟังจะคิดกับเราอย่างไร จงเตรียมการพูดให้พร้อมแล้วจงลุกขึ้นพูดให้ดีที่สุด
6.ต้องหมั่นหาประสบการณ์ในการพูดทุกๆเวทีให้มาก ข้อนี้ น่าจะเป็นข้อที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะถ้าหากผู้พูดมีเวทีมาก ก็จะทำให้เกิดทักษะในการพูด เมื่อเกิดทักษะ ความมั่นใจก็จะมากขึ้น ความประหม่าในการพูดก็จะลดลง
                โดยสรุป อาจกล่าวได้ว่า ผู้พูดที่มีความมั่นใจในตนเองมักพูดได้ดีกว่าผู้ที่ขาดความมั่นใจในตนเอง ถึงแม้ว่า ผู้พูดหลายๆคน จะมีการศึกษาถึงระดับปริญญาเอกก็ตามแต่ถ้าขาดซึ่งความมั่นใจในตนเองเสียแล้ว ทำให้เกิดอาการประหม่า  พูดไม่เป็นธรรมชาติ ไม่กล้าขึ้นพูด ย่อมสู้ผู้พูดที่จบระดับการศึกษาแค่ระดับประถมหรือมัธยมไม่ได้ ถ้าหากผู้พูดจบระดับประถมหรือมัธยม แต่บุคคลนั้นสามารถพูดด้วยความมั่นใจในตนเอง ผู้ฟังก็มักจะเกิดความเชื่อถือ ศรัทธา อีกทั้งทำให้การพูดมีความน่าฟังอีกด้วย
                 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น