วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ศิลปะการโต้วาที


ศิลปะการโต้วาที

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคปัจจุบัน เราคงจะเห็นว่า เขาจะจัดให้มีการโต้วาที ถามว่า ทำไมต้องเอาคนที่จะเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนต่อไป มีความจำเป็นด้วยหรือที่จะต้องมาโต้วาทีให้ประชาชนและคนทั่วโลกเห็น

                ซึ่งคงจะมีเหตุผลหลายประการ ที่ประเทศสหรัฐอมเริกาจะจัดให้มีการโต้วาที สำหรับผู้ที่ต้องการจะเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เพราะการโต้วาที ทำให้เห็นอะไรหลายๆอย่างในตัวของผู้โต้วาที เช่น ภาวะผู้นำ การตัดสินใจ ภูมิความรู้ บุคลิกภาพ ความเชื่อมั่นในตนเอง การมีวาทศิลป์ การมีไหวพริบปฏิภาณ การมีอารมณ์ขัน ตลอดจนกระทั่งถึงการควบคุมอารมณ์ของตนเอง ในการที่ถูกคู่แข่งขัน ตอบโต้ ด้วยสถานการณ์ต่างๆ

                ดังนั้น ประเทศอเมริกาจึงให้ความสำคัญกับการโต้วาที ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งที่สำคัญๆของประเทศของเขา คราวนี้เราลองมาทำความรู้จักกับการโต้วาทีคืออะไร

                การโต้วาที ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ได้ให้ความนิยามว่า “ การแสดงคารมโดยมีฝ่ายเสนอและฝ่ายค้านในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง”

                ซึ่งจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของการโต้วาทีคือ

1.เพื่อฝึกให้ผู้โต้วาที ได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาเสนอในการโต้วาที

2.เพื่อฝึกให้ผู้โต้วาที ได้ใช้ไหวพริบปฏิภาณ เชาว์ปัญญาในการแก้ไขปัญหาหรือตอบโต้ในการโต้วาที

3.เพื่อฝึกใช้เหตุผล สำหรับการหักล้าง โดยมีการนำข้อมูลหลักฐานต่างๆมาอ้างอิง ฉะนั้นจึงทำให้นักโต้วาทีไม่เป็นคนที่ไม่เชื่อคนง่าย

4.เพื่อฝึกใช้วาทศิลป์ การเลือกใช้ถ้อยคำ เพื่อนำมาโน้มน้าวใจ รวมไปถึงการใช้ท่าทางประกอบการพูด

5.เพื่อฝึกการทำงานให้เป็นทีม มีการวางแผนและทำงานร่วมกัน

6.เพื่อฝึกความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ซึ่งเป็นธรรมดาของการแข่งขันย่อมมีผู้แพ้ผู้ชนะ

คณะผู้โต้วาที

                คณะผู้โต้วาที ประกอบไปด้วย

1.ประธานในการโต้วาที 1 คน จะทำหน้าที่กล่าวทักทาย กล่าวเปิด แจ้งให้ผู้ฟังทราบถึงความสำคัญของญัตติที่ใช้ในการโต้วาที กล่าวเชิญผู้โต้วาทีขึ้นมาบนเวทีทีละคน เป็นผู้แนะนำกรรมการและผู้โต้วาทีทั้งสองฝ่าย เป็นผู้สร้างบรรยากาศ และมีหน้าที่สรุปรายงาน การประกาศผลและกล่าวปิดงาน

2.สมาชิกผู้โต้วาที ประกอบไปด้วยทีมทั้ง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเสนอและฝ่ายค้าน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะมีหัวหน้าฝ่าย 1 คนและผู้สนับสนุนฝ่ายแต่ละฝ่ายอีก 3 คน (แต่ในยุคปัจจุบัน บางแห่งอาจใช้แค่ 2 คน ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับความเหมาะสม) สำหรับเรื่องของเวลาในการโต้วาทีแต่ละครั้งมักให้เวลาคนละ 5-7 นาที หรือ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของผู้จัดกำหนดขึ้นเอง

                ด้านหน้าที่ของหัวหน้าฝ่ายเสนอ มีหน้าที่ดังนี้ ขึ้นต้นควรกล่าวทักทาย แล้วจึงเริ่มเสนอญัตติ มีการแปรญัตติหรือความหมายหรือคำนิยามของญัตติ  หาเหตุผลข้อมูลมาเสนอเพื่อสนับสนุนญัตติของตนเอง มีการสรุปประเด็นสำคัญๆ สำหรับรอบที่สอง เป็นรอบสรุป หัวหน้าฝ่ายเสนอต้องเก็บกวาดหรือโต้แย้ง คู่แข่งทุกประเด็นที่ตกค้าง กล่าวคือผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอยังไม่ได้มีการพูดหักล้าง แล้วจึงกล่าวสรุปปิดท้าย โดยประเพณีหัวหน้าฝ่ายเสนอจะเป็นผู้สรุปคนหลังสุด

                ด้านหน้าที่ของหัวหน้าฝ่ายค้าน มีหน้าที่ดังนี้ กล่าวทักทาย มีการแปลญัตติที่ทำให้ฝ่ายตนเองได้เปรียบ ต้องพยายามหาเหตุผลมาคัดค้าน การนำเสนอของหัวหน้าฝ่ายเสนอ มีการโต้แย้งเป็นประเด็นโดยมีเหตุผลหรือหลักฐานอ้างอิง มีการเสนอแนะเหตุผลมาสนับสนุนฝ่ายตัวเอง สำหรับรอบที่สอง เป็นรอบสรุป หัวหน้าฝ่ายค้าน ต้องเก็บกวาดหรือโต้แย้ง คู่แข่งทุกประเด็นที่ตกค้าง กล่าวคือผู้สนับสนุนฝ่ายค้านยังไม่ได้มีการพูดหักล้าง แล้วจึงกล่าวสรุปปิดท้าย โดยประเพณีหัวหน้าฝ่ายค้านจะเป็นผู้สรุปก่อนหัวหน้าฝ่ายเสนอ

                บทบาทหน้าที่ของฝ่ายสนับสนุนฝ่ายเสนอ กล่าวทักทายผู้ฟัง อธิบายให้การสนับสนุนฝ่ายเสนอ หาเหตุผล ข้ออ้างอิง หลักฐานต่างๆ สถิติ ข้อเท็จจริง เอกสาร ภาพถ่าย มาใช้ประกอบเพิ่มเติม มีหน้าที่โต้แย้ง หาประเด็นต่างๆมาคัดค้านฝ่ายค้าน สรุปประเด็นเน้นย้ำให้กับฝ่ายของตนเองได้เปรียบ แล้วจึงกล่าวลาผู้ฟัง

                บทบาทหน้าที่ของฝ่ายสนับสนุนฝ่ายค้าน กล่าวทักทายผู้ฟัง อธิบายให้การสนับสนุนฝ่ายค้าน หาเหตุผล ข้ออ้างอิง หลักฐานต่างๆ สถิติ ข้อเท็จจริง เอกสาร ภาพถ่าย มาใช้ประกอบเพิ่มเติม มีหน้าที่พูดโต้แย้ง หาประเด็นต่างๆมาคัดค้ายฝ่ายเสนอ สรุปประเด็นเน้นย้ำให้กับฝ่ายของตนเองให้เกิดความได้เปรียบ แล้วจึงกล่าวลาผู้ฟัง

                ขั้นตอนในการเตรียมตัว เตรียมความพร้อม ของผู้โต้วาทีทั้งสองฝ่าย

1.ต้องเตรียมตัว เตรียมข้อมูล หาเอกสารต่างๆ รวมทั้งทำการศึกษา วิเคราะห์ญัตติในการโต้วาทีอย่างถ่องแท้ รวมทั้งจัดเตรียมเอกสาร หลักฐาน สื่อต่างๆเพื่อนำไปใช้ประกอบในการพูด

2.เตรียมต้นฉบับหรือสคิปในการพูด ว่าจะขึ้นต้นอย่างไร ตรงกลางจะพูดอะไร และสรุปจบจะพูดอะไร อีกทั้งควรเตรียม คำคม คำกลอน อารมณ์ขันในการสอดแทรกการพูด รวมไปถึง สุภาษิต คำพังเพยต่างๆ

3.เตรียมพร้อม เตรียมซ้อม ภาษากายที่ใช้ประกอบการพูด รวมไปถึง การแต่งกาย การใช้ท่าทางในการประกอบการพูด ทั้งนี้ควรมีการซ้อมพูดและฝึกการใช้ภาษากายหรือท่าทางประกอบการพูด

4.เตรียมข้อมูลของฝ่ายตรงกันข้าม นักโต้วาทีที่ดีต้อง รู้เขารู้เรา รู้เขาคือ ต้องรู้ว่าฝ่ายตรงกันข้ามจะพูดอะไร เตรียมข้อมูลอะไร แล้วคิดล่วงหน้าในการโต้ตอบฝ่ายตรงกันข้าม

5.การโต้วาทีที่ดี ไม่ควรเอ๋ยชื่อและควรเรียกชื่อ แต่ควรเอ่ยเป็น หัวหน้าฝ่ายเสนอ หัวหน้าฝ่ายค้าน ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 1 ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ 1 ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ 2 และผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ 2 เป็นต้น

6.หัวหน้าทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่ที่จะต้องสรุปประเด็นและสรุปญัตติ เพื่อเป็นการทิ้งท้ายให้ผู้ฟังประทับใจ ตอนสรุปถือว่าสำคัญมากๆ

7.สุดท้ายทีมผู้โต้วาที ควรซักซ้อม เตรียมตัว ปรึกษาหารือกันก่อน มีการตกลงกันว่าใครพูดก่อนหลัง ว่าใครมีข้อมูลอย่างไร เพื่อที่จะไม่ได้เกิดการพูดที่ซ้ำๆกันในเวลาที่ขึ้นเวทีจริง

                สำหรับการจัดทีมการโต้วาทีที่ดี

1.หัวหน้าทีม(ต้องเก่งที่สุด)

2.ผู้สนับสนุนคนที่ 1 (ต้องเก่งลำดับ 4 )

3.ผู้สนับสนุนคนที่ 2 (ต้องเก่งลำดับ 3)

4.ผู้สนับสนุนคนที่ 3 (ต้องเก่งลำดับ 2)

                คณะกรรมการจับเวลา มีหน้าที่จับเวลา มีการบันทึกเวลา มีการเตือนการใช้เวลาของสมาชิกที่โตวาที เมื่อใกล้หมดเวลาหรือหมดเวลา อาจใช้ภาษามือ กริ่ง  เพื่อเตือนสมาชิกที่โต้วาทีให้รู้ว่าใช้เวลาไปเท่าไร เหลือเวลาเท่าไร

                คณะกรรมการตัดสิน มีหน้าที่ให้คะแนนผู้โต้วาทีทั้ง 2 ฝ่าย คณะกรรมการควรเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในการโต้วาทีมาบ้าง มีหลักวิชา มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการพูดต่อหน้าที่ชุมชน มาร่วมกันตัดสิน ปกติกรรมการมักจะเป็นเลขคี่ คือ 3 คน และ 5 คน สำหรับการโต้วาทีในบางเวที หากไม่ได้มีการแข่งขันกันแบบเอาจริงเอาจัง บางแห่งอาจจะไม่มีกรรมการการตัดสินก็ได้ แต่อาจใช้เสียงปรบมือจากผู้ฟังเป็นตัววัดการแพ้ชนะ ทั้งนี้คณะผู้จัดการโต้วาทีอาจจะประกาศผลเสมอกันหรือไม่มีการตัดสินเลยก็ได้

                ผู้เข้าฟังการโต้วาที เป็นผู้ฟังหรือผู้ร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งผู้ฟังควรมีมารยาทในการฟัง ควรฟังอย่างตั้งใจ ควรให้ความร่วมมือโดยการปรบมือให้กำลังใจแก่ผู้โต้วาที เพื่อสร้างบรรยากาศให้เกิดความสนุกสนานในการโต้วาที

                ญัตติการโต้วาที ควรตั้งชื่อให้มีความน่าสนใจ มีความดึงดูด ญัตติการโต้วาทีควรเป็นญัตติแบบกลางๆ ที่ทุกฝ่ายยังหาข้อสรุปไม่ได้ อีกทั้งญัตติไม่เป็นญัตติที่ทำให้ฝ่ายได้ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ เป็นญัตติที่ทั้งสองฝ่ายสามารถหาเหตุผลมาโต้กันจนสามารถเอาชนะกันได้

                ญัตติการโต้วาทีที่น่าสนใจคือ ดูทีวีดีกว่าอ่านหนังสือพิมพ์,เกิดเป็นผู้ชายดีกว่าเกิดเป็นผู้หญิง,เป็นนักแสดงดีกว่าเป็นนักเขียน,เด็กแน่กว่าคนแก่ เป็นต้น

                ส่วนญัตติที่ไม่ควรนำเอามาโต้วาที คือ ญัตติที่แน่นอนซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ น้ำต้องไหลจากบนลงล่าง,พระจันทร์เกิดขึ้นในเวลากลางคืน,แผ่นน้ำมีมากกว่าแผ่นดิน เป็นต้น หรือเป็นญัตติที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ เช่น ไทยร่ำรวยกว่าประเทศญี่ปุ่น , คนไทยพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าคนอังกฤษ เป็นต้น

                ข้อควรระวังในการตั้งญัตติไม่ควรตั้งญัตติที่มีความเกี่ยวพันถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

                สำหรับการแปลญัตติหรือการตีญัตตินั้น เป็นหน้าที่ของหัวหน้าทั้งสองฝ่าย คือ หัวหน้าฝ่ายเสนอและหัวหน้าฝ่ายค้าน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องแปลญัตติหรือตีญัตติให้ฝ่ายของตนได้เปรียบ สำหรับผู้โต้วาทีบ่อยๆ หรือ มีประสบการณ์ในการโต้วาทีจะรู้ว่า การแปลญัตติหรือการตีญัตติมีความสำคัญถึงขนาดทำให้ได้รับชัยชนะเลยก็ได้

                มารยาทในการอ้างอิง สำหรับการโต้วาทีของประเทศไทย คือ ผู้โต้วาทีทั้งสองฝ่ายไม่ควรนำเอาพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาอ้างอิง เพราะจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำการโต้แย้งได้เลย

                การให้คะแนน แต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน เช่น การให้คะแนนของสโมสรฝึกพูดลานนาไทย เชียงใหม่ 1.คะแนนเหตุผล 30 %    2. คะแนนวาทศิลป์ 20 %    3. คะแนนไหวพริบปฏิภาณ 20 %

4.คะแนนภาษาไทย 15 %     5.คะแนนมารยาท  10%      6.คะแนนภาษากาย 5 %

หรือการโต้วาทีบางแห่งอาจให้คะแนน เช่น 1.คะแนนเหตุผล 30 %              2. คะแนนหักล้าง 30 %

3. คะแนนวาทศิลป์ 20 %            4.คะแนนหลักฐานอ้างอิง 10 %      5.คะแนนมารยาท  10%

                ทั้งนี้ ผู้โต้วาทีที่ดีและเก่ง ควรทำการวิเคราะห์และหาข้อมูลว่า คณะกรรมการใช้เกณฑ์ใดในการตัดสิน แล้วจึงให้ความสำคัญกับคะแนนที่สูง เพราะบางคนระวังเรื่องของมารยาทจนเองไปซึ่งมีคะแนนแค่ 10 % เลยเสียคะแนนเรื่องของวาทศิลป์ และการหักล้างซึ่งมีคะแนน 20-30 %

                สำหรับคุณสมบัติของนักโต้วาทีที่ดีมีดังนี้

1.ต้องมีทักษะในการฟัง การจด การคิด รวมไปถึงการใช้วาทศิลป์ในการพูด นักโต้วาทีที่ดีต้องมีสมาธิในการฟังฝ่ายตรงกันพูด อีกทั้งต้องสามารถจับประเด็นที่สำคัญๆได้ การจดก็ควรจดด้วยความรวดเร็ว มีความคิดที่เป็นระบบมีเหตุมีผลและการนำเสนอควรนำเสนออย่างมีวาทศิลป์ด้วย

2.ต้องมีการเตรียมการมาเป็นอย่างดีหรือทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ซึ่งควรเตรียมทั้งของเราและเตรียมของคู่แข่งคือต้องคิดล่วงหน้าว่าถ้าเราเป็นคู่แข่งขัน เราจะพูดอย่างไร เราจะคิดอย่างไร

3.ต้องมีไหวพริบปฏิภาณในการโต้วาที คือต้องสามารถตอบโต้สดๆ ในขณะปัจจุบันทันด่วนได้

4. ต้องไม่โกรธง่าย ต้องไม่หวั่นไหวง่าย ต้องมีใจคอหนักแน่น อดทนต่อคำเสียดสีจากฝ่ายตรงกันข้าม รวมไปถึงเรื่องของสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงด้วย

5.ต้องมีการทำงานเป็นทีม โดยมีการประชุมแล้ว แบ่งปันข้อมูล ต้องแบ่งหน้าที่ว่าใครเป็นหัวหน้าทีมและใครเป็นผู้พูดสนับสนุนคนที่ 1 คนที่ 2 และคนที่ 3

                สำหรับการโต้วาทีในปัจจุบัน มีลักษณะดังนี้

1.มีลักษณะของการอ่อนเหตุผล

2.มีลักษณะของการใช้วาทศิลป์ที่ด้อยกว่าในอดีต รวมไปถึงการใช้ ภาษากาย

3.มีลักษณะของการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง ไม่สวยงามเหมือนในอดีต

4.มีลักษณะของการใช้ไหวพริบปฏิภาณที่ด้อยลง ไม่เหนือชั้น เนื่องจากว่ามีสนามฝึกฝนน้อย

                               

                ขั้นตอนในการโต้วาที

1.ประธานมีหน้าที่กล่าวเปิด กล่าวอารัมภบท สร้างบรรยากาศ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ กล่าวทักทายผู้มาฟังการโต้วาที ต่อจากนั้นประธานต้องแนะนำผู้โต้วาทีทั้งสองฝ่าย แนะนำกรรมการจับเวลา แนะนำกรรมการตัดสิน จากนั้นจึงกล่าวเชิญผู้โต้วาทีทั้งสองฝ่ายสลับขึ้นมาพูด โดยเริ่มจาก หัวหน้าฝ่ายเสนอ หัวหน้าฝ่ายค้าน ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 1 ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ 1 ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 2 ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ 2  ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 3 ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 3 หัวหน้าฝ่ายค้านขึ้นมาสรุป และหัวหน้าฝ่ายเสนอขึ้นมาสรุปเป็นคนสุดท้าย ตามลำดับ

2.หัวหน้าฝ่ายเสนอ มีหน้าที่ในการแปลญัตติหรือตีญัตติ และหาข้อมูล หลักฐาน มาสนับสนุนฝ่ายของตน

3.หัวหน้าฝ่ายค้าน มีหน้าที่ในการแปลญัตติหรือตีญัตติ เพื่อให้ฝ่ายตนเองเกิดความได้เปรียบ และหาข้อมูล หลักฐาน มาพูดโน้มน้าวใจให้ผู้ฟังเกิดความคล้อยตาม

4.ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 1 พูดค้านประเด็นที่สำคัญๆของหัวหน้าฝ่ายค้าน แล้วกล่าวสนับสนุนหัวหน้าฝ่ายเสนอ และนำเสนอประเด็นใหม่

5.ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ 1 พูดค้านและหาเหตุผลมาหักล้าง หัวหน้าฝ่ายเสนอและผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 1

6.ต่อจากนั้นจึงเชิญ ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 2 ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ 2  ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 3 ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 3 หัวหน้าฝ่ายค้านขึ้นมาสรุป และหัวหน้าฝ่ายเสนอขึ้นมาสรุปเป็นคนสุดท้าย ตามลำดับ

7.จากนั้นประธานเชิญ กรรมการผู้ตัดสินขึ้นมาวิจารณ์การโต้วาที ในขณะเดียวกัน ต้องรวบรวมคะแนนและการใช้เวลาของทั้งสองฝ่าย เพื่อรวมคะแนน หลังจากนั้นก็ประกาศผลการตัดสิน กล่าวขอบคุณทุกๆฝ่ายและกล่าวปิด

                มารยาทในการโต้วาทีที่ดี

1.ไม่ควรอ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์

2.อย่าใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ หยาบคาย

3.อย่านำเรื่องส่วนตัวที่ไม่ดีของฝ่ายตรงกันข้ามมาพูด ยกเว้นเรื่องที่ดี

4.อย่าแสดงอารมณ์โกรธ แต่ต้องควบคุมอารมณ์ในการพูด ต้องแสดงความเป็นมิตรกับฝ่ายตรงกันข้าม

5.ไม่ควรเอ่ยชื่อ แต่ควรเอ่ยว่า หัวหน้าฝ่ายเสนอ หัวหน้าฝ่ายค้าน ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอ ผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน

6.อย่าใช้เวลาเกินหรือพูดเกินเวลาที่กำหนดมาให้ในการโต้วาที

                การหักล้าง

1.ต้องตั้งใจฟังผู้โต้วาทีทุกคนพูด แล้วจับประเด็นข้อกล่าวหา และเขียนข้อกล่าว พร้อมทั้งคำพูดในการตอบโต้ลงไปในกระดาษ

2.ต้องหาเหตุผล หลักฐาน ข้อมูล เพื่อมาหักล้างข้อกล่าวหา โดยหักล้างคนที่ลงจากเวทีพูดก่อนแล้วจึงไปยังคนแรก เช่น หากว่าเราเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ 1 เราต้องพูดหักล้างผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ 1 ก่อนแล้วจึงไปพูดหักล้างหัวหน้าฝ่ายเสนอเป็นคนต่อมา

3.ควรหาเหตุผลมาสนับสนุนข้อกล่าวหาโดยตอบโต้ฝ่ายตรงกันข้ามก่อนอย่างน้อยสัก 2-3 ประเด็น แล้วจึงหาข้อเสนอหาเหตุผลมาสนับสนุนฝ่ายตนเอง

4.หักล้างแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เช่น ฝ่ายตรงกันข้ามร้องเพลงมา ฝ่ายเราก็ต้องร้องเพลงแก้ ฝ่ายตรงกันข้ามยกกลอนมา เราก็ต้องยกกลอนแก้ ฝ่ายตรงกันข้ามยกคำคมมา ฝ่ายเราก็ต้องยกคำคมแก้ เป็นต้น

5.หักล้างแบบทำลายน้ำหนัก หากว่าฝ่ายตรงกันข้ามยกหนังสือมาอ้างอิง เราก็หักล้างว่า หนังสือนั้น   ไม่มีคุณภาพ ไม่ควรยึดถือหรือไม่ควรนำมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง อีกทั้งควรนำเสนอข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้ในการตอบโต้ เช่น ยกพจนานุกรม , ยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ,ยกสารานุกรมไทย,ยกเอนไซโคลพีเดีย  เป็นต้น

                การค้าน

1.ผู้โต้วาทีควรหาเหตุผล หาหลักฐานที่เหนือกว่าคู่แข่งมาใช้ประกอบการโต้วาที เช่น ฝ่ายตรงกันข้ามอ้าง  ปทานุกรม เราต้องอ้างพจนานุกรม ฝ่ายตรงกันข้ามอ้างพจนานุกรม เราต้องอ้างไซโคลปิเดีย

2.ผู้โต้วาทีต้องค้านให้ตก คือ ผู้โต้วาทีต้องพยายามค้านให้ได้ทุกประเด็น ต้องยืนยัน นั่งยืน นอนยืน ว่าฝ่ายเราถูกต้อง ไม่ควรใช้คำพูดในลักษณะ ว่า “ผมเห็นด้วย แต่...”

3.ผู้โต้วาทีควรต้องรู้จักค้านดักหน้า กล่าวคือ ผู้โต้วาทีไม่ต้องรอเขานำเสนอก่อนแล้วจึงค้าน แต่เราต้องค้านดักคอล่วงหน้า เพื่อทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบหรือทำให้อีกฝ่ายต้องแก้เกมส์อย่างกะทันหัน

วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

วิธีฝึกการพูดของ เดล คาร์เนกี


วิธีฝึกการพูดของ เดล คาร์เนกี

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                เดล คาร์เนกี เกิดที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐมิสซูรี เขามีฐานะไม่สู้ดีนัก เมื่ออยู่ในวัยเด็กและวัยเรียน เขาต้องอับอายกับการใส่เสื้อผ้าเก่าๆ ที่คับตึงและกางเกงขาสั้นเต่อ ซึ่งเขาไม่มีเงินพอที่จะซื้อชุดใหม่ เขามีความรู้สึกเป็นปมด้อยอยู่ตลอดเวลา

                หลังจากนั้นเขาได้ศึกษาวิชาการพูดหรือวิชาแสดงปาฐกถาและโต้วาที เนื่องจากเขาเห็นว่า นักศึกษาที่เก่งวิชานี้มีชื่อเสียงมีหน้ามีตาไม่แพ้กับนักกีฬา หลังจากนั้นเขาก็สมัครเข้าแข่งขันการพูดปาฐกถา ซึ่งเขาได้ทุ่มเทกับการเตรียมตัวและการฝึกซ้อมเป็นอันมาก เขาซ้อมในขณะนั่งอยู่บนหลังม้า ขณะรีดนมวัว ขณะถอนหญ้า แต่ผลปรากฏว่า เขาต้องแพ้แล้วแพ้อีก เขาท้อจนขนาดถึงคิดจะฆ่าตัวตาย แต่ต่อมาผลการแข่งขัน เขาเริ่มประสบชัยชนะในการแข่งขันและชื่อเสียงของเขาก็ดีขึ้น

                เมื่อเขาจบการศึกษาแล้วทำงาน เขาทำงานหลายๆอย่าง เช่น เขาแสดงละครเร่ เขาเป็นพนักงานขายรถบรรทุก และสุดท้ายเขาฝันว่าจะมีเวลาเขียนหนังสือและศึกษาค้นคว้า เขาจึงไปสมัครเป็นอาจารย์สอนวิชาการพูดต่อหน้าที่ชุมชนกับมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ปรากฏว่าทั้งสองมหาวิทยาลัยปฏิเสธเขา แต่เขาก็พยายามต่อไปจนในที่สุด โรงเรียนกลางคืน ไว.เอ็ม.ซี.เอ รัฐนครนิวยอร์ก ตกลงทำสัญญาให้เขาสอน เมื่อเขาสอนไปได้ไม่นานชื่อเสียงของเขาก็เริ่มดังขึ้น จนในที่สุด เขาได้เปิดสาขาการศึกษาวิชาการพูดในที่ชุมชนขึ้นถึง 750 แห่งในสหรัฐและอีก 14 ประเทศ ในขณะนั้น สำหรับในปัจจุบันก็มีการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้นเกือบทุกประเทศทั่วโลก

                เดล คาร์เนกี จึงถือได้ว่า เป็นปรมาจารย์ในวิชาการพูดในที่ชุมชนที่คนรู้จักเกือบทั่วโลก สำหรับวิธีการฝึกการพูดของเขา เขาได้เขียนเอาไว้ในหนังสือ การพูดในที่ชุมชน โดยสรุปย่อๆได้ดังนี้

                1.ตั้งต้นศึกษาด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้าและไม่ลดละ จงตั้งเป้าหมาย จงคิดถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการพูดในที่ชุมชน เช่น เมื่อท่านประสบความสำเร็จในด้านการพูดแล้ว ท่านจะได้รับเงินทอง ชื่อเสียง ตำแหน่งมากมาย

                ศาสตราจารย์ วิลเลี่ยม เยมส์ ได้กล่าวว่า “ ถ้าท่านอยากเป็นนักพูดในที่ชุมชน ท่านต้องมีความปรารถนาอย่างแท้จริง แล้วท่านก็จะได้เป็นนักพูดในที่ชุมชนในที่สุด ”

                2.การเตรียมตัว เขาจะให้ความสำคัญกับการเตรียมตัว เขาแนะนำว่า เราจะไม่รู้สึกมั่นใจเว้นแต่เราจะรู้ว่าเรากำลังจะพูดถึงเรื่องอะไร เขาจะสอนลูกศิษย์ของเขาโดยให้ความสำคัญกับการเตรียมตัว กล่าวคือ เมื่อทราบว่าจะพูดเรื่องอะไร เขาแนะนำให้ไปหาหนังสือเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องที่จะพูดมาอ่าน แล้วรวบรวมวัตถุดิบให้มาก หรือหาความรู้ให้มากกว่าที่เราจะนำเอาไปใช้หลายๆเท่า การเตรียมตัวนั้น เขาให้ความสำคัญทั้งการเตรียมร่างกายด้วย เช่น เขาแนะนำว่า ไม่ควรพูดปาฐกถาในขณะที่ท่านกำลังเหน็ดเหนื่อย จงพักผ่อนหลับนอนก่อน อีกทั้งอย่าได้กินอาหารหนักๆก่อนไปแสดงปาฐกถาแต่ควรหาอาหารว่างที่เบาๆทาน

                3.ทำกิริยาท่าทางแสดงความมั่นใจ เขาแนะนำให้ออกไปพูดในที่ชุมชนด้วยความกล้าหาญ จงยิ้มเข้าไว้ เพราะเมื่อเราแสดงความกล้าหาญ เราก็จะเกิดความมั่นใจขึ้น อีกทั้ง เดล คาร์เนกี ยังได้แนะนำเรื่องของการใช้เสียงว่า เราควรพูดเสียงหนักที่คำที่มีความสำคัญและพูดเสียงลดลงในคำที่ไม่มีความสำคัญ  ในการพูดควรใช้เสียงที่มีระดับเสียงสูงและเสียงลงบ้าง ในการพูดควรมีการหยุดพูดหรือหยุดเป็นจังหวะบ้าง กล่าวคือไม่ควรใช้เสียงที่ราบเรียบจนเกินไป

                4.ฝึกหัด ฝึกหัด ฝึกหัด ข้อนี้ เดล คาร์เนกี ให้ความสำคัญมากที่สุด การขาดความมั่นใจเกิดจากการขาดความชำนาญ แต่ถ้าเราอยากจะชำนาญในเรื่องใด เราก็ต้องทำการฝึกหัด ฝึกหัด ฝึกหัด แล้วเราก็จะเกิดความชำนาญ เมื่อเกิดความชำนาญความมั่นใจก็จะเกิดขึ้นกับเรา

                เนี่ยคือวิธีการฝึกการพูดของเดล คาร์เนกี และท่านก็ได้สอนการพูดในที่ชุมชนให้แก่คนเป็นจำนวนมาก ถ้าหากท่านผู้อ่านต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมท่านสามารถหาอ่านได้จากหนังสือ การพูดในที่ชุมชน เขียนโดย เดล คาร์เนกี สำหรับฉบับภาษาไทยแปลโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์

วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เห็นไมค์แล้วไข้ขึ้น


เห็นไมค์แล้วไข้ขึ้น

โดย..ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                อาการแบบนี้ มักเกิดขึ้น กับผู้พูดหลายๆคน ที่มีอาการกลัว อาการประหม่า  เมื่อถูกเชิญให้ขึ้นไปพูดต่อหน้าที่ชุมชน หลายๆคน เมื่อรู้ว่าในวันพรุ่งนี้ จะต้องถูกเชิญให้ไปพูดต่อหน้าที่ชุมชน บางคนนอนไม่หลับ บางคนเป็นไข้  ไม่สบาย เกิดอาการเครียด ตื่นเต้น คิดมาก วิตกกังวล ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนโดยทั่วไป ที่ไม่ได้มีการฝึกฝนการพูดต่อหน้าที่ชุมชน ฉะนั้น เราสามารถแก้อาการเหล่านี้ได้ดังนี้

                1.ต้องทำจนชิน  หลายๆคนเกิดอาการประหม่า  วิตกจริต เมื่อต้องขึ้นไปพูดต่อหน้าที่ชุมชน สาเหตุหนึ่ง เกิดจากการไม่ชินเวที ฉะนั้น หากต้องการให้เกิดการชินเวที  เราคงหนีไม่พ้นที่จะต้อง ขึ้นไปพูดบนเวทีบ่อยๆ เมื่อท่านชิน เรื่องท่านคุ้นเคยกับการพูดต่อหน้าที่ชุมชนแล้ว อาการเหล่านี้ก็จะลดน้อยลง

                2.ต้องเตรียมตัวก่อนทุกครั้ง  หลายๆคน  ไม่มีความมั่นใจในตนเอง สาเหตุหนึ่งเพราะไม่รู้ว่าจะขึ้นไปพูดเรื่องอะไร  ฉะนั้น ต้องมีการเตรียมตัวโดยการเขียนสคิปหรือบทพูดก่อน  ว่า  เราจะพูดอะไรบ้าง อะไรก่อน อะไรหลัง จะมีคำคม สุภาษิต อารมณ์ขัน สอดแทรกไว้ที่ใดได้บ้าง จึงจะเหมาะสมกับเรื่องที่พูด

                3.ต้องซ้อมพูดบ่อยๆ หลายคนเมื่อเตรียมสคิปหรือบทพูดแล้ว แต่ไม่ยอมฝึกซ้อมการพูด จึงทำให้ตอนไปพูดบนเวทีจริงๆ  เกิดอาการพูดที่ติดๆขัดๆ  ฉะนั้น เมื่อเตรียมสคิปหรือบทพูดแล้ว ก็ควรซ้อมพูดหลายๆครั้ง เพื่อให้เกิดการจำ  เพื่อให้เกิดการพูดคล่อง  และเพื่อให้เกิดการเชื่อมั่นในตนเอง

                4.ต้องให้กำลังใจตนเองและปลุกปลอบใจตนเอง ต้องหมั่นพูดกับตัวเอง ว่า “ ฉันทำได้”  ,“สู้ตาย”  ,“ฉันเชื่อมั่น” , “ฉันเก่งที่สุด”  ฉะนั้น การให้กำลังใจตนเองและการปลุกปลอบใจตนเอง จะทำให้เราเกิดความกล้า เกิดความมั่นใจในตนเอง ซึ่งคำพูดที่จะช่วยให้กำลังใจตนเองและปลุกปลอบใจตนเองของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน จงหาคำพูดที่ทำให้ตนเองมีพลัง ความกล้า ความเชื่อมั่น สำหรับคำพูดของกระผมก่อนขึ้นพูดต่อหน้าที่ชุมชนทุกครั้ง  ผมจะพูดกับตัวเองในใจหรือพูดเบาๆกับตัวเองว่า  “ ใครเต็มที่ไม่เต็มที่ไม่รู้  แต่เราเต็มที่ไว้ก่อน”

                5.ต้องเปลี่ยนทัศนคติให้ชอบการพูดต่อหน้าที่ชุมชน  หลายๆคนไม่อยากขึ้นพูดต่อหน้าที่ชุมชน เพราะไม่ชอบ เขาจึงพยายามหลีกหนีหรือหลีกเลี่ยง การที่จะได้ขึ้นไปพูดต่อหน้าที่ชุมชน ฉะนั้น หากท่านต้องการที่จะพูดต่อหน้าที่ชุมชนให้ได้ดี  ท่านจะต้องเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ จากการที่ไม่ชอบการพูดต่อหน้าที่ชุมชน  ให้เปลี่ยนมาเป็นความชอบ โดยท่านต้องพยายามนึกถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการพูดต่อหน้าที่ชุมชน เช่น เมื่อท่านพูดเก่ง พูดดี  ท่านจะได้รับตำแหน่ง ท่านจะได้รับชื่อเสียง ท่านจะได้รับการยกย่อง และท่านจะได้รับเงินทองอีกมากมาย  เป็นต้น

                6.ต้องมีความอดทน ฝึกฝน ตัวเองตลอดเวลา  ในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ เรามักจะพูดผิดพูดถูก พูดแล้วคนไม่อยากที่จะฟัง ท่านก็ไม่ควรที่จะท้อแท้ ท้อถอย ขอให้ฝีกไป เรียนไป อย่างสม่ำเสมอ หลายๆคนเมื่อพูดไปแล้ว ไม่ประสบความสำเร็จในช่วงแรกๆ ก็ท้อแท้ใจ ไม่อยากที่จะขึ้นพูดต่อหน้าที่ชุมชนและหลายๆคนปฏิเสธการพูดต่อหน้าที่ชุมชนไปเลยก็มี กล่าวคือ เมื่อถูกเชิญให้พูดก็จะขอร้องว่า  “กระผมไม่ขอพูดได้ไหม”  ฉะนั้น หากท่านต้องการที่จะประสบความสำเร็จในการพูด  หากท่านต้องการลดอาการประหม่า  ท่านจะต้องมีความอดทน ท่านจะต้องหมั่นฝึกฝน แล้วสักวันหนึ่ง อาการประหม่า อาการตื่นเต้น ก็จะลดน้อยลงไปและถ้าหากท่านยิ่งฝึกฝนมากเท่าไร อนาคตอันใกล้ ท่านจะได้เป็นนักพูดที่พูดไปแล้วผู้ฟังอยากที่จะฟังการพูดของท่านอย่างแน่นอน

                ทั้ง 6 วิธีการ ดังกล่าวข้างต้นนี้จะทำให้ท่านลดอาการประหม่า  ลดอาการวิตกกังวล และทำให้ท่านเกิดความเชื่อมั่นหรือมั่นใจในตนเองยิ่งขึ้น ฉะนั้น หากว่าท่านเกิดความกลัวที่จะขึ้นพูดต่อหน้าที่ชุมชน กระผมขอแนะนำวิธีแก้ไขความกลัว ซึ่งเป็นเทคนิคที่กระผมใช้อยู่ คือ หากท่านกลัวสิ่งไหน จงเข้าหาสิ่งนั้น

เช่น หากว่าท่านกลัวการขี่ม้า กลัวตกม้า กระผมขอให้ท่านขึ้นไปขี่มัน เช่นกัน หากว่าท่านเกิดความกลัวที่จะขึ้นไปพูดต่อหน้าที่ชุมชน กระผมขอให้ท่านเดินขึ้นไปพูด แล้ว ความกลัวของท่านก็จะลดน้อยลงไปในที่สุด

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การสร้างอารมณ์ขันในการพูด


การสร้างอารมณ์ขันในการพูด

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                มีหลายคนมักชอบตั้งคำถาม ถามว่า ทำอย่างไรถึงจะให้การพูดเป็นที่น่าสนใจของผู้ฟัง ฟังแล้วไม่เบื่อ ฟังแล้วคนชอบ คนศรัทธา สำหรับการพูดต่อหน้าที่ชุมชนในสังคมไทยนั้น ผู้พูดที่มีการใช้อารมณ์ขันสอดแทรกในการพูด  คงเป็นคำตอบของคำถามข้างต้นได้เป็นอย่างดี

                ดังคำพูดของ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐ อับบราฮัม ลินคอล์น ที่พูดว่า  “ คนเราต้องการการเรียนรู้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการความสนุกสนานด้วย”

                เทคนิคในการใช้อารมณ์ขันในการพูด

                1.ต้องมีการปูเรื่องก่อน  การเล่าเรื่องขำขันหรือเรื่องตลกที่ดี ควรมีการลำดับเรื่องไปก่อนแล้วถึงจุดไคลแมกซ์แล้วจึงปล่อยมุขขำขันหรือมุขตลกสอดแทรก จึงจะประสบความสำเร็จ

                2.ต้องไม่บอกว่า เรากำลังจะพูดเรื่องตลกหรือเรื่องขำขัน เพราะถ้าไปพูดเช่นนั้น ผู้ฟังอาจคาดหวัง แต่เมื่อผู้พูด พูดไป ผู้ฟังกับไม่หัวเราะ ก็จะทำให้ผู้พูดหน้าแตกได้

                3.ต้องไม่ขำเสียเองหรือทำหน้าตายได้ยิ่งดี (คือไม่หัวเราะเอง หรือ ไม่หัวเราะก่อน)

                4.ต้องฉับไวในการปล่อยลูกเล่นหรือเรื่องขำขัน  ต้องกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ จนน่าเบื่อ

                5.ต้องสอดใส่ อารมณ์ ในการพูด เช่น  เสียง อารมณ์ อาการ ต้องไปในทิศทางเดียวกัน

                6.ต้องไม่ตรวจสอบหรือสอบถามผู้ฟังบ่อยๆ เพราะผู้พูดบางคน กลัวว่าผู้ฟังจะได้ฟังเรื่องขำขันหรือเรื่องตลกแล้ว ก็จะสอบถามอยู่บ่อยๆ ว่า “ ได้ฟังหรือยัง”  “ได้ฟังหรือยัง” จึงสร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้ฟัง

                การสร้างอารมณ์ขัน

                1.ต้องเป็นนักสะสม จดจำ  หัดจดจำ เรื่องราว ขำขันหรือตลกต่างๆ เพื่อนำมาเล่า

                2.ต้องรู้จักมองโลกในแง่ดี  การมองโลกในแง่ดี จะทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆได้

                3.ต้องฝึกฝนไหวพริบปฏิภาณ  เพราะไหวพริบปฏิภาณจะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาต่างๆได้

                4.ต้องฝึกพัฒนาความคิด เช่น ความคิดเชิงสร้างสรรค์ ความคิดทางขวาง ความคิดเชิงเปรียบเทียบ

                5.ต้องเป็นนักอ่านหนังสือและนักฟังเพื่อ หาข้อมูลขำขันหรือเรื่องตลกต่างๆในการพูด

                6.ต้องฝึกพัฒนาทักษะในการพูดขำขันหรือพูดตลกบ่อยๆ  โดยหาเวทีที่จะแสดง

                7.ต้องหมั่น แก้ไข ปรับปรุง ให้ดีขึ้น  ลองหมั่นสังเกตว่า เรื่องนี้ เราพูดแล้วทำไมมันไม่ขำ และหาวิธีการใหม่ๆ

                สำหรับปัจจัยอื่นๆที่ช่วยในการสร้างอารมณ์ขันให้ประสบความสำเร็จมีดังนี้

                1.ต้องเป็นตัวของตนเอง  เราอาจเลียนแบบนักพูดที่เราชอบได้ในระยะแรก แต่สุดท้าย เราต้องเป็นตัวของตัวเอง ก็ด้วยการพัฒนามันขึ้นมา

                2.ต้องรู้จักวิเคราะห์ผู้ฟัง ว่าผู้ฟังเป็นใคร เราควรเล่าเรื่องขำขันเรื่องนี้หรือไม่   เพราะ ระดับการศึกษา อาชีพ  วัย   ของผู้ฟังมีผลต่อเรื่องที่เราจะนำไปเล่า  เพราะหากไม่พิจารณาแล้ว   เราเล่าไปผู้ฟังเขาก็อาจจะไม่เข้าใจในเรื่องขำขันหรือเรื่องตลกที่เราเล่าได้

                3.ต้องไม่เล่าเรื่องขำขัน ที่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัวของผู้ฟังที่จะก่อให้เกิดการเสียหายหรือเสียหน้า

                4.ต้องรักษามารยาท  ต้องสุภาพ ไม่ไปพูดก้าวร้าว ผู้ฟัง

                5.ต้องดูสภาพแวดล้อม กาลเทศะ ในการใช้อารมณ์ขัน

                                ดังนั้น การสร้างอารมณ์ขันในการพูด จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าหากนักพูดท่านใด สามารถสร้างอารมณ์ขัน แล้วนำเอาไปใช้ในการพูดได้อย่างเหมาะสม นักพูดท่านนั้น ก็จะได้รับคำนิยม ได้รับชื่อเสียง  เงินทอง ตำแหน่งต่างๆอย่างมากมาย

วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

นักพูดที่ดีต้องรู้จักวิเคราห์ภาษากายของผู้ฟัง


นักพูดที่ดีต้องรู้จักวิเคราะห์ภาษากายของผู้ฟัง

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                นักพูดที่ดีต้องรู้จักวิเคราะห์ภาษากายของผู้ฟัง หากว่าเราเป็นนักพูด นักบรรยาย วิทยากร เราสามารถวิเคราะห์ผู้ฟังได้จากภาษากาย ว่าผู้ฟังมีความตั้งใจฟังเรา สนใจฟังเรา หรือ มีความเบื่อหน่าย ไม่อยากที่จะฟังเรา ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์ภาษากายของผู้ฟังได้จาก ใบหน้า ท่าทาง ความสนใจของผู้ฟัง การนั่ง ความเคลื่อนไหวต่างๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้             

                นั่งกอดอก แสดงถึงการป้องกันตัวเอง เริ่มไม่ไว้วางใจ ความไม่สนใจในเรื่องที่พูด ความไม่ใส่ใจ การต้องการวางอำนาจเหนือผู้พูด และไม่ยอมเปิดใจที่จะรับฟัง

                นั่งเอามือเท้าคาง เป็นลักษณะของคนกำลังใช้ความคิด หากเท้าคางแล้วเอนตัวมาข้างหน้า แสดงว่ากำลังสนใจกับเรื่องที่ผู้พูดพูด แต่ถ้าหากเท้าคางแล้วเอนตัวไปข้างหลัง แสดงว่า ไม่สนใจในเรื่องที่ผู้พูดพูด

                นั่งขาถ่างหรือชอบนั่งอ้าขา แสดงถึงความเปิดเผย เป็นมิตร เป็นกันเอง เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ กล้าแสดงออก

                นั่งไขว่ห้าง แสดงถึงการป้องกัน ไม่เปิดใจที่จะรับฟัง เป็นคนมั่นใจในตนเอง

                นั่งตัวตรง แสดงถึงเป็นคนกล้าพูดกล้าทำ กล้าแสดงออก  มีความเป็นผู้นำ มีพลัง มีความกระตือรือร้น มีความรับผิดชอบสูง

                นั่งจับจมูกบ่อยๆ แสดงถึงความไม่มั่นใจ ครุ่นคิด สับสน ต้องการใช้เวลาตัดสินใจ

                นั่งพนักหน้าตอบรับเป็นระยะๆ แสดงความเป็นกันเอง รู้สึกมีความเห็นด้วยกับผู้พูด เป็นมิตร กำลังเชื่อในเรื่องที่ผู้พูดได้พูด

                นั่งเอามือวางไว้ที่บนตัก แสดงถึงว่าเป็นคนที่มีความสุภาพ อ่อนโยน รู้สึกเจียมตัว มีความเรียบร้อย

                นั่งเอามือซุกกระเป๋า แสดงถึงว่าไม่ต้องการฟัง รู้สึกอึดอัดใจ

                นั่งแล้วเอามือเกาศีรษะบ่อยๆ แสดงถึงอาการสงสัย ไม่เข้าใจในเรื่องที่ฟัง

                นั่งกระดิกขา แสดงถึงอาการผ่อนคลาย เปิดเผย  รู้สึกสบายๆ ไม่กระตือรือร้น

                นั่งก้มหน้า แสดงถึง การซ่อนหรือเก็บความรู้สึกบางอย่าง ไม่อยากเปิดเผย ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกประหม่า รู้สึกกลัว รู้สึกอาย

                นั่งฟังแต่ไม่กล้าสบสายตา แสดงถึงการทำผิด ประหม่า ไม่มีความมั่นใจในตนเอง มีพิรุธ

                นั่งหลังงอไหล่ห่อ เป็นคนที่สบายๆ ไม่ชอบเรื่องมาก ไม่ค่อยเครียด

                แต่อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ภาษากายหรืออ่านใจผู้ฟัง ควรใช้วิจารณญาณ สัญชาติญาณ สถานการณ์ อารมณ์ ความรู้สึก ของผู้ฟัง ประกอบด้วย รวมไปถึงเรื่องความแตกต่างของเชื้อชาติ วัฒนธรรม  ภาษา ซึ่งเหล่านี้ก็อาจทำให้เกิดความแตกต่างกันในการวิเคราะห์และอาจจะไม่มีความถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์