วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

พูดให้ถูกสถานการณ์


พูดให้ถูกสถานการณ์

โดย....ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                        คนที่พูดเก่ง พูดเป็น มักจะต้องรู้จักสถานการณ์ในการพูด ในบางสถานการณ์ก็ต้องรู้จัก “ นิ่งเงียบ” เพราะ การนิ่งเงียบก็คือการใช้คำพูดที่ดีที่สุดในภาวะสถานการณ์นั้น หรือในบางสถานการณ์ ก็ต้องมีความจำเป็นที่จะต้องพูด เพราะถ้า ไม่พูด เราและคนรอบข้างก็จะเกิดความเดือดร้อนและไม่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นั้น

                                “นิ่งเงียบ” พวกเราคงได้ยิ่ง คำพูดของคนโบราณที่พูดว่า “พูดไปสองไพร่เบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”  ในบางครั้ง การนิ่งเงียบ ก็มีประโยชน์และสร้างชัยชนะให้เกิดขึ้นอย่างเหนือชั้น มีคนถามแล้วสถานการณ์แบบไหนละ ที่ควรจะ “นิ่งเงียบ” สถานการณ์ที่เราควรจะนิ่งเงียบ คือ สถานการณ์ที่เราต้องการหลีกเลี่ยงการปะทะกัน การไม่พูดหรือการนิ่งเงียบ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น อีกทั้งยังสร้างความประทับใจให้แก่อีกฝ่ายจนลืมไม่ลง

                                ครั้งหนึ่งมีนักกีฬา ฟุตบอลคนหนึ่ง อยู่ระหว่างการเก็บตัวเพื่อฝึกซ้อมเพื่อไปแข่งขัน นักฟุตบอลคนนี้แอบหนีไปเที่ยวตอนกลางคืน ซึ่งผิดกฏระเบียบของทีมที่ได้ตกลงกันเอาไว้   โดยหากว่าผู้ใดกระทำการผิด  ก็จะถูกโค้ชสั่งให้ลงโทษอย่างหนัก   เขาเตรียมรับกับการถูกลงโทษและถ้าอดทนไม่ไหว เขาก็จะขอทะเลาะกับโค้ชและจะลาออกจากทีมไป  แต่เมื่อมาถึง โค้ชกับไม่ได้ว่าอะไรเขา แม้แต่คำเดียว   แต่โค้ชกลับ “นิ่งเงียบ” ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น  นับตั้งแต่นั้น นักฟุตบอลคนนี้ คือผู้เล่นที่ดีที่สุดคนหนึ่งของทีม เขาตั้งใจฝึกซ้อมและไม่เคยหนีเที่ยวอีกเลย

                                อีกหลายปีต่อมา เขาได้จบการศึกษา  ทางมหาวิทยาลัยได้มีการจัดงานเลี้ยงฉลอง ปรากฏว่าเขาได้เจอโค้ชคนนี้ที่งานเลี้ยง เขาจึงตรงเขาไปสารภาพว่า “ เขาเคยหนีไปเที่ยวตอนกลางคืน แทนที่โค้ชจะลงโทษผมอย่างหนัก แต่โค้ชกับนิ่งเงียบ  ทำให้ผมไม่ลืมเหตุการณ์ในครั้งนั้น จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ผมจึงขอสารภาพผิดกับโค้ช” เมื่อนักฟุตบอลผู้นั้น สารภาพผิดจึงเกิดความสบายใจขึ้น

                                “ขอโทษ” ต้องรู้จักพูดคำว่า “ขอโทษ”  อดีตนายกรัฐมนตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ เคยกล่าวคำคมไว้ประโยคหนึ่งว่า “ ก่อนพูด เราเป็นนายคำพูด หลังพูด คำพูดเป็นนายเรา” ในเรื่องของการใช้คำพูด   เมื่อเราได้มีโอกาสใช้มากเท่าไร โอกาสผิดพลาดก็ยิ่งมีมาก แต่จะทำอย่างไรให้ สิ่งที่เราเคยพูดผิดพลาดไป ทำให้เราเกิดผลเสียกับเราน้อยที่สุด

                                พวกเราคงเคยเห็นดาราหลายๆ คนให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ โดยกล่าวโจมตี บุคคลอื่น จึงทำให้ตนเองเกิดภาพพจน์ที่เสียหายในเวลาต่อมา  แต่เมื่อเราทำผิดพลาดแล้ว เราจะทำอย่างไร การพูดคำว่า “ขอโทษ” เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ผลเสียอันเกิดจากการพูดลดน้อยลง ดังนั้น จงกล่าวคำว่า “ ขอโทษ” หากว่าท่านเป็นผู้ผิด ดีกว่าจะทำเป็น นิ่งเงียบหรือหาทางแก้ตัว

                                “ไม่ผูกมัด” นักการทูตที่ดีหรือนักการเมืองที่ดี ไม่ควรพูดผูกมัดตัวเอง แต่ควรมีการเลือกใช้คำพูดประเภทยืดหยุ่น เช่น บางคน บางครั้ง บางเวลา   หรือ ช่วงเวลาที่เหมาะสม  เป็นต้น

                                ตัวอย่าง  เช่น หากมีผู้ใหญ่ที่เรานับถือมาเยี่ยมเยือน สถานที่ทำงานของเรา  เราก็ให้การต้อนรับ  หลังจากที่ผู้ใหญ่ท่านนั้น จะลากลับ ก็ได้ชวนเราให้ไปเยี่ยมเยือน สถานที่ทำงานของเขาบ้าง เราก็ควรหาคำตอบที่มีลักษณะยืดหยุ่นและไม่ผูกมัดตัวเองว่า “ หากมีโอกาสและมีช่วงเวลาที่เหมาะสม กระผมจะได้ไปเยี่ยมเยือนท่าน” ซึ่งการพูดลักษณะนี้ มีลักษณะยืดหยุ่นสูง เพราะคำว่า “ หากมีโอกาสและมีช่วงเวลาที่เหมาะสม”   คำว่า  “เหมาะสม” อาจเป็นช่วงเวลาไหนก็ได้  (อาทิตย์หน้า     เดือนหน้า   ปีหน้า) แต่ถ้าคนพูดไม่เป็นก็จะรีบพูดผูกมัดตัวเอง “ ขอเป็นเดือนหน้าครับ” ผมไปเยี่ยมเยือนท่าน ซึ่งการพูดลักษณะนี้ เราจะต้องไปจริงๆ หากติดธุระหรือไปไม่ได้ ก็จะเป็นการผิดคำพูด ที่ได้พูดออกไป

                                ดังนั้น จึงขอสรุปว่า คนที่พูดเก่ง พูดเป็น จะต้องรู้จักใช้คำพูดให้ถูกกับสถานการณ์ เพราะคำพูดของคนเราเป็นทั้งศาสตร์และเป็นทั้งศิลป์ เราจึงต้องควรเรียนรู้  การใช้คำพูดเพื่อนำไปประยุกต์ใช้  คำพูดจึงจะก่อประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น รวมถึง สังคมและประเทศชาติอีกด้วย