วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

ประโยชน์ของการฝึกอบรม


ประโยชน์ของการฝึกอบรม

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก

www.drsuthichai.com

การฝึกอบรมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการพัฒนา  การฝึกอบรมที่ดีจึงต้องสนองตอบกับวัตถุประสงค์ที่องค์กรต้องการ หากว่าการฝึกอบรมไม่สามารถสนองตอบกับวัตถุประสงค์ที่องค์กรต้องการ การฝึกอบรมนั้นๆ จะได้รับประโยชน์ที่ลดน้อยลง  ซึ่งการฝึกอบรมมีประโยชน์ทั้งต่อหน่วยงาน ห้าง ร้าน องค์กร และการฝึกอบรมมีประโยชน์ต่อทั้งตัวของบุคลากร ซึ่งผู้เขียนของขยายรายละเอียด ตามข้อความด้านล่างนี้  

การฝึกอบรมมีประโยชน์ต่อหน่วยงาน ห้าง ร้าน องค์กร ดังต่อไปนี้

1.ช่วยเพิ่มผลผลิต  รายได้  กำไร ให้แก่หน่วยงาน

2.ช่วยลดค่าใช้จ่าย   เวลา  ลดอุบัติเหตุ  ลดการลาออกของบุคลากร

3.ช่วยให้เกิดความสามัคคี  ช่วยให้เกิดมีทิศทางในการทำงานไปในทิศทางอย่างเดียวกัน

4.ช่วยให้หน่วยงาน ขยายงาน ขยายสาขาได้มากขึ้น และรวดเร็วยิ่งขึ้น

5.ช่วยให้หน่วยงาน มีการเปลี่ยนแปลง มีการปรับตัวได้ทันต่อการแข่งขัน

การฝึกอบรมมีประโยชน์ต่อบุคลากร ดังต่อไปนี้

1.เสริมสร้างองค์ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ใหม่ๆให้แก่บุคลากร

2.เป็นการลดความขัดแย้งและเพิ่มความสัมพันธ์อันดีของบุคลากร

3.ทำให้บุคลากรเกิดการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีความกระตือรือร้นในงานที่ทำ

4.ลดการกำกับควบคุม  การติดตามการทำงานของบุคลากร

5.เพิ่มศักยภาพ ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดในการกล้าแสดงออกของบุคลากร

 

วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557

การเลือกวิทยากร


การเลือกวิทยากร

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก

www.drsuthichai.com

          ในการฝึกอบรม การคัดเลือกวิทยากรมีความจำเป็นและมีความสำคัญเป็นอันมาก ซึ่งการคัดเลือกวิทยากรต้องมีความพิถีพิถัน เป็นอย่างยิ่ง หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกวิทยากร ควรมีหลักเกณฑ์ดังนี้

          1.มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในหัวข้อหรือหลักสูตรที่จะให้บรรยาย ผู้จัดการฝึกอบรมควรที่จะมีการตรวจสอบ วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ ของวิทยากรว่ามีความรู้และประสบการณ์ตรงกับหัวข้อนั้นๆหรือไม่

          2.มีความสามารถในการถ่ายทอด สอนเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย สอนสนุก  ผู้ฟังสนใจฟัง ไม่น่าเบื่อ

          3.มีชื่อเสียงในวงการหรือมีชื่อเสียงในหัวข้อที่บรรยาย ซึ่งผู้จัดการฝึกอบรม สามารถดูผลงานที่เผยแพร่สู่สาธารณะ ในรูปแบบต่างๆ เช่น หนังสือ บทความ ตำรา เอกสารต่างๆ

          4.มีการบรรยายหรือมีการนำเสนอเนื้อหาได้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการอบรม เพราะวิทยากรหลายท่าน มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญในหัวข้อนั้น อีกทั้งมีการบรรยายที่สนุกสนาน ผู้ฟังชื่นชอบ แต่เนื้อหาที่บรรยายไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่วางเอาไว้

          5.มีบุคลิกภาพที่ดี มีความน่าเชื่อถือ มีอายุ  มีเพศ ที่เหมาะสมกับเนื้อหาที่ต้องการให้บรรยาย

          ทั้งนี้ ผู้จัดการฝึกอบรม ควรต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของวิทยากร โดยการสอบถามพรรคพวกเพื่อนฝูงที่อยู่ในวงการฝึกอบรมที่ตนเองรู้จักว่า คุณสมบัติและความสามารถของวิทยากรท่านนี้อยู่ในระดับใด อีกทั้งหากเป็นไปได้ควรขออนุญาตวิทยากรท่านนั้น ไปนั่งฟังการบรรยาย ไปสังเกตวิธีการสอน ก่อนที่จะเชิญไปสอนจริงๆ   

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2557

วิทยากรกับการเป็นวิทยากร


วิทยากรกับการเป็นวิทยากร

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก

www.drsuthichai.com

                วิทยากร หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวการสำคัญ ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดทักษะ เกิดทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องที่อบรม จนกระทั่งผู้เข้ารับการอบรมเกิดการเรียนรู้และสามารถจุดประกายความคิด เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ของเรื่องหรือวิชานั้นๆ ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว วิทยากรจึงมีบทบาทที่สำคัญหลายประการเช่นอาจเป็นทั้งผู้บรรยาย ผู้สอน ผู้ฝึก พี่เลี้ยง ผู้กำกับการแสดง ตลอดจนผู้ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ เป็นต้น( สุวิทย์ มูลคำ,2543:24)

                วิทยากร(Trainer) หมายถึง บุคคลผู้ซึ่งมีความรู้ ความสามารถตลอดจนการพูด หรืออภิปรายและใช้เทคนิคต่างๆ ในเรื่องนั้นๆ อันจะทำให้ผู้รับการฝึกอบรมได้เกิดความรู้(Knowledge) ความเข้าใจ(Understanding) ทัศนคติ(Attitude) ความชำนาญ(Skill) จนสามารถทำให้ผู้รับการฝึกอบรมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ(นิพนธ์ ไทยพานิช.2535:251 อ้างถึงใน อ้อม ประนอม,2552:73)

                วิทยากร หมายถึง คนที่จะต้องทำให้ผู้เข้ารับการอบรมได้มีความรู้ และเข้าใจในเนื้อหาที่เข้ารับการฝึกอบรม จนเกิดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะ ตลอดจนเกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ดีในการทำงาน หรือการใช้ชีวิตที่ดียิ่งขึ้น(ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์,2555:10)

                สำหรับผมแล้ว วิทยากรน่าจะหมายถึง ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้โดยอาศัยเทคนิคต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม เกิดความรู้ เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เกิดการพัฒนาตนเองไปในทางที่ดีขึ้นตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการในการจัดการฝึกอบรม

                 คุณสมบัติของวิทยากร

                                ในการจัดการฝึกอบรมที่ดีมีองค์ประกอบหลายๆอย่างที่ทำให้การฝึกอบรมประสบความสำเร็จ  เช่น ห้องฝึกอบรม  ระบบเสียง  หลักสูตร เนื้อหา  อาหาร  การจัดรูปแบบโต๊ะเก้าอี้  ขนาดของห้องฝึกอบรม แต่ความจริงแล้วองค์ประกอบที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆก็คือตัวของวิทยากร ฉะนั้นวิทยากรจึงควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

                1.ต้องมีความรู้ วิทยากรที่ดีต้องมีองค์ความรู้เนื้อหา ทั้งลึกและกว้าง ในหัวข้อที่ตนเองบรรยายหรือให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้ารับการอบรม วิทยากรต้องรู้จริง รู้ละเอียด อีกทั้งต้องตอบคำถามผู้เข้ารับการอบรมได้อย่างมีหลักฐาน มีเหตุผล อ้างอิง อีกด้วย

                2.ต้องมีบุคลิกภาพที่ดี วิทยากรต้องมีบุคลิกภาพที่น่าเชื่อถือ น่าศรัทธา มีความเป็นกันเอง รู้จักการวางตัว ซึ่งบุคลิกภาพนี้ตัวของวิทยากรต้องมีบุคลิกภาพที่ดีทั้งภายใน เช่น ความกระตือรือร้น ความเชื่อมั่นในตนเอง มีความมั่นคงทางด้านอารมณ์  ไหวพริบปฏิภาณ ฯลฯ และบุคลิกภาพภายนอก  เช่น การแต่งตัว ท่าทาง การเดิน การยิ้ม ภาษากาย รูปร่างหน้าตา ฯลฯ

                3.ต้องมีความสามารถหลายๆด้าน เช่น สามารถนำกิจกรรมเพื่อการศึกษาได้ มีความสามารถในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆในการนำเสนอ มีความสามารถในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นต้น

                4.ต้องมีประสบการณ์ วิทยากรที่ดีเมื่อไปบรรยายในหัวข้อใด ตัววิทยากรควรมีประสบการณ์ตรงในด้านนั้นด้วยถึงจะดี เพราะเวลาตอบคำถามหรือเวลาบรรยาย ก็สามารถนำเอาประสบการณ์จริงมาบอกเล่าได้ ไม่ใช่อ่านแต่ในหนังสือแล้วนำมาเล่า เพราะประสบการณ์ที่ตัววิทยากรได้สัมผัสของจริงจะทำให้ทั้งตัวของวิทยากรและผู้เข้ารับการอบรมเห็นภาพและเข้าใจถึงปัญหานั้นๆได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

                5.ต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา การเตรียมความพร้อมมีความสำคัญมาก ดังเราจะเห็นได้ว่า นักมวยที่ต้องชกเพื่อชิงแชมป์โลก เขาต้องทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างหนัก บางคนใช้เวลาเป็นปีๆ เพื่อที่จะขึ้นไปชกชิงแชมป์โดยใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งการเตรียมพร้อมนี้ ควรรวมไปถึง การอ่าน การฟัง การเรียนรู้ การศึกษา สิ่งใหม่ๆเพื่อที่จะได้นำไปใช้ในการบรรยาย

                6.ต้องมีใจรัก วิทยากรเป็นอาชีพ อาชีพหนึ่งที่สามารถทำเป็นอาชีพ หาเลี้ยงตนเอง และครอบครัวได้ อีกทั้งวิทยากรมืออาชีพหลายๆท่าน สามารถสร้างความร่ำรวยจากอาชีพนี้ได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ การประกอบอาชีพใดๆ สิ่งที่มีความสำคัญที่สุดก็คือ ผู้ประกอบอาชีพนั้นๆจะต้องมีใจรักในอาชีพของตนเองเสียก่อน เขาจึงจะประสบความสำเร็จในการทำงาน เพราะหากว่าเรามีใจรักในอาชีพวิทยากร เราจะมีความอดทน เราจะมีความตั้งใจ เราจะมีความพยายามและเราจะไม่เลิกล้มก่อนเวลาที่จะประสบความสำเร็จ ผู้เขียนก็เช่นกัน ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในทุกๆเวที ยิ่งช่วงเป็นวิทยากรใหม่ๆ ต้องประสบกับความล้มเหลวอยู่หลายเวที หากว่ามัวแต่ท้อแท้ เลิกล้ม ไม่กล้า บัดนี้ก็คงไม่ได้ประกอบอาชีพวิทยากร

                7.ต้องมีจรรยาบรรณของวิทยากร อาชีพทุกๆอาชีพควรมีจรรยาบรรณ อาชีพวิทยากรก็เช่นกัน ควรมีจรรยาบรรณ เพราะการมีจรรยาบรรณจะทำให้เป็นที่เคารพ เป็นที่น่าเชื่อถือ ศรัทธา แก่ผู้พบเห็น สำหรับจรรยาบรรณของวิทยากรไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจนดังเช่นกฎหมาย แต่ก็ควรยึดหลักของความถูกต้อง ความมีศิลธรรม ความไม่เอาเปรียบ เช่น เมื่อรับงานบรรยายงานฝึกอบรมแล้วก็ควรมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ควรไปตามที่ได้ตกลงกันไว้ , เมื่อรับงานบรรยายงานแรกแล้ว ก็ไม่ควรรับงานที่สองในช่วงวันเวลาเดียวกัน แต่มีวิทยากรบางท่านเมื่อเห็นว่างานที่สองได้รับเงินเป็นจำนวนมากกว่างานแรก จึงโทรศัพท์ไปขอยกเลิกงานแรก เช่นนี้ก็ไม่ควรปฏิบัติ , วิทยากรที่ดีไม่ควรกล่าวโจมตีคู่แข่งหรือวิทยากรด้วยกัน เป็นต้น

               

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

จังหวะในการพูด


จังหวะในการพูด

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


          Let the speech be better than silence,or be silet.(จงทำให้การพูดนั้นดูดีกว่าความเงียบ ถ้าทำไม่ได้ก็เงียบเสียดีกว่า)

            การพูดให้เกิดความน่าสนใจ การพูดที่ทำให้ผู้ฟังติดตามฟัง การพูดที่สร้างความประทับใจ จังหวะในการพูดมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

            ผู้พูดต้องฝึกการพูดให้มีจังหวะจะโคน ต้องรู้ว่า เวลาไหนควรเงียบ เวลาไหนควรพูดต่อ ต้องมีการเว้นวรรค มีเสียงดัง เสียงเบา เสียงเน้น เสียงย้ำ มีการยืดเสียง ผู้พูดที่มีจังหวะในการพูด มักจะประสบความสำเร็จมากกว่า ผู้พูดที่พูดติดต่อกันไปเรื่อยๆยาวๆ โดยไม่มีจังหวะในการพูด

            คำพูด เอ่อ..หรือ อ้า....มักทำให้จังหวะในการพูดเสียไปหรือไม่ชวนให้ผู้ฟังติดตาม แต่ในทางตรงกันข้ามจะทำให้ผู้ฟังเกิดความรำคาญ ดังนั้น ผู้พูดที่มีคำฟุ่มเฟื่อย เช่น เอ่อ อ้า นะครับ นะค่ะ ครับ ค่ะ ลงท้ายประโยคเป็นจำนวนมากๆ จึงควรหาทางแก้ไข ปรับปรุงตนเอง ให้มีลดน้อยลง

          จังหวะในการพูดกับน้ำเสียง น้ำเสียงในการพูดมีความสอดคล้องกับจังหวะในการพูดอย่างแยกไม่ออก ผู้พูดที่ดี ควรรู้จังหวะในการใช้เสียง ว่าเวลาใดควรพูดเสียงสูง เวลาใดควรพูดเสียงต่ำ เวลาใดควรพูดเสียงปกติ ซึ่งการจะทราบถึงจังหวะเหล่านี้ได้ คงต้องใช้เวลาฝึกฝน อีกทั้งยังต้องผ่านประสบการณ์ในการพูดมาพอสมควร

            จังหวะในการพูดกับการใช้อารมณ์ การพูดเรื่องเศร้า ก็ควรใช้อารมณ์เศร้า จังหวะในการพูดก็ควรช้ากว่าปกติ แต่ในทางกลับกัน หากพูดเรื่องสนุก ตื่นเต้น ก็ควรใช้จังหวะในการพูดที่เร็วกว่าปกติ อีกทั้งผู้พูดต้องทำอารมณ์ของตนเองให้สนุกสนานตามไปด้วย ซึ่งอารมณ์ของผู้ฟังมักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับผู้พูดอยู่เสมอ

            หลายคนมักเข้าใจว่า ผู้พูดที่พูดโดยไม่หยุด พูดด้วยความเร็วมากกว่าปกติ มักจะได้รับความสนใจจากผู้ฟัง แต่โดยส่วนตัวกระผม เชื่อว่า การหยุดพูดหรือการเงียบ ในบางช่วงในการพูดจะทำให้ได้รับความสนใจจากผู้ฟังไม่ใช่น้อย เพราะการหยุดพูดหรือการเงียบ จะทำให้ผู้ฟังคิดตาม ซึ่งสร้างความสนใจไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว

          จังหวะในการพูดกับการพูดคุยสนทนากัน จังหวะในการพูดยังมีความสำคัญและรวมไปถึงเรื่องของการพูดคุยสนทนากันอีกด้วย คนที่พูดคุยสนทนาเก่ง มักจะรู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนควรเงียบ คนที่รู้จักจังหวะเหล่านี้ มักจะทำให้ผู้ที่สนทนาด้วย เกิดความประทับใจ มากกว่า คนที่เอาแต่พูดโดยไม่รู้จักฟังหรือเงียบฟัง คู่สนทนา

            ฉะนั้น หากท่านต้องการฝึกฝน จังหวะในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน กระผมขอแนะนำให้ท่านผู้อ่าน ลองหาหนังสือพิมพ์หรือหนังสือการ์ตูน ลองฝึกอ่านให้เป็นจังหวะ หรือ ในยุคนี้ เราสามารถหาหรือฟัง นักพูดที่เราชื่นชอบ ลองเอาเทปหรือเสียงในการพูดของเขา มาวิเคราะห์ หากเป็นไปได้ ลองเลียนแบบ เสียงหรือจังหวะในการพูดของนักพูดที่ท่านชื่นชอบ หากทำบ่อยๆ ก็จะทำให้จังหวะในการพูดของท่านพัฒนายิ่งขึ้น

            สำหรับคนที่ต้องการฝึกฝนในเรื่องของจังหวะในการพูดคุยสนทนา ท่านควรที่จะพัฒนาทักษะในการฟังให้มากขึ้น พูดให้น้อยลง มีการตอบรับคู่สนทนาบ้างเพื่อให้คู่สนทนาทราบว่า เรากำลังตั้งใจฟังเขาอยู่ เช่น ครับ ค่ะ  เยี่ยมครับ สุดยอดเลยครับเรื่องนี้ หรือ มีการพยักหน้าตอบรับ ในระหว่างการพูดคุยสนทนากัน ก็จะสร้างความประทับใจให้แก่คู่สนทนาได้