วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

พูดบวกเปิดประตูสู่ความสำเร็จ

พูดบวกเปิดประตูสู่ความสำเร็จ
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                        น้ำผึ้งเพียงหยดเดียวจับแมลงวันได้มากกว่าน้ำบอระเพ็ดหนึ่งแกลลอนเสียอีก เป็นคำพูดของ "อับราฮัม ลิงคอล์น" อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐ ซึ่งพูดไว้อย่างน่าสนใจมากทีเดียว
                น้ำผึ้งแม้จะมีเพียงแค่หยดเดียว แต่สามารถจับแมลงวันได้มากเนื่องจากน้ำผึ้งมีความเหนียว ความหวาน ความมีเสน่ห์ อีกทั้งมีกลิ่นที่หอม ซึ่งสามารถดึงดูดใจแมลงวันได้มากกว่าน้ำบอระเพ็ดถึงแม้จะมีจำนวนมาก
                หากเปรียบดังคำพูดของคนเราก็เช่นกัน คนที่ประสบความสำเร็จแม้จะพูดจาไม่มาก แต่ก็สามารถดึงดูดใจคนให้รักให้ชอบมากกว่า คนที่พูดจามากแต่ก็ไร้ซึ่งเสน่ห์ในการพูด
                การพูดบวกจึงเป็นคำพูดประเภทหนึ่ง ซึ่งมีเสน่ห์ต่อการสร้างความประทับใจ ตรงกันข้ามกับการพูดลบ,การพูดจาใส่ร้าย,การพูดเย้ยหยัน,การพูดซุบซิบนินทา,การพูดคำหยาบคาย,การพูดคำโกหกและการพูดวิพากษ์วิจารณ์กล่าวร้ายผู้อื่น คำพูดเหล่านี้ทำให้เกิดความแตกแยก อีกทั้งเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในอนาคต (เบนจามิน แฟรงคลิน รัฐบุรุษชาวอเมริกา เขายึดหลักประจำใจว่า “ ข้าพเจ้าไม่กล่าวร้ายผู้ใด และกล่าวเฉพาะความดีของคนอื่นๆที่ข้าพเจ้ารู้”
                สำหรับการติและชม เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากเราต้องอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นสังคม การชมมักไม่ก่อความเสียหายให้แก่ผู้พูด วิลเลียม เยมส์ นักจิตวิทยาชื่อดัง  กล่าวไว้ว่า “ หลักสำคัญที่สุดแห่งธรรมชาติของมนุษย์ก็คือ ความหิวกระหายที่จะได้รับการยกย่อง” ส่วนการติ หากว่าติไม่ดี ไม่มีเหตุผล ก็จะเกิดความเสียหาย เพราะผู้ที่ถูกตำหนิมักจะโกรธแค้นเอาได้ เพราะโดยธรรมชาติของคนเราแล้ว ไม่ชอบการตำหนิ สาเหตุก็เนื่องมาจากคนมักจะมีจิตใจโอนเอนเข้าข้างตนเองเสมอ จึงมองหาของผิดพลาดของตนเองได้ยาก
                การพูดแง่บวกจะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ เพราะการพูดแง่บวกจะทำให้คนอื่นๆที่ได้รับฟัง เกิดความชื่นใจ  เช่น คำพูดชมเชย คำพูดทักทาย คำพูดขอบคุณ คำพูดที่สุภาพ คำพูดที่ถูกกาลเทศะและคำพูดที่ก่อประโยชน์  คำพูดเหล่านี้ จะทำให้ผู้พูดประสบความสำเร็จได้มากกว่าการพูดในแง่ลบ อีกทั้งการฟังก็มีส่วนสำคัญ คนที่พูดเสียคนเดียว โดยไม่ได้ฟังคนอื่นพูด มักจะไม่ได้รับความรู้ใหม่ๆและคนไม่ค่อยอยากที่จะคบค้าสมาคม
                การพูดบวกกับตนเอง จะทำให้เรามีความรู้สึกที่ดี เช่น ฉันเก่ง , ฉันเชื่อมั่น , ฉันสุดยอด , ฉันมีพลัง , ฉันยอดเยี่ยม ฯลฯ คำพูดบวกเหล่านี้จะทำให้ท่านเกิดพลังใจ พลังกาย พลังความคิด ต่อการทำงาน ต่อชีวิตและต่อความสำเร็จ
                ชื่อของคนมีความไพเราะ ใครที่สามารถจดจำชื่อของคนอื่นได้ และเรียกชื่อได้อย่างถูกต้องมักเป็นคนที่มีเสน่ห์มากกว่าผู้ที่ไม่สามารถจดจำชื่อคนอื่นหรือเรียกชื่อผิดๆ
                สรุปแล้ว คำพูดของคนเรามีความสำคัญมาก จงระมัดระวังคำพูด ก่อนพูดออกไปต้องคิดก่อนพูด จงพูดในแง่บวก มากกว่า พูดในแง่ลบ เพราะการพูดจะเป็นกุญแจไขไปสู่ความสำเร็จในด้านต่างๆ เช่น ด้านการทำงาน,ด้านของมนุษย์สัมพันธ์,ด้านของสังคมและอีกหลายๆด้าน
ดังคำกล่าวของ โลเวลล์ โธมัส ที่กล่าวไว้ว่า “ สมรรถภาพในการพูด คือ ทางลัดไปสู่ความเด่น มันสามารถนำชีวิตของคนเราไปสู่ความรุ่งโรจน์เหนือคนอื่นๆ และเป็นที่ยอมรับกันว่า บุคคลใดที่เชี่ยวชาญในเรื่องการพูด บุคคลผู้นั้นย่อมมีคุณสมบัติพิเศษเหนือกว่าคุณสมบัติอื่นๆทั้งหมด ที่เขาเป็นเจ้าของ”
               


วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

การสร้างเสน่ห์ในการพูด

การสร้างเสน่ห์ในการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย  ปัญญโรจน์
                การสร้างเสน่ห์ในการพูดมีความสำคัญมาก ต่อความสนใจของผู้ฟัง อีกทั้งยังก่อให้เกิดความศรัทธาในตัวของผู้พูดอีกด้วย ทั้งนี้เราสามารถสร้างเสน่ห์ในการพูดได้หลายทาง เช่น
                1.การสร้างเสน่ห์ที่เกิดจากเสียง  การใช้เสียงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน เพราะ ถ้อยคำเป็นแต่เพียงการบอกความหมาย แต่เสียงทำให้เกิดความหวั่นไหวขึ้นในหัวใจ สำหรับการใช้เสียงที่ดีในการพูดต่อหน้าที่ชุนชนนั้น เสียงไม่ควรจะเป็นโทนเดียวกันหมด แต่ตรงกันข้าม เสียงในการพูดต่อหน้าที่ชุมชนที่ดี ต้องเป็นเสียงที่มีความหลากหลาย เบาบ้าง ดังบ้าง เสียงสูงบ้าง เสียงต่ำบ้าง เสียงเป็นปกติบ้าง เสียงเน้น เสียงย้ำ พูดเร็วบ้าง ช้าบ้าง  อีกทั้งควรเว้นช่วงในการพูดเป็นจังหวะๆไป  การใช้เสียงที่ดีควรให้มีความเหมาะสมกับเนื้อหาของเรื่อง
                2.การสร้างเสน่ห์ที่เกิดจากการใช้ท่าทางประกอบการพูด การใช้ท่าทางในการประกอบการพูดจะเป็นการดึงดูดใจให้ผู้ฟังเกิดความประทับใจ การยกมือ การโบกมือ การเคลื่อนไหว การขยับ  การเดิน การยิ้ม การหัวเราะ การทำหน้านิ่งๆ การนั่ง การยืน การโยกตัว ฯลฯ การกระทำเหล่านี้ สามารถสร้างความประทับใจและสร้างความจดจำในใจผู้ฟังได้ เพราะเคยมีงานวิจัยหลายชิ้น ที่ได้ระบุว่า การใช้ท่าทางประกอบการพูดจะสร้างความจดจำภายในใจผู้ฟังมากกว่าคำพูดเสียอีก เช่น หลายคนได้ไปฟัง คุณโน้ต อุดม พูด ทอล์คโชว์  2 ชั่วโมง  เราอาจจะจดจำคำพูดได้ไม่หมดทั้งเรื่อง แต่คนจำนวนมากมักจดจำการแสดงท่าทางที่ตลกๆ ที่คุณโน้ต อุดม ได้แสดงออกมา
                3.การสร้างเสน่ห์ที่เกิดจากการสร้างอารมณ์ขัน คนไทยเป็นชนชาติที่มีอารมณ์ขันมากที่สุด แห่งหนึ่งในโลก คนที่พูดหรือมีอารมณ์ขัน มักเป็นที่ชื่นชอบของบุคคลต่างๆ การพูดต่อหน้าที่ชุมชนก็เช่นกัน การสอดแทรกอารมณ์ขัน จะทำให้เรื่องที่ยาก เป็นเรื่องที่ง่าย เรื่องที่ง่ายก็จะเป็นเรื่องที่สนุก คนที่สามารถนำเอาเรื่องขำขันไปประกอบการพูดได้ จะมีเสน่ห์ เป็นที่ประทับใจของผู้ฟัง อีกทั้งทำให้ผู้ฟังอยากที่จะติดตามไปฟังนักพูดท่านนั้นยังสถานที่ต่างๆอีกด้วย
                4.การสร้างเสน่ห์ที่เกิดจากเนื้อหาสาระที่แปลกๆ ใหม่ๆ ในการประกอบการพูด การพูดเรื่องเดิมๆ การยกตัวอย่างเรื่องเดิมๆ การพูดเนื้อหาเดิมๆ จะทำให้ผู้ฟังไม่อยากที่จะฟัง ทำให้ผู้ฟังเสียเวลา เนื่องจากฟังมาหลายรอบแล้ว ดังนั้น นักพูดท่านใดสามารถนำเอาเรื่องราว แปลกๆ ใหม่ๆ ซึ่งผู้ฟังยังไม่เคยฟัง โดยการนำเอาเรื่องแปลกๆ ใหม่ๆ มาใช้ประกอบการพูด ก็จะเป็นการดึงดูดความสนใจจากผู้ฟังได้มากเลยทีเดียว
                5.การสร้างเสน่ห์ที่เกิดจากการหาสื่อต่างๆมาประกอบการพูด หลายท่านมักชื่นชอบ การอภิปรายในสภา โดยเฉพาะ นักการเมืองที่ใช้สื่อต่างๆมาประกอบการพูด เช่น ใช้เอกสาร ใช้คลิปวิดีโอ ใช้รูปภาพ ภาพถ่าย หนังสือพิมพ์  เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านนี้จะทำให้เกิดความน่าสนใจ เกิดความน่าเชื่อในเรื่องราวที่ผู้พูด พูด
                6.การสร้างเสน่ห์ที่เกิดจาก การใช้คำกลอน คำคม คำสุภาษิต ประกอบการพูด การใช้คำกลอน คำคม คำสุภาษิต เหล่านี้จะทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจฟัง ทำให้การพูดเกิดความไพเราะในเรื่องของการใช้ภาษา   อีกทั้งคำกลอน คำคม คำสุภาษิต คำเหล่านี้ได้ให้แง่คิดที่ดีต่อผู้ฟัง
                7.การสร้างเสน่ห์ที่เกิดจาก การใช้เพลงประกอบการพูด การร้องเพลงประกอบการพูด หากทำได้และทำอย่างเหมาะสม ก็จะก่อให้เกิดความบันเทิงในการฟังได้  ซึ่งเราควรเลือกร้องเพลงประกอบการพูดให้เหมาะสมกับเรื่องราวที่เรานำมาพูด เช่น พูดเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจ เราอาจร้องเพลงที่ทำให้เกิดกำลังใจประกอบ  เพลงศรัทธา, ,เพลงความฝันอันสูงสุด, เพลงเธอผู้ไม่แพ้,เพลงรางวัลแห่งคนช่างฝัน เป็นต้น ถ้าจะให้ดี  ก็ควรขอให้ผู้ฟังร้องพร้อมกัน ก็จะเกิดความสนุกสนาน เกิดอารมณ์ร่วมไปด้วยกัน
                8.การสร้างเสน่ห์ที่เกิดจากการพูด โดยการพูดในสิ่งที่ผู้ฟังต้องการที่จะได้ เช่น พูดถึงเรื่องของรายได้จำนวนมากๆ ให้กับผู้ฟังที่มีความต้องการเงินเพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิต , พูดถึงเรื่องสุขภาพให้แก่ผู้ฟังที่เป็นโรคต่างๆ , พูดถึงเรื่องราวการต่อสู้ชีวิตของนักสู้หลายท่าน ให้แก่ผู้ที่กำลังสิ้นหวัง ท้อแท้ เป็นต้น ยิ่งผู้พูด พูดในสิ่งที่ผู้ฟังมีความต้องการอย่างรุนแรงด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจฟังมากเป็นพิเศษด้วย
                สรุป การสร้างเสน่ห์ในการพูด เป็นสิ่งที่นักพูดหรือผู้พูด ควรที่จะกระทำ เพราะการสร้างเสน่ห์ในการพูดจะเป็นการสร้างสีสันในการพูด การสร้างเสน่ห์ในการพูดจะสร้างการจดจำ สร้างเอกลักษณ์ให้กับนักพูดท่านนั้น อีกทั้งยังสร้างความศรัทธา ความน่าเชื่อถือ การชื่นชอบ ให้แก่ผู้ฟังอีกด้วย

                

วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

คำพูดเจาะจิต

คำพูดเจาะจิต
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                                เปล่งวจี สัจจะ นวลละม่อน             กล่าวเลลี้ยกล่อม ไพเราะ กาลเหมาะสม
                                เจือประโยชน์ เมตตา ค่านิยม           รื่นอารมณ์ ผู้ฟัง ดังเสียงทอง
                จากบทกลอนข้างต้น อยู่ในมงคลชีวิตที่ 10 กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต ซึ่งหากใครที่เคยมีประสบการณ์ในทางการพูดอยู่บ้าง ก็จะทราบดีว่า การกล่าววาจาเป็นสุภาษิต มักจะทำให้ผู้ฟังเกิดความเชื่อถือในเรื่องราวที่ผู้พูดได้พูด เพราะคำสุภาษิตต่างๆ เป็นคำพูดที่มีความคม มีความไพเราะอยู่ในตัว
                สำหรับ คำสุภาษิต ในมงคลชีวิตนั้น หมายถึง คำพูดที่เป็นความจริง คำพูดที่มีประโยชน์ คำพูดที่สุภาพ คำพูดที่ใช้ถูกกาลเทศะและคำพูดที่มีความเมตตา
                1.คำพูดที่เป็นความจริง เป็นคำพูดที่ไม่โกหก หลอกลวง ไม่ได้มีการปั้นแต่งขึ้น อีกทั้งควรมี หลักฐานสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ ซึ่งการพูดความจริงมีความสำคัญมาก เพราะคนที่พูดโกหกบ่อยๆ หากผู้ฟังจับได้ว่า พูดโกหก ก็จะทำให้ผู้ฟังขาดความเชื่อถือในการพูดครั้งต่อไปของผู้พูด การพูดที่ไม่เป็นความจริง ทางพุทธศาสนา เรียกว่า มุสาวาท ถือว่าเป็น อกุศลกรรมอย่างหนึ่ง
                2.คำพูดที่มีประโยชน์ มีคำกล่าวที่ว่า “ คำพูดที่ดีๆ มีค่ายิ่งกว่าสิ่งใดๆ” เช่น การพูดให้กำลังใจผู้อื่น การพูดปลุกพลังให้ผู้อื่น ล้วนแต่มีประโยชน์และสร้างสรรค์ทั้งสิ้น แต่ตรงกันข้าม คำพูดหลายคำพูดมักที่จะไปทำลายความสามัคคีปรองดองกัน คำพูดหลายคำพูดมักจะทำให้เกิดการแตกแยกกัน คำพูดเหล่านี้มักเป็นคำพูดที่ไม่ก่อประโยชน์และไม่สร้างสรรค์
                3.คำพูดที่สุภาพ การพูดที่มีความสุภาพ มักทำให้ผู้ฟังอยากที่จะติดตามฟัง เป็นคำพูดที่ช่วยสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในการอยู่ร่วมกันในสังคม อีกทั้งการพูดสุภาพจะทำให้เห็นถึงความเป็นผู้ดีของผู้พูดดังคำกล่าวที่ว่า “ ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร                           มารยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ
                    โฉดฉลาดเพราะคำขาน ควรทราบ             หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ บอกร้ายแสลงดิน”
                4.คำพูดที่ใช้ถูกกาลเทศะ เป็นคำพูดที่นำเอาไปใช้ถูกจังหวะเวลา ถูกจังหวะของสถานที่และเหมาะสมกับโอกาส ก็จะทำให้การพูดของผู้พูดเข้าไปอยู่ในหัวใจของผู้ฟังได้ดียิ่งขึ้น ตรงกันข้ามการพูดที่ไม่ถูกจังหวะเวลา ถูกสถานที่และเหมาะสมกับโอกาส แม้จะพูดดีสักปานใดก็ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น คนทะเลาะกัน เกิดมีอารมณ์โต้เถียงกันอย่างรุนแรง เราจะไปพูดด้วยเหตุผลหรือจะไปพูดดีอย่างไร คนก็มักจะไม่ฟังเราพูด อีกทั้งยังทำลายมิตรภาพอีกด้วย  แต่ถ้าเขาเลิกทะเลาะกัน ไม่ได้ใช้อารมณ์ เราลองนำเรื่อง เดียวกัน เหตุผลเดียวกันไปพูด เขาก็อาจจะเกิดความเชื่อถือ ศรัทธาเราได้
                หรือ อีกตัวอย่างหนึ่ง หากว่าเราเป็นนักขาย ลูกค้ากำลังยุ่งๆ อยู่ แล้วเราจะนำสินค้าไปเสนอขายอย่างไร เขาก็จะไม่ตั้งใจฟังเรา เนื่องจากเราไปนำเสนอขายสินค้าผิดจังหวะเวลา นั่นเอง
                5.คำพูดที่มีความเมตตา เป็นคำพูดที่พูดออกไปแล้วผู้ฟังได้รับความสุข เกิดความปิติมานะ เกิดความปรารถดี              เป็นคำพูดที่มีความจริงใจ สำหรับผู้ที่มีความเมตตาในการพูดมักจะไม่ใช้อารมณ์โกรธหรือบันดาลโทสะในการพูด เพราะการพูดบันดาลโทสะ มักจะทำให้ผู้ฟังเกิดอาการเศร้า อาการเสียใจ และบันทอนกำลังใจของผู้ฟัง
                ฉะนั้น คนที่จะสามารถพูดอย่างเจาะจิตคนได้ จะต้องเป็นคนที่คิดให้มาก แต่พูดให้น้อย หรือคิดก่อนพูดทุกครั้ง ต้องกลั่นกรองคำพูดต่างๆออกมาก่อนที่จะพูดออกไป สำหรับเรื่องของอารมณ์ในการพูดก็มีส่วนสำคัญ หลายคนมีอารมณ์โกรธ มีอารมณ์โมโห ในขณะพูดก็จะทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้  เช่นใครพูดไม่ถูกหู ก็จะไม่พอใจ เกิดอารมณ์อยากด่า เกิดอารมณ์อยากชวนทะเลาะ ดังนั้น หากใครที่รู้ว่ามีอารมณ์ต่างๆที่ไม่สบายใจ ทำให้ขุ่นใจ จงรอให้อารมณ์เหล่านั้นดับไปก่อน แล้วการพูดของท่านจะครองใจผู้ฟังได้มากกว่าการพูดในขณะที่มีอารมณ์ต่างๆที่ไม่ดีในการพูด




การพูดกับการบริหาร

การพูดกับการบริหาร
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การพูดสำหรับนักบริหารมีความสำคัญมาก เพราะคนเราไม่สามารถทำอะไรคนเดียวได้ทุกอย่าง เช่น การสร้างบ้าน การเปิดร้านอาหาร การทำโรงงาน การสร้างตึก ฯลฯ แต่การจะทำสิ่งเหล่านี้ได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลอื่นๆเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องจากคนเรามีข้อจำกัดต่างๆมากมาย เช่น เรื่องของเวลา เรื่องของสถานที่ เรื่องของความสามารถ เรื่องของสติปัญญา เรื่องของสุขภาพกำลังของร่างกาย เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น
                การสื่อสารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการใช้คำพูด คำพูดเป็นการสื่อสารที่ง่ายกว่าการสื่อสารประเภทอื่น ไม่ว่าการสื่อสารโดยการเขียน การสื่อสารโดยใช้ภาษากายหรือภาษาท่าทาง ผู้บริหารจึงต้องใช้การพูดมากกว่าการสื่อสารประเภทอื่นๆ ดังคำกล่าวที่ว่า “ ผู้บริหารมักใช้ปากในการทำงาน ” เช่น หากท่านเป็นผู้บริหาร ท่านจะต้องร่วมประชุมหรือร่วมแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมอยู่บ่อยๆ หากท่านเป็นผู้บริหาร ท่านจะต้องกล่าวเปิดปิดงานต่างๆอยู่เป็นประจำ หากท่านเป็นผู้บริหาร ท่านจะต้องให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆอยู่เป็นนิจ หากท่านเป็นผู้บริหาร ท่านจะต้องชี้แจง ท่านจะต้องสอนงานลูกน้องอยู่เสมอ ฯลฯ
                การพูดจึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารจำเป็นจะต้องฝึกฝนและฝึกปฏิบัติ เพราะหากผู้บริหารคนใดมีความสามารถในการพูดก็จะทำให้ลูกน้องเกิดการประสานงานกัน เกิดความร่วมมือกันในการทำงาน ผลที่ตามมาคือ ในองค์กรนั้นๆจะมีผลผลิตเป็นจำนวนมากมาย แต่ตรงกันข้าม หากผู้บริหารพูดไม่เป็น พูดไม่ดี ก็จะทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือจากลูกน้องหรือลูกน้องให้ความร่วมมือ แต่จะทำงานแบบไม่เต็มใจ ทำงานแบบไม่เต็มกำลังความสามารถหรือออมแรง ออมความสามารถต่างๆในการทำงาน จึงทำให้ผลผลิตที่ออกมาได้ไม่ดีมากนัก
                ผู้บริหารระดับโลก มักจะสื่อสารโดยการพูดได้ดีกันทุกคน เช่น ผู้บริหารระดับประธานาธิบดีเกือบทุกๆคนของสหรัฐ , ผู้บริหารระดับนายกรัฐมนตรีของหลายประเทศ เขามักจะสื่อสารโดยการพูดให้ประชาชนเข้าใจในสิ่งที่เขากำลังจะทำ ไม่ว่าจะเป็น JFK (จอห์น เอฟ เคเนดี้ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐ) , ฮิตเลอร์ (อดีตผู้นำของเยอรมัน) , โจเซฟ สตาลิน(ผู้นำของโซเวียต) เป็นต้น คนเหล่านี้คนส่วนใหญ่ยอมรับกันว่า พูดได้ดีมาก ดังปรากฏในคำพูดสุนทรพจน์ต่างๆของบุคคลเหล่านี้
                ผู้บริหารกับการพูดครองใจคน เคยมีเรื่องเล่าในอดีตเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่สนุกๆ มีนายทหารยศพลเอกคนหนึ่ง ต้องการแลกเหรียญเพื่อที่จะโทรศัพท์ แต่ไม่มีเหรียญ เมื่อเห็นพลทหารคนหนึ่งเดินมาจึงถามว่า “ น้อง น้องครับ มีเหรียญให้พี่แลกไหมครับ” พลทหารตอบว่า “ เดี๋ยวครับพี่ น่าจะมีครับ ขอค้นดูก่อน” เมื่อพลเอกได้ยินคำตอบของพลทหารก็ไม่พอใจเลยตอบกลับไปว่า “ เนี่ย พูดกับผมอย่างนี้ได้อย่างไร ผมยศพลเอกนะ เอาใหม่ ลองตอบใหม่ให้โอกาสอีกครั้ง ต้องทำความเคารพด้วย ” พลเอกจึงกล่าวถามใหม่ว่า “ น้อง มีเหรียญให้พี่แลกไหม ” พลทหารรีบยืนทำความเคารพด้วยความเข้มแข็งแล้วตอบกลับทันใดว่า “ ไม่มีครับ ท่าน” แล้วก็เดินจากไป สำหรับเรื่องเล่าเรื่องนี้ท่านคิดอย่างไรครับ
                ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง ผู้บริหารบางคนจะใช้แม่บ้านไปชงกาแฟ ผู้บริหารบางคนพูดเป็น บางคนพูดไม่เป็น หากเป็นผู้บริหารที่พูดเป็น มักจะทำให้แม่บ้านเกิดความพอใจ เกิดความภาคภูมิใจที่ได้ชงกาแฟให้ผู้บริหารทาน แต่หากผู้บริหารพูดไม่เป็น แม่บ้านก็คงต้องชงแต่จะชงด้วยความรู้สึกที่ไม่พอใจนัก เช่น ผู้บริหารที่พูดจาเป็นจะพูดออกมาลักษณะนี้ “ เนี่ยคุณนก ขอกาแฟสักแก้วครับ เอาแบบเมื่อวานนี้ อร่อยมาก แต่วันนี้ผมขอลดน้ำตาลลง 1 ช้อนครับ” หากพูดลักษณะนี้ แม่บ้านก็จะพอใจในการไปชงกาแฟให้ผู้บริหารคนนี้ แต่หากพูดอีกอย่างละ “ นก เอากาแฟมาถ้อยซิ วันนี้ช่วยใช้มือชงนะ ไม่ใช่ใช้ตีนชงอย่างเมื่อวาน แล้วลดน้ำตาลลง 1 ช้อน หวานอย่างกับอะไร ” หากพูดอย่างนี้ แม่บ้านก็คงต้องทำแต่ทำแบบไม่พอใจ จริงไหมครับ
                สำหรับทัศนะหรือความคิดของผม ผู้บริหารที่พูดเก่ง พูดเป็น ไม่ใช่คนที่มีเทคนิคการพูดที่ดี ไม่ใช่ผู้บริหารที่ใช้วาทะ ถ้อยคำที่สวยหรู แต่เป็นผู้บริหารที่พูดออกมาจากหัวใจ ผู้บริหารที่เชื่อเรื่องนั้นจริงๆ และปฏิบัติตามคำพูดนั้นจริงๆ จนมีความรู้สึกเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองพูด จึงทำให้ผู้ตามหรือผู้ได้ยินเกิดความศรัทธาในสิ่งที่ผู้บริหารคนนั้นพูดออกไป เช่น หากผู้บริหารสอนลูกน้อง แนะนำลูกน้องว่า ไม่ควรมาทำงานสาย แต่ผู้บริหารมาสายตลอด อย่างนี้ลูกน้องจะเชื่อถือไหมครับ

               
               
               

                

วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

การอ้างวาทะคนดังในการพูด

การอ้างวาทะคนดังในการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                        “จงอยู่อย่างกระหาย และทำตัวให้โง่เขลาอยู่เสมอ”(Stay Hungry , Stay Foolish) เป็นคำพูดของสตีฟ จอบส์
                “คุณจะเห็นอุปสรรคเป็นสิ่งที่น่ากลัว ก็ต่อเมื่อคุณ....ละสายตาจากเป้าหมาย” เป็นคำพูดของเฮรี ฟอร์ด
                “ความยิ่งใหญ่ของคน อยู่ที่ขนาดของความฝันของเขา” เป็นคำพูดของ บัณฑิต  อึ้งรังสี
                                การพูดสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟัง โดยใช้คำคมของคนดังหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง มีความจำเป็นและมีความสำคัญมากในการพูดแต่ละครั้ง หากท่านได้มีโอกาสใช้คำคมเหล่านี้ประกอบการพูดก็จะทำให้การพูดของท่านมีรสชาติ มีความไพเราะ อีกทั้งทำให้ชวนติดตาม ดังนั้น การสะสม วาทะคนดังไว้มากๆ เพื่อนำไปใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ในการพูดต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นนักพูด
                                ส่วนใหญ่วาทะคนดัง มักเป็นคำพูดที่คนดังได้ใช้เวลาคิดปกติมักเป็นข้อความสั้นๆ แต่กินใจความลึกซึ้ง เมื่อได้ฟังแล้วนำไปคิดต่อก็มักจะขยายความไปได้อีกมากมาย ซึ่งวาทะคนดังมีมากมาย หลายภาษา หลายชนชาติ หลายวัฒนธรรม ซึ่งคนเป็นนักพูดควรนำไปใช้ให้เหมาะสม ถูกกาลเทศะ ก็จะสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้ฟังได้
                                สำหรับสิ่งที่ควรระวังในการใช้วาทะคนดังในการอ้างอิงในการพูด
                1.หลีกเลี่ยงการใช้วาทะคนดังมากจนเกินไป  การใช้วาทะคนดังประกอบการพูดเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ก็ไม่ควรให้มีมากจนเกินไป เพราะการใช้วาทะคนดังมากจนเกินไป จะทำให้ผู้ฟังแทนที่จะเกิดความศรัทธา กลับทำให้เรื่องที่พูดเกิดความน่าเบื่อได้  เปรียบเทียบเหมือนผู้หญิงใส่แหวน หากว่าใส่เป็น ใส่แค่ 1-2 วงก็ทำให้บุคลิกภาพดูดีแล้ว แต่หากใส่ 10 วง ทุกนิ้วหรือมากจนเกินไป  ก็จะดูแล้วเป็นตัวตลกมากกว่า ยิ่งใส่มากก็จะทำให้คุณค่าของแหวนและบุคลิกภาพของผู้ใส่ด้อยลงไปด้วย
                2.หลีกเลี่ยงการใช้วาทะที่คร่ำครึ หรือ เก่าเกินไป  ไม่ทันสมัย อีกทั้งมีคนใช้บ่อยมากจนดูเป็นวาทะที่ปกติธรรมดา เช่น การอวยพรงานแต่งงาน เรามักจะได้ยินหลายคนอวยพรว่า “ ขอให้ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร ”
                3.หลีกเลี่ยงการใช้วาทะ ที่ผิดกาลเทศะ เช่น สถานการณ์ ที่มีการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง ผู้โต้เถียงมักใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เราดันไปใช้คำคมว่า “ คนเราจะใหญ่ แค่ไหนก็เล็กกว่าโลง” ไม่แน่เราอาจจะได้ลงโลงเร็วกว่าปกติ
                4.หลีกเลี่ยงการใช้วาทะ ที่ไม่ชัดเจน  วาทะคนดังหลายวาทะ ที่ไม่ชัดเจน เมื่อนำเอาไปใช้ประกอบการพูดก็จะทำให้ผู้ฟัง งง สับสน ได้ เพราะอย่าว่าแต่ผู้ฟังสับสนเลย ผู้พูดก็ยังสับสนกับวาทะนั้น อีกทั้งยังไม่เข้าใจกับวาทะที่นำเอาไปอ้างอิงด้วย เช่น  ไม่กร้าวแต่ยืนยันหนักแน่น
                5.หลีกเลี่ยงการใช้วาทะที่ยาวจนเกินไป  การใช้วาทะที่ยาวจนเกินไป ทำให้ผู้พูดบางคนถึงกับต้องก้มลงอ่านวาทะนั้น อีกทั้งทำให้ผู้ฟังไม่สามารถจดจำวาทะนั้นได้   ฉะนั้น การใช้วาทะที่สั้น กระฉับ จะดึงดูดความสนใจและสร้างการจดจำได้มากกว่าเมื่อนำเอาไปใช้ประกอบการพูด
                6.หลีกเลี่ยงการใช้วาทะที่ไม่ตรงกับเรื่องราวที่นำไปพูด วาทะคนดังมีหลากหลาย เมื่อเรานำเอาไปใช้ก็ควรนำไปใช้ให้เหมาะสมกับเรื่องที่พูด เช่น เขาให้พูดเรื่องของการแต่งกาย  ก็ควรใช้วาทะเกี่ยวกับการแต่งกายประกอบการพูด  “คำโบราณได้กล่าวไว้ว่า  ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” ไม่ควรใช้วาทะที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่อง การแต่งกาย  “ ลิ้นเพียงสองนิ้ว ขงเบ้งยกเมืองให้กับเล่าปี่ได้ ” ซึ่งไม่มีความเกี่ยวพันธ์กับเรื่องการแต่งกายเลย  เป็นต้น
                อีกทั้งการใช้วาทะคนดังประกอบการพูดที่ดี เราควรที่จะต้องอ้างอิงว่าคำพูดดังกล่าวเป็นของผู้ใด เพื่อมารยาทในการนำเอาไปใช้ประกอบการพูด สำหรับแหล่งข้อมูลต่างๆ ของวาทะคนดังในยุคปัจจุบันนี้มีมากมาย กว่าในอดีต เพราะยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร เราสามารถค้นหาข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต  เราสามารถซื้อหนังสือวาทะคนดังตามร้านขายหนังสือต่างๆ เราสามารถฟังและจดบันทึกจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการพูดในอนาคตของเรา
คำพูดเหน็บแนมที่เฉียบแหลมรุนแรงย่อมเชือดเฉือนได้ลึกกว่าคมอาวุธ(คติฝรั่งเศส)