วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ศิลปะการพัฒนาการพูด

ศิลปะการพัฒนาการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                หลายคนมีความเชื่อเรื่อง “ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” หลายคนเชื่อว่า “การพูดเก่งเป็นพรสวรรค์” สำหรับตัวกระผมเอง มีความเชื่อว่า  การพูดเก่งพูดเป็น นั่นขึ้นอยู่กับการฝึกฝน เรียนรู้และการพัฒนากันได้ ฉะนั้น ศิลปะการพูด  เราสามารถพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าได้ หากว่าท่านมีความปรารถนาอย่างแท้จริง โดยการกระทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
                1.สร้างเป้าหมายขึ้นมา คนที่มีการพัฒนาการพูดได้อย่างรวดเร็ว เขามักเป็นคนมีเป้าหมาย และเขารู้ว่า เขาต้องการเป็นนักพูดระดับใด เช่น ระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ หรือเป็นนักพูดระดับโลก ฉะนั้น หากท่านมีเป้าหมายที่ใหญ่ท่านก็จะมีความพยายามมีความมานะมากกว่าคนอื่นๆ และหากท่านต้องการเป็นนักพูดระดับโลกด้วยแล้ว ท่านก็คงต้องไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม
                2.ทำงานหนักกว่าคนอื่นๆ คนที่มีการพัฒนาการพูดได้อย่างรวดเร็ว เขามักจะต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น เขาจะทำการบ้านทุกครั้งก่อนขึ้นพูด เขาต้องเตรียมตัวการพูดของเขาเป็นอย่างดี อีกทั้งมีการจัดสรรเวลาให้กับการพัฒนาการพูดอย่างต่อเนื่อง
                3.ฝึก ซ้อม การพูด อยู่เสมอ คนที่มีการพัฒนาการพูดได้อย่างรวดเร็ว เขามักหาเวทีในการพูดอยู่เสมอ และหากว่าไม่มีใครเชิญพูด เขาก็จะหาที่เงียบๆ ซ้อมพูดคนเดียว อยู่เป็นประจำ
                4.ฟัง อ่าน เรื่องราวที่ใช้ประกอบการพูด อยู่เป็นประจำ คนที่มีการพัฒนาการพูดของตนเอง มักจะเป็นนักอ่าน นักฟัง เขาจะใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือ เขาจะขยันตามไปฟังนักพูดคนอื่นๆพูด เพื่อนำมาเป็นข้อมูลและเพื่อใช้ในการปรับปรุงการพูดของตนเอง
                5.ฝึกใช้ถ้อยคำ ภาษา คนที่มีการพัฒนาการพูดของตนเอง มักเป็นผู้ที่ร่ำรวยในการใช้ภาษา เขาจะมีการบันทึก มีการจด การจำ ภาษาที่แปลกๆ ภาษาที่ไพเราะๆ เพื่อนำเอาไปใช้ในการพูดในภายภาคหน้า
                6.ใช้หลักอิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะและวิมังสา) ฉันทะ มีความชอบมีความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จในการพูด,วิริยะ ความพากเพียรความขยันในการฝึกฝนการพูด , จิตตะ ความเอาใจใส่จดจ่อต่อเป้าหมายในการพูดและวิมังสา ความไตร่ตรอง การปรับปรุงการพูดของตนเองอยู่เสมอ
                7.ฝึกฝนความเชื่อมั่นในตนเอง เราจะเป็นนักพูดที่เก่งไม่ได้เลย หากว่าเราขาดความเชื่อมั่นในตนเอง หลายคนมีความรู้สูง มีฐานะดี แต่พูดไม่ได้เรื่อง แต่ตรงกันข้าม นักพูดที่เก่งหลายๆคน กลับไร้ซึ่งการศึกษา จงฝึกฝนความเชื่อมั่น แล้วผู้ฟังจะศรัทธาในการพูดของท่าน
                8.ฝึกฝน ระบบคิด คนที่พูดเก่งพูดเป็น มักจะเป็นคนที่มีระบบการคิดที่ดีด้วย  หลายคนมีความคิดที่แปลกใหม่ เมื่อพูดออกไป ก็จะทำให้คนฟัง เกิดความสนใจในเรื่องที่พูดด้วย
                9.รู้จักใช้คำพูดให้ถูกกาล  เรื่องบางเรื่องเราอยากที่จะพูด แต่ก็ไม่ควรพูด เพราะมันเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสมที่จะพูดในช่วงเวลานั้น เราก็ไม่ควรพูด ฉะนั้น นักพูดที่ฉลาด มักจะเลือกใช้คำพูดให้เหมาะสม กับผู้ฟัง กับสถานที่ นั้นๆ
                10.ฝึกฝน การใช้เสียง เสียงดัง เสียงเบา จังหวะในการพูด หยุด เน้น ย้ำ บางครั้งอาจจะต้องพูดซ้ำ เพื่อให้ผู้ฟังจดจำคำพูดนั้นๆ
                11.หัดพูดออกมาจากใจ ผู้ฟังมักสังเกตเห็นความจริงใจของนักพูด ที่ผ่านออกมาจากคำพูด น้ำเสียง ท่าทาง หลายคนพูดเรื่องเศร้า ผู้ฟังก็จะรู้สึกเศร้าไปด้วย ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก นักพูดท่านนั้น สอดใส่อารมณ์ สอดใส่ความจริงใจลงไป ตรงกันข้าม ผู้พูดหลายคน พูดเรื่องเศร้า แต่ผู้ฟังแอบยิ้มหรือหัวเราะ เพราะอะไร เพราะผู้ฟังรู้ว่า ผู้พูด พูดออกมาด้วยความจริงใจหรือไม่ นั้นเอง
                ฉะนั้น ศิลปะการพูดเราสามารถ พัฒนา ฝึกฝน ปรับปรุง ได้ โดยผ่านข้อแนะนำข้างต้นนี้ หากว่าท่านได้ลงมือฝึกปฏิบัติอย่างตั้งใจ กระผมเชื่อว่า การพูดของท่านก็จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ขอให้ท่านประสบความสำเร็จในการพูดและการใช้คำพูด


                

วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การพูดเพื่อให้สัมภาษณ์

การพูดเพื่อให้สัมภาษณ์
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก
            การสัมภาษณ์ (Interview) ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หมายถึง การพบปะวิสาสะกันในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งต้องการทราบเรื่องจากอีกฝ่ายหนึ่ง หรือ ฝ่ายหนึ่งต้องการจะแถลงข่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อนำไปเผยแพร่(ราชบัณฑิตยสถาน.2525:809)
            การพูดเพื่อการสัมภาษณ์ มักจะมีองค์ประกอบดังนี้
1.ผู้สัมภาษณ์
2.ผู้ให้สัมภาษณ์
3.คำถามในการสัมภาษณ์
4.สถานที่ที่ทำการสัมภาษณ์
5.วันเวลาในการสัมภาษณ์
            การพูดเพื่อให้สัมภาษณ์ ผู้พูดให้สัมภาษณ์ที่ดีควรมีลักษณะเฉพาะตัวดังนี้
1.มีการเตรียมตัว เตรียมข้อมูล ความรู้ แนวทางในการตอบปัญหา ถ้าเป็นไปได้ควรทำการบ้าน โดยการรวบรวมคำถามอีกทั้งควรเตรียมคำตอบต่างๆเป็นอย่างดี การรวบรวมคำถามและการคาดเดาว่าอีกฝ่ายจะถามอะไรบ้าง เสมือนหนึ่งว่า “ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” จะทำให้เราตอบคำถามได้เป็นอย่างดี
2.มีบุคลิกภาพที่ดี กล้าพูด กล้าแสดงออก ยิ่งตอบคำถามด้วยน้ำเสียงที่เชื่อมั่น พูดเต็มเสียง เต็มอารมณ์ เต็มอาการ ก็จะยิ่งทำให้ผู้ฟังเกิดความเชื่อถือ ศรัทธา
3.เรียนรู้ การจับประเด็น แล้ว พยายามตอบปัญหาให้ตรงประเด็นกับเรื่องที่ถูกถาม
4.ต้องคิดก่อนพูดทุกครั้ง คนโง่ “ มักเอาหัวใจไว้ที่ปาก” แต่คนฉลาด “มักเอาปากไว้ที่หัวใจ”
5.ตั้งใจฟังคำถาม หากได้ยินไม่ชัดเจนหรือไม่เข้าใจคำถาม ก็ควรขอให้ผู้สัมภาษณ์ถามทวนอีกครั้ง
6.ใช้ภาษากายช่วยในการตอบคำถาม เช่น สายตาควรมองไปที่กล้องโทรทัศน์ หรือ มองไปยังผู้สัมภาษณ์ ควรใช้มือประกอบบ้าง อีกทั้งควรยิ้ม หรือหัวเราะ เพื่อสร้างความเป็นกันเอง
7.ผู้ให้สัมภาษณ์ ควรศึกษาและทำความเข้าใจคำถามในลักษณะต่างๆ เช่น คำถามปลายเปิด,คำถามปลายปิด,คำถามชี้นำ,คำถามทวน,คำถามหยั่งเชิง เป็นต้น
8.มีไหวพริบปฏิภาณ คนที่จะพูดให้สัมภาษณ์ได้เป็นอย่างดี คนนั้นจะต้องมีไหวพริบปฏิภาณเพราะบางคำถาม เราไม่สามารถคาดเดาได้หรือเราไม่รู้จริงๆ แล้วเราจะต้องตอบอย่างไรเพื่อแก้สภานการณ์เฉพาะหน้า
9.เป็นคนที่ตรงต่อเวลา เมื่อถูกนัดสัมภาษณ์แล้ว ควรไปตามวันเวลาและสถานที่ที่ได้นัดหมายไว้
10.หากเป็นการสัมภาษณ์ผ่านสื่อทางโทรศัพท์ หรือ สื่อทางอินเตอร์เน็ต ก็ควรตรวจเช็คอุปกรณ์ โดยเฉพาะเรื่องของเสียงและภาพให้เรียบร้อยก่อนที่จะสัมภาษณ์

            ดังนั้น ผู้ที่จะพูดเพื่อให้สัมภาษณ์ได้ดี ควรจะต้องมีการฝึกฝน เรียนรู้ มีประสบการณ์ในการถูกสัมภาษณ์บ้างจึงจะทำให้ตอบคำถามได้ดียิ่งขึ้น