วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

การใช้สื่อต่างๆประกอบการพูด


การใช้สื่อต่างๆประกอบการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การใช้สื่อต่างๆประกอบในการพูดมีความสำคัญและในบางโอกาสก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะสื่อต่างๆจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายขึ้น อีกทั้งสามารถทำเรื่องที่เป็นนามธรรมให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน การเลือกใช้สื่อให้เหมาะสมกับเรื่องที่พูดจึงเป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณา ดังจะเห็นจากการอภิปรายในรัฐสภาของบรรดาสมาชิกสภา ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา หากสมาชิกท่านใด ใช้สื่อต่างๆมาช่วยในการประกอบการพูด ก็จะทำให้ผู้ฟังสนใจและเข้าใจในเนื้อหาที่พูดมากยิ่งขึ้น
                สื่อต่างๆที่ใช้ประกอบการพูดมีดังต่อไปนี้
                1.แผนที่(Maps) ทำให้ผู้ฟังเข้าใจในลักษณะภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศได้ง่ายขึ้น เช่น บางคนไม่ทราบว่าจังหวัดพะเยา อยู่ภาคไหน แต่พอเห็นแผนที่แล้วจะทำให้ผู้ฟังเห็นภาพชัดว่าจังหวัดพะเยาอยู่ภาคเหนือ อยู่ติดกับจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่านและลำปาง
                2.แผนภูมิและแผนสถิติ จะแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏในรูปแบบแผนผัง ซึ่งถ้าหากพูดเป็นตัวเลขซึ่งมีจำนวนมากและหลายจำนวน ผู้ฟังจะไม่เห็นภาพได้ชัด แต่หากนำมาแสดงเป็นแผนผัง แบบเส้น แบบรูปภาพ แบบแท่ง ฯลฯ ผู้ฟังก็จะเข้าใจและเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
                3.หุ่นจำลองหรือของจำลอง เป็นสิ่งที่จำลองมาจากของจริง เนื่องจากของจริงมีลักษณะเล็กเกินไป หรือใหญ่มากจนเกินไป ผู้พูดไม่สามารถนำมาใช้ประกอบการพูดได้  เช่น แบบทรงของบ้าน เครื่องบิน รถยนต์ เป็นต้น
                4.ภาพถ่าย มีคำกล่าวที่ว่า “ ภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดเป็นจำนวนถึง 10,000 คำ ” เพราะภาพบางภาพจะตอบคำถามบางอย่าง ได้ดีกว่าการอธิบายหรือการแก้ข้อกล่าวหาโดยการใช้คำพูดเป็นจำนวนมาก
                5.ของจริง การนำของจริงมาประกอบการพูด จะทำให้ผู้พูดไม่ต้องอธิบายความมาก แต่ข้อควรระวัง สำหรับของจริง บางอย่างมีลักษณะที่ใหญ่มาก จึงควรพิจารณาในการนำมาใช้เพื่อประกอบการพูดด้วย
                6.ภาพยนตร์หรือโฆษณาภาพยนตร์ จะทำให้ผู้ฟังเกิดความเพลิดเพลินในการฟัง เป็นการสร้างสีสรรในการพูด ทำให้เกิดความดึงดูดใจกับผู้ฟัง
                7.เครื่องบันทึกภาพเคลื่อนภาพ วีดีโอเทป ในบางครั้งอาจจะต้องนำมาใช้ประกอบในการพูด เช่น การฝึกปฏิบัติ ในบางครั้งก็มีความจำเป็นที่จะต้องถ่ายหรือบันทึกภาพเก็บไว้ เพื่อนำมาเปิดให้ผู้ฟังเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ตัวอย่าง การให้ผู้ฟังออกมาฝึกพูดหรือฝึกปฏิบัติหน้าชั้น ควรที่จะถ่ายภาพของผู้ฝึกเก็บไว้ เพื่อนำมาเปิดให้เขาได้ดู
                8.แผ่นโปสเตอร์ต่างๆ จะช่วยขยายความของเนื้อหาในการพูดได้มาก แผ่นโปสเตอร์มีทั้งเป็นภาพสีและภาพขาวดำ  นอกจากนั้นอาจจะมีข้อความสั้นๆ อธิบายภาพเหล่านั้นด้วย
                9.กรณีศึกษา เกมส์ กิจกรรม ประกอบการพูด ในกรณีที่ถูกเชิญให้พูดเป็นเวลานาน หลายวัน หลายชั่วโมง ผู้พูดควรนำกรณีศึกษา เกมส์ กิจกรรม มาช่วยประกอบการพูด ก็จะทำให้ผู้ฟังไม่เบื่อ แต่จะสนุกสนานกับ กรณีศึกษา เกมส์ และกิจกรรม นั้นๆ
                ฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่าสื่อต่างๆที่สามารถนำมาใช้ประกอบการพูด มีจำนวนมากมาย แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกใช้สื่อใดในการประกอบการพูด ให้มีความเหมาะสมกับผู้ฟัง โดยพิจารณาถึงวัย เพศ อายุ อาชีพของผู้ฟัง และคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น สถานที่เหมาะสมกับสื่อนั้นๆหรือไม่  เป็นต้น

การออกเสียงและการพัฒนาพลังเสียงในการพูด


การออกเสียงและการพัฒนาพลังเสียงในการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                เสียงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการพูด การเป็นนักพูดไม่จำเป็นจะต้องมีเสียงที่ก้อง กังวาน หวานเหมือนกับเสียงของนักร้อง แต่การใช้เสียงในการพูด ผู้พูดควรเปล่งเสียงออกไปด้วยความมั่นใจ มีพลัง มีชีวิตชีวา อีกทั้งการใช้เสียงที่ดีจะสามารถตรึงผู้ฟังให้ตั้งใจฟังผู้พูดได้
                การใช้เสียงในการพูดต่อหน้าที่ชุมชนที่ดี ควรมีลักษณะดังนี้
                1.มีความชัดเจนและมีความถูกต้อง สามารถสื่อสารให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจที่ตรงกันได้
                2.ไม่พูดเร็วหรือช้าจนเกินไป การพูดเร็วจะทำให้ผู้ฟังฟังไม่ทัน แต่การพูดช้าจนเกินไปก็จะทำให้ผู้ฟังเกิดอาการเบื่อหน่าย ไม่เกิดความกระตือรือร้นในการฟัง
                3.เสียงดังหรือเสียงเบาจนเกินไป การพูดเสียงดังตลอดเวลาในขณะที่พูดจะทำให้ผู้ฟังเกิดความเครียด รู้สึกเหนื่อย ไม่อยากที่จะฟัง และการพูดเสียงเบาจนเกินไป ก็จะทำให้ผู้ฟังคุยกันและไม่สนใจในเรื่องที่ผู้พูดพูด
                4.ไม่พูดเสียงต่ำหรือเสียงสูงตลอดเวลา การพูดเสียงต่ำจะทำให้พูดฟังเกิดอาการง่วงนอน แต่การพูดเสียงสูงตลอดเวลา ก็จะทำให้ผู้ฟังเกิดความรำคาญขึ้นมาได้
                5.ไม่พูดเหมือนกับการอ่านหนังสือ เพราะจะทำให้ขาดรสชาติในการฟัง ฟังแล้วไม่เป็นธรรมชาติ
                6.ไม่พูดเสียงราบเรียบระดับเดียวกันตลอดการพูด เพราะจะทำให้ผู้ฟังขาดความสนใจในเรื่องที่ผู้พูดพูด
                7.ไม่ควรใช้คำฟุ่มเฟือยมากจนเกินไป เช่นคำว่า นะครับ นะค่ะ ครับ ค่ะ เอ้อ อ้า จนทำให้ผู้ฟังเกิดความรำคาญในการฟัง
                แต่การออกเสียงและพัฒนาพลังเสียงที่ดีในการพูด ผู้พูดควรพูดออกมาด้วยความรู้สึกที่จริงใจ  เสียงดัง ฟังชัด มีความกระตือรือร้นในการพูด เสียงไม่ควรจะราบเรียบระดับเดียวกันตลอดการพูด ควรมีเสียงดังบ้าง เบาบ้าง เสียงสูงบ้าง เสียงต่ำบ้าง เสียงแหลมบ้าง เสียงทุ้มบ้าง พูดเร็วบ้าง พูดช้าบ้าง ให้มีความเป็นธรรมชาติของผู้พูดแต่ละคน แต่ไม่ใช่ใช้เสียงถึงขนาดเป็นการดัดเสียงให้เหมือนกับนักพากย์หนัง  อีกทั้งไม่ควรท่องจำหรือใช้วิธีพูดเหมือนกับการอ่านหนังสือ
                สำหรับวิธีการปรับปรุงและพัฒนาพลังเสียงในการพูด
                1.ควรหัดอ่านหนังสือ โดยการอ่านออกเสียง เพื่อทำให้เกิดการพูดหรือการออกเสียงเกิดความคล่องยิ่งขึ้น และถ้ามีบทสนทนาผู้ฝึกก็ควรหัดออกเสียง เหมือนกับมีบุคคลสองคนหรือสามคนสนทนากัน
                2.ควรซ้อมพูดบ่อยๆ หากไม่มีเวที ก็ควรฝึกฝนด้วยตนเอง นักพูดในอดีตซ้อมการพูดในขณะเดินทางโดยการซ้อมพูดในขณะที่อยู่บนหลังม้า บางท่านก็ซ้อมพูดด้วยการออกเสียงดัง ในขณะทำสวน บางคนฝึกหัดซ้อมการพูด การใช้เสียงในขณะเดินอยู่ที่ริมทะเล เป็นต้น
                3.ควรมีอุปกรณ์ช่วย เช่น ควรหาเครื่องบันทึกเสียง เครื่องบันทึกภาพยนตร์ บันทึกในขณะที่เราพูด เพราะจะทำให้เราสามารถตรวจสอบและแก้ไขปรับปรุงการใช้เสียงของเราให้ดีขึ้น 
                โดยสรุป การออกเสียงและการพัฒนาพลังเสียงในการพูดเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการพูดต่อหน้าที่ชุมชน การใช้เสียงจะทำให้การพูดน่าฟัง การพูดน่าเชื่อถือ การพูดมีรสชาติ อีกทั้งผู้ฟังเกิดความสนใจและสามารถตรึงอารมณ์ของผู้ฟังได้อีกด้วย
                

การสร้างความมั่นใจและลดความประหม่าในการพูด


การสร้างความมั่นใจและลดความประหม่าในการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
            ความมั่นใจมีความสัมพันธ์กับอาการประหม่าเป็นอย่างยิ่ง  เพราะเมื่อผู้พูดขาดความมั่นใจ ผู้พูดก็จะแสดงอาการประหม่าออกมา แต่ตรงกันข้าม ถ้าหากผู้พูดมีความเชื่อมั่นหรือมั่นใจในตนเอง อาการประหม่าก็มักจะไม่ปรากฏออกมาให้เห็น
                อาการประหม่าในการพูดต่อหน้าที่ชุมชนมักจะแสดงออกมาให้ปรากฏแก่ผู้ฟัง ซึ่งมีอาการดังนี้ บางคนปากสั่น มือสั่น หน้าซีด บางคนไม่กล้าสบตากับผู้ฟัง บางคนพูดและใช้คำพูดออกมาอย่างไม่เป็นธรรมชาติ  พูดผิดๆ ถูกๆ ฯลฯ
                สาเหตุของอาการประหม่านอกจากสาเหตุของการขาดความมั่นใจแล้วยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น
1.ผู้พูดหลายๆท่าน มักคิดมากจนเกินไป หลายคนมักจะคิดมาก คิดวิตก คิดกังวล ในระหว่างการพูด กลัวสิ่งต่างๆ เช่น กลัวว่าผู้ฟังจะมีความรู้มากกว่าตนเอง , กลัวว่าการพูดของตนเองจะออกมาไม่ดีพอ , กลัวว่าเสียงของตนเองไม่ไพเราะ เป็นต้น
2.ขาดการเตรียมตัวที่ดี กล่าวคือ ไม่มีการเตรียมคำพูด , เตรียมเนื้อหา หรือ มีการซ้อมพูด ก่อนขึ้นพูดจริงๆ จึงทำให้การพูดในครั้งนั้นๆ ติดๆ ขัดๆ
3.ไม่มีการวิเคราะห์ผู้ฟัง  เช่น ไม่ได้สอบถามผู้จัดว่า  จะต้องพูดเรื่องดังกล่าวให้แก่ใคร เด็กหรือผู้ใหญ่ อาชีพอะไร ผู้หญิงหรือผู้ชาย  เป็นผู้บริหารหรือเป็นพนักงาน  จึงทำให้ไม่มีการเตรียมตัว เตรียมเนื้อหา ไห้ตรงกับกลุ่มผู้ฟัง
                สำหรับการสร้างความมั่นใจในตนเองและลดอาการประหม่าในการพูดของผู้พูด สามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น
1.การพูดให้กำลังใจตนเองก่อนขึ้นพูด “ เรื่องนี้ หัวข้อนี้ ฉันรู้ดีที่สุด ” , “ การพูดครั้งนี้ใครเต็มที่ไม่เต็มที่ไม่รู้แต่ฉันเต็มที่ไว้ก่อน”  คำพูดประโยคเหล่านี้ ผู้พูดควรคิดและค้นหาเอาเอง เนื่องจากแต่ละบุคคลมีความชอบไม่เหมือนกัน
2. ต้องมีการเตรียมการพูดเป็นอย่างดี ซึ่งรวมถึง การเตรียมเนื้อหา(จะขึ้นต้นอย่างไร เนื้อหาอย่างไร สรุปจบอย่างไร) ตลอดจนกระทั่ง การเตรียมร่างกาย การเตรียมสภาพจิตใจ การพักผ่อนเป็นอย่างดี ก่อนวันที่จะขึ้นพูด
3.การใช้จินตนาการหรือการวาดภาพของการพูดที่ประสบความสำเร็จบนเวทีพูดของตนเอง บางคนใช้จินตนาการว่ามีคนฟังการพูดของตนเองเป็นหลายพันคน หลายหมื่นคน มีคนปรบมือให้กำลังใจมากมาย ฯลฯ
4.ก่อนจะขึ้นเวทีพูด ควรมาก่อนเวลาสักเล็กน้อย แล้วทำความรู้จัก ทำการทักทาย สร้างความเป็นกันเองระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ก็จะทำให้เกิดมิตรภาพและลดความตื่นเต้นลงไปได้บ้าง
5.ปรับความคิดหรือปรับทัศนคติเสียใหม่ คิดว่าความประหม่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่ นักพูดหรือผู้พูดทุกๆคนจะต้องมี แต่ใครจะมีมากมีน้อยเท่านั้นเอง อีกทั้งไม่ควรคิดมากจนเกินไป ในเวลาพูด แต่ควรทำหน้าที่หรือพูดให้ดีที่สุด ไม่ต้องไปคิดกังวลใดๆ ไม่ต้องไปคิดแทนผู้ฟังว่าผู้ฟังจะคิดกับเราอย่างไร จงเตรียมการพูดให้พร้อมแล้วจงลุกขึ้นพูดให้ดีที่สุด
6.ต้องหมั่นหาประสบการณ์ในการพูดทุกๆเวทีให้มาก ข้อนี้ น่าจะเป็นข้อที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะถ้าหากผู้พูดมีเวทีมาก ก็จะทำให้เกิดทักษะในการพูด เมื่อเกิดทักษะ ความมั่นใจก็จะมากขึ้น ความประหม่าในการพูดก็จะลดลง
                โดยสรุป อาจกล่าวได้ว่า ผู้พูดที่มีความมั่นใจในตนเองมักพูดได้ดีกว่าผู้ที่ขาดความมั่นใจในตนเอง ถึงแม้ว่า ผู้พูดหลายๆคน จะมีการศึกษาถึงระดับปริญญาเอกก็ตามแต่ถ้าขาดซึ่งความมั่นใจในตนเองเสียแล้ว ทำให้เกิดอาการประหม่า  พูดไม่เป็นธรรมชาติ ไม่กล้าขึ้นพูด ย่อมสู้ผู้พูดที่จบระดับการศึกษาแค่ระดับประถมหรือมัธยมไม่ได้ ถ้าหากผู้พูดจบระดับประถมหรือมัธยม แต่บุคคลนั้นสามารถพูดด้วยความมั่นใจในตนเอง ผู้ฟังก็มักจะเกิดความเชื่อถือ ศรัทธา อีกทั้งทำให้การพูดมีความน่าฟังอีกด้วย