วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วัตถุดิบสำหรับการพูด


วัตถุดิบสำหรับการพูด

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์


                ข้อมูลวัตถุดิบที่ใช้สำหรับการพูดมีความสำคัญมาก ต่อการเป็นนักพูดหรือผู้ที่ต้องการพูดให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งข้อมูลวัตถุดิบที่ใช้ประกอบการพูดได้แก่  ตัวเลขสถิติ  นิทาน เรื่องจริง  เรื่องตลกๆ ตัวอย่าง คำกลอน คำคม ทฤษฏี สุภาษิต หลักการฯลฯ

                การมีข้อมูลมากๆ จะทำให้เราสามารถเลือกใช้คำพูดข้อมูลวัตถุดิบ ให้ตรงกับหัวข้อเรื่องและกลุ่มผู้ฟังได้อย่างเหมาะสม อีกทั้ง ถ้าหากผู้ใดสะสมข้อมูลวัตถุดิบในการพูดเป็นจำนวนมาก ก็มักจะไม่ต้องไปเสียเวลาในการค้นหาข้อมูล ถ้าหากมีคนเชิญไปพูดในหัวข้อที่เรามีข้อมูลอยู่ เราก็สามารถพูดได้โดยใช้เวลาเตรียมตัวน้อยลง

                หากท่านต้องการเป็นนักพูดหรือผู้ที่ประสบความสำเร็จในการพูด ท่านจึงต้องเป็นนักอ่านและนักฟัง อ่านและฟัง เพื่อที่จะจดบันทึก หากพบเห็นเนื้อหาที่ดีๆ ท่านก็สามารถตัดเก็บเนื้อหาต่างๆได้จากหนังสือพิมพ์ วารสารหรือถ่ายเอกสาร เพื่อสะสมเป็นคลังข้อมูลของท่านได้

                การพูดไปเรื่อยๆ กับการพูดโดยมีการเตรียมตัวจากวัตถุดิบที่มี ผู้ฟังหลายคนจะรู้ เพราะการพูดไปเรื่อยๆ กับการพูดโดยมีการอ้างอิงข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นพูดจนจบการพูด จะทำให้เห็นความแตกต่างกันทั้งเรื่องของความน่าเชื่อถือ สาระ ความเพลิดเพลินในการชวนให้ติดตามฟัง ฯลฯ

                เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นกระผมขอยกตัวอย่างของการสะสมข้อมูลวัตถุดิบโดยมีการแบ่งเป็นประเภทต่างๆได้ดังนี้

                1.คำคม เช่น คำคมเกี่ยวกับการพูด , คำคมเกี่ยวกับความรัก , คำคมเกี่ยวกับชีวิต , คำคมเกี่ยวกับความกล้า เป็นต้น

                2.คำกลอน เช่น คำกลอนเกี่ยวกับพระคุณของพ่อแม่ , คำกลอนเกี่ยวกับการสอนทางศาสนา , คำกลอนเกี่ยวการท่องเที่ยว , คำกลอนสอนใจ เป็นต้น

                3.นิทาน เช่น นิทานของศาสนาต่างๆ , นิทานเกี่ยวกับงานขาย , นิทานที่ให้แง่คิดเกี่ยวกับความสำเร็จ , นิทานตลกๆ เป็นต้น

                4.ตัวเลข สถิติ เช่น ตัวเลขของประชากรในปัจจุบัน , ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ , ตัวเลขเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น

                5.ทฤษฏี เช่น ทฤษฏีทางการตลาด , ทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์ , ทฤษฏีที่เกิดขึ้นใหม่ๆในปัจจุบัน เป็นต้น

                6.เรื่องจริง เช่น ประวัติของบุคคลสำคัญๆหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในหลายๆวงการ วงการธุรกิจ วงการศาสนา วงการการเมือง วงการวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

                7.เรื่องตลกหรือมุขตลก เช่น มุขตลกที่เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ การพูด , การขาย , การทำงาน , การสื่อสาร, การคิด เป็นต้น

                8.เพลงต่างๆ นักพูดอาจจะไม่ต้องร้องเพลงจนจบหรือร้องเพลงเก่ง แต่นักพูดท่านใด สามารถนำเอาเนื้อหาของเพลงที่มีความหมายและถูกใจมาประกอบการพูดก็จะทำให้การพูดน่าฟังและคนชื่นชอบมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เพลงละคร , เพลงสมัยปัจจุบัน , เพลงที่ดังๆในอดีต , เพลงสากล เป็นต้น

                ดังจะสังเกตได้ว่า ข้อมูลวัตถุดิบในโลกนี้มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ก็สามารถเลือกใช้ได้ จึงอาจสรุปได้ว่า นักพูดท่านใดมีข้อมูลวัตถุดิบที่สะสมไว้มากๆ ก็จะทำให้เป็นการง่ายและสะดวกในการเลือกใช้ และถ้าหากนักพูดท่านใดสามารถเลือกใช้ได้อย่างถูกต้อง ตามสถานการณ์  เลือกใช้ให้เหมาะสมกับ สถานที่ วัยของผู้ฟัง จำนวนของผู้ฟัง อาชีพของผู้ฟัง ก็จะยิ่งทำให้การพูดนั้นประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การพูดเพื่องานประชาสัมพันธ์


การพูดเพื่องานประชาสัมพันธ์
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                การพูดเพื่อประชาสัมพันธ์ คือ การใช้ปากหรือคำพูดเพื่อให้ผู้ฟังเกิดภาพพจน์ที่ดี เกิดความเลื่อมใส ศรัทธา ต่อหน่วยงาน ต่อองค์กร อีกทั้งเป็นการพูดเพื่อแก้ภาพลักษณ์ในกรณีที่ผู้ฟังมีความเข้าใจที่ผิดให้กลับกลายเป็นมีความเข้าใจตามความเป็นจริงมากขึ้น
                การใช้ปากหรือคำพูดของนักประชาสัมพันธ์ควรระวังหรือไม่ควรนำไปใช้ คือ ปากร้าย ปากเสีย ปากบอน ปากสกปรก ปากพล่อย ปากมาก ปากอยู่ไม่สุข ปากมอม ปากเหม็น ฯลฯ
                คนที่จะพูดเพื่องานประชาสัมพันธ์ได้ดี  จึงไม่ใช่คนที่พูดเก่ง พูดมาก แล้วจะประสบความสำเร็จในการพูดเพื่อการประชาสัมพันธ์ แต่ คนที่จะเป็นนักพูดประชาสัมพันธ์ที่ดี ต้องเป็นคนที่พูดเป็น รู้จักใช้คำพูด มีความระมัดระวัง มีสติในการพูด พูดในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าในทางทำลาย
                สำหรับคุณสมบัติของนักพูดเพื่อการประชาสัมพันธ์ที่พึงมีคือ
                1.มีความรอบรู้ มีข้อมูลในการพูด โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรหรือหน่วยงาน เพราะหากไม่มีข้อมูลหรือพูดข้อมูลในทางที่ผิดๆ ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์กรหรือหน่วยงานได้
                2.มีความสามารถในการใช้คำพูดได้เป็นอย่างดี การพูดในการประชาสัมพันธ์มีหลายลักษณะเช่น การเป็นพิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการ , การให้สัมภาษณ์ , การพูดเพื่อจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ , การพูดต่อหน้าที่ชุมชนฯลฯ ฉะนั้นคนที่มีความสามารถในการใช้คำพูดจึงได้เปรียบกว่าคนที่ไม่มีความสามารถในการใช้คำพูด
                3.มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี การทำงานด้านประชาสัมพันธ์ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับหลายๆฝ่าย ทั้งคนภายในองค์กรและนอกองค์กร บุคคลที่เป็นนักพูดเพื่อการประชาสัมพันธ์จึงต้องเป็นคนมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีจึงจะพูดแล้วคนชอบ พูดแล้วคนเกิดความร่วมมือ พูดแล้วคนให้ความช่วยเหลือ
                4.มีการใช้คำพูดอย่างตรงไปตรงมา ไม่หลอกลวงหรือเอาความเท็จมาพูดหรือการพูดสร้างภาพเกินความเป็นจริง แต่เป็นการพูดเพื่อนำข้อมูลข้อเท็จจริงในสิ่งที่ดีๆ นำมาเสนอและขยายผลหรือนำมาบอกกล่าวให้แก่บุคคลต่างๆได้รับรู้
                5.มีไหวพริบ สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี เพราะสถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อองค์กรมีปัญหา เช่น  เป็นข่าวหน้า 1 หรือถูกสื่อมวลชนโจมตี เราต้องสามารถตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาบางอย่างด้วยความรวดเร็ว
                ทักษะในการพูดเพื่อการประชาสัมพันธ์   นักพูดเพื่อการประชาสัมพันธ์ควรมีทักษะหรือประสบการณ์บ้างเพื่อใช้ในการพูด เช่น
-                    รู้จักวิเคราะห์ผู้ฟัง เพราะผู้ฟังที่มี อายุ วัย เพศ  ประสบการณ์ อาชีพ ที่แตกต่างกันมักจะต้องใช้คำพูดที่แตกต่างกันออกไป
-                    รู้จักวัตถุประสงค์ของการพูด เช่น การพูดในครั้งนั้นๆ ตัวของเราเอง องค์กร หน่วยงานต้องการอะไร (ต้องการให้ข้อมูล ต้องการจูงใจให้เกิดความร่วมมือของมวลชน ต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ)
-                    รู้จักใช้เครื่องมือต่างๆ เช่นใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการทำงาน เพราะเทคโนโลยีทำให้เกิดความรวดเร็ว สะดวกสบายในการทำงาน ต้องรู้จักและเรียนรู้อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆที่ใช้ในการพูด
-                    รู้จักมารยาท วัฒนธรรม ของคนในพื้นที่ เพื่อที่จะได้ไม่พูดให้ก่อความเสียหายได้
ฉะนั้น การพูดเพื่องานประชาสัมพันธ์ เป็นการพูดอีกแขนงหนึ่ง ที่ผู้ต้องการเป็นนักประชาสัมพันธ์ คนที่ต้องการความก้าวหน้าในอาชีพประชาสัมพันธ์จะต้องทำการศึกษา เรียนรู้ พัฒนาตนเองอยู่ตลอเวลา